น.2รายงาน : ‘หม่อมเต่า’ดันแรงงานไทย สู่มาตรฐาน‘โออีซีดี’ มั่นใจรบ.ปริ่มน้ำอยู่ยาว

หมายเหตุ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ “หม่อมเต่า” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ “มติชน” หลังเข้าไปนั่งบริหารงานในกระทรวงแรงงานครบ 1 เดือน

เมื่อเข้ามาแล้วก็ดี ทีแรกนึกเหมือนกับคนอื่นๆ ว่ากระทรวงแรงงาน จะดูแลแรงงาน ดูแลโรงงาน เพียง 10 ล้านคน ก่อนเข้ามาก็คิดว่าเป็นแบบนั้น แต่จริงๆ แล้ว กระทรวงนี้ดูแลคนตั้ง 40 ล้านคน ทั้งแรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ ถือว่าเป็นกระทรวงที่ใหญ่มาก

แต่ผมไม่ได้อยากเข้ามาเพราะความใหญ่ แต่อยากเข้ามาช่วยคนให้ได้มากที่สุด มาอยู่กระทรวงนี้ สามารถช่วยคนได้ตั้ง 40 ล้านคน ที่ในช่วงหนึ่งของชีวิต ทั้งการเข้าสู่วัยแรงงาน สวัสดิการสังคม ความยุติธรรม ผมเห็นภาพเกี่ยวกับแรงงานเป็นอันดับต้นๆ มีแรงงานหลากหลายอยู่ในหลายภาพส่วน แต่วันนี้เรามีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยบริหารจัดการข้อมูลที่กระจัดกระจายเข้ามาอยู่รวมกัน แบ่งเป็นหมวดหมู่ เพียงแต่จะต้องเขียนโปรแกรมให้ตอบโจทย์ คิดว่าจะทำให้ได้ในสมัยของผม

แนวทางเหล่านี้ ข้าราชการในกระทรวงทำมาหมดแล้ว แต่ของเดิมเป็นระบบกระดาษมากกว่า ต่อไปผมจะให้เขียนโปรแกรมใหม่เพิ่มเติม จะได้รู้ว่าแรงงานมีจำนวนเท่าไร ใครอยู่ที่ไหน ทำอะไร กับสถานประกอบการไหน และมีปัญหาอะไร และเมื่อมีการใช้ระบบนี้แล้ว ต่อไปจะต้องรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน รับทราบทุกสัปดาห์ด้วย

Advertisement

หลังจากนี้ไป คนสมัครงาน 1 คน จะต้องรู้ว่า เมื่อใส่ข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน ภายใน 25 นาที จะต้องเสร็จสิ้นกระบวนการทุกขั้นตอน ถ้าใน 1 เดือน รู้ว่ามีคนเข้ามาในระบบกี่คน ก็ต้องรู้ด้วยว่าแล้วที่เสร็จสมบูรณ์แล้วมีกี่คน ต่อไปจะใช้ข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ และประเมินผล จะรู้ว่าคนนั้นมีใครเป็นนายจ้าง จะตอบได้ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ

จะเป็นการบริหารข้อมูลผ่านระบบ ผมบอกข้าราชการแล้วว่า ผมไปที่ไหนค่อนข้างทำสำเร็จ เพราะผมไม่ได้ไปจับผิดใคร แต่พยายามจะหาวิธีทำให้ราบรื่น ถูกต้อง แต่หากพยายามแล้ว ทำไม่ได้ ก็คือทำไม่ได้ ผมไม่อ่านรายงานในกระดาษ ถ้าไม่จำเป็น เพราะทุกวันนี้โลกสรุปได้เพียง 2-3 บรรทัด เพราะมีคอมพิวเตอร์ทำได้ทั้งหมด

ผมจะให้เขียนโปรแกรมให้ตอบคำถามเชิงนักบริหาร จะบริหารกระทรวงแรงงานด้วยคอมพิวเตอร์ เมื่อเป็นคอมพิวเตอร์ปัญหาต่างๆ ก็ตอบได้ทั้งหมด ทุกวันนี้ข้าราชการก็ใช้คอมพิวเตอร์อยู่แล้ว แต่เราจะทำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และจะบริหารงานแบบ Workforce Transformation กำลังหาคำภาษาไทยมาใช้แทนคำนี้

Advertisement

ส่วนทิศทางของแรงงานในประเทศไทยนั้น วันนี้ ประเทศไทยเจริญมาถึงระดับหนึ่งแล้ว แต่จะเจริญไปแบบนี้เรื่อยๆ ไม่ได้ เพราะยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมาก ถามว่าอีก 20-30 ปีข้างหน้า เราจะเดินไปทางไหน จึงอยากชวนคิดว่า ถ้าเราเป็นแรงงานมาตรฐานโออีซีดี (OECD) หรือองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development-OECD) ประเทศไทยจะหน้าตาเป็นอย่างไร

ผมเชื่อว่าโลกในอีก 20-30 ปีข้างหน้า จะเปลี่ยน ไม่เป็นประเทศที่เจริญแต่ขาดแคลนแรงงาน แล้วนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยในงานต่ำๆ อีก 20-30 ปี ประเทศที่เจริญแล้วจะเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ส่วนน้อย แต่ประเทศที่เจริญแล้วจะทำทุกอย่างไม่ได้ การแลกเปลี่ยนสินค้ากันก็มีความเสี่ยง หากบังเอิญมีปัญหาทะเลาะกัน อาจมีการถูกกีดกันทางภาษี จึงคิดว่าในอีก 20-30 ปี จะเป็นการแลกเปลี่ยนกำลังแรงงานกันมากกว่า

สมมุติว่าประเทศไทยทำงานช่างเก่ง แต่อีกประเทศขาดคนด้านนี้ ก็จะมีการส่งคนไปช่วย ขณะที่หากเราขาดแรงงานด้านใด เขามี เขาก็จะส่งให้เรา เป็นการแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งการเป็นโออีซีดีนั้น คาดว่าประเทศไทยจะเป็นในอีก 20 ปี

วันนี้ประเทศใกล้บ้านที่เป็นโออีซีดีแล้วมี 5-10 ประเทศ หน้าตาอุตสาหกรรมเขาเป็นอย่างไร แต่บางประเทศยังมีข้อจำกัดเช่นพื้นที่เกษตรกรรมอยู่ติดทะเล บางพื้นที่เป็นทางผ่าน เป็นต้น

เมื่อมาคิดว่าประเทศไทยจะเป็นโออีซีดี หน้าตาอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไร เราจะเป็นอย่างเดิมหรือไม่ ที่แรงงาน 10 ล้านคน อยู่กับกระทรวงอีก 20 ล้านคน เป็นเกษตรกร และอีก 10 ล้านคน อยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ ไม่มีประเทศไหนพอเป็นโออีซีดีแล้ว จะมีเกษตรกรมาก ยกเว้น อาร์เจนตินา เพราะมีพื้นที่กว้าง

ดังนั้น ประเทศไทยก็ต้องคิดว่าจะเป็นอย่างไร แรงงานวันนั้นจะมีโครงสร้างอย่างไร จากวันนี้ไปวันนั้น เราจะไปกันอย่างไร ถามผมวันนี้ ตอบได้เลยว่า ไม่น่าจะต่างมาก เพราะโครงการอีอีซีหรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในช่วง 5 ปี นับจากนี้จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เหมือนโออีซีดี เพราะมีฐานอุตสาหกรรมใหญ่ มีแรงงานจำนวนมาก

ผมคิดว่าประเทศไทยเดินมาถูกทางแล้ว แต่วันนี้กระทรวงแรงงานยังผลิตคนป้อนเข้าอีอีซีได้น้อย เพราะกระทรวงแรงงานไม่มีหน้าที่ผลิตคน แต่ที่ผ่านมาต้องทำ เพราะไม่มีหน่วยงานใดดูแลหรือฝึกให้ เปรียบเหมือนในอดีตที่ต้องมีโรงเรียนวัด สอนให้คนอ่านออก เขียนได้ แต่ไม่ได้แปลว่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องในเวลานี้

ผมคิดว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมีอีอีซีเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ จะมีเพียงที่นี่ที่เดียว และทำระบบการคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟ ถนน มอเตอร์เวย์ ให้ดีเพื่อป้อนวัตถุดิบและคนเข้าไปในอีอีซี ผมตรวจสอบแล้วรถไฟฟ้าความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขนส่งสินค้าได้

อีกเรื่องที่พูดมาเป็นร้อยปี ทำอย่างไรจะเข้าถึงมหาสมุทรอินเดียได้ เพราะไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศอีกประเทศคือ มาเลเซีย ที่มีชายทะเลติดมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย

มหาสมุทรอินเดียวันนี้ ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจ เพราะประเทศในแถบมหาสมุทรอินเดียส่วนใหญ่ไม่เจริญ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เจริญไปแบบนี้เรื่อยๆ เพราะหลายประเทศได้รับความช่วยเหลือจากจีน และเกาหลีใต้ ถ้าวันหนึ่งแถบนี้เจริญขึ้นมา เรือขนาด 20,000 ตันกรอส ก็น่าจะออกจากฝั่งทะเลอันดามันไปยังจุดนั้นได้ ส่วนการขนส่งภายในประเทศก็ใช้วิธีขนส่งทางรถไฟ หรือไปตั้งโรงงานที่ฝั่งอันดามัน

ผมลองคำนวณคร่าวๆ ประเทศไทยใช้น้ำมันวันละ 8 แสนบาร์เรล เกือบทั้งหมดมาจากตะวันออกกลาง ลองคิดว่าถ้าขนน้ำมันผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งขณะนี้เรือเต็มพิกัด 78,014 ลำ และเพิ่มไม่ได้ หรืออ้อมไปช่องแคบซุนดา แล้วเข้ามาที่อีอีซี ต้องใช้เงินค่าขนส่ง 180,000 ล้านเหรียญต่อปี แต่ถ้ามาลงที่ จ.ระนอง และต่อท่อไปยังทะเลอีกฝั่ง ระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร คาดว่าใช้เงิน 2.28 แสนล้านเหรียญ ซึ่งแพงมาก ถามว่าทำไมไม่ขนส่งทางทะเล เรื่องนี้ยากมาก แต่แม้จะยาก เราก็ต้องหาวิธีใช้มหาสมุทรอินเดียให้ได้ น่าจะต้องดูไปอีก 10 ปี อย่างไรก็ดี วันนี้การที่เรากำลังจะมีระบบรถไฟเข้าสู่อีอีซีถือว่าตอบโจทย์แล้ว ส่วนอย่างอื่นก็ต้องหากันต่อไป

วันนี้คนไม่ค่อยเข้าใจว่า เวลาที่โครงการขนาดใหญ่ที่ลงทุนกันหลักหมื่นแสนล้านบาท การลงทุนในระยะแรกช่วง 5 ปี แทบไม่เห็นผลใดๆ แม้แต่บาทเดียว มีแต่รายจ่าย โดยเฉพาะค่าเงินเดือนคนงาน มีแต่เงินกู้ แต่ใครเป็นรัฐบาลในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะโชคดี นอนกระดิกเท้าได้ เพราะโครงการที่ริเริ่มไว้จะเริ่มเดินหน้า

วันนี้แนวทางพัฒนาแรงงานจึงมุ่งไปที่อีอีซี แต่ผมพยายามบอกว่าไม่ใช่ไปตายเอาดาบหน้านะ จะต้องมีการฝึกอบรมคนให้ทำงานได้ และป้อนเข้าไปในส่วนต่างๆ ของอีอีซี ขณะนี้เรามีศูนย์ฝึกประมาณ 20 แห่งทั่วประเทศ และอีก 3 แห่งในอีอีซี ทุกแห่งจะต้องฝึกอบรมคนให้เหมือนๆ กัน 72 จังหวัด ต้องฝึกแบบเดียวกัน เพราะอีอีซีต้องการคนเข้าไปทำงานประมาณ 1.6 ล้านคน ภายใน 5 ปี

ดังนั้น คนที่ผ่านการอบรมก็สามารถสมัครเข้าไปทำงานในอีอีซีได้ ไม่ว่าจะสมัครผ่านหน่วยงานของกระทรวงแรงงาน หรือสมัครกับสถานประกอบการโดยตรง

นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดให้เยาวชนได้เข้าไปฝึกงานหรือทดลองงาน ขณะนี้ในอีอีซีมีสถานที่ฝึก 24 แห่ง และสถาบันการศึกษาก็มีแพคเกจฝึกงานก่อนที่นักศึกษาจะเรียนจบ โดยฝึกแล้วทำเป็นเครดิตไว้ เมื่อเด็กจบการศึกษาเข้าสู่เส้นทางอาชีพได้โดยดูจากประวัติการฝึกงานเช่นกัน ซึ่งมีแนวคิดว่าอาจจะใช้ต้นแบบของเยอรมนี เพราะมีรูปแบบที่น่าสนใจ

สำหรับการจัดการแรงงานต่างด้าวนั้น วันนี้ยังเป็นแรงงานไร้ฝีมือที่ต้องมาอย่างถูกต้อง ระบบนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ เพราะเป็นงานที่คนไทยไม่ทำ แต่ในอนาคตอาจจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่ คนต่างด้าวอาจจะเป็นพวกมีทักษะสูง หรือเชี่ยวชาญเฉพาะมาทำงาน

เพราะวันนี้ไม่คุ้มแล้วที่จะฝึกคนให้เก่งด้านใดด้านหนึ่ง เพราะหากวันใดงานสาขาที่ผลิตไว้ต้องตายไป เราก็จะมีแต่แรงงานเหล่านี้ ดังนั้น เราต้องประเมินว่าเวลานี้เราต้องการแรงงานด้านใด และในที่สุด 20-30 ปี ก็จะเข้าสู่การแลกเปลี่ยนกำลังแรงงาน เพราะเป็นงานคนละชนิดกัน เหมือนคนไทยที่ไปทำงานสิงคโปร์ จริงๆ กรอบการทำงานของกระทรวงแรงงานเดิมนั้นก็ดีอยู่แล้ว แต่ต้องถามว่าอีก 10-20 ปี อยากจะเห็นอะไร ก็เดินหน้าไปให้ถูกทาง

วันนี้เข้ามาที่กระทรวงแรงงาน พร้อมทีมงานฝ่ายการเมืองรวม 4 คน แต่หลังจากนี้อาจจะมีคณะทำงานเพิ่มเติม เพราะกระทรวงแรงงานยังขาดบุคลากรกลุ่มทักษะวางแผน ผมต้องการให้ทุกกรมแชร์ข้อมูลกันผ่านระบบคอมพิวเตอร์ แต่จะต้องอาศัยบุคลากรจากภายนอกทำงานเพื่อให้สำเร็จและไม่ถูกเพื่อนร่วมงานต่อต้าน

นอกจากนี้ ผมจะเพิ่มตำแหน่งระดับบริหารระดับ 10 ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักสถิติ เพราะจากการศึกษาโครงสร้างในกระทรวง พบว่าวันนี้นักเรียนทุน 50 คน เป็นสายช่าง 40 คน เวลานี้สายสูงสุดของสำนักนโยบายเป็นเพียงระดับ 9 แต่ขึ้น 10 ไม่ได้ เพราะไม่มีตำแหน่งระดับ 10 ดังนั้นต้องแก้จุดนี้ สายนโยบายของกระทรวงขึ้นถึงระดับ 10 เท่าที่ทราบเคยมีการขอไว้ แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

ผมไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะอยู่ที่นี่ได้กี่วันกี่เดือน แต่มาแล้ว ก็รู้ว่าง่ายกว่าที่คิดไว้เยอะ และผมคิดว่ารัฐบาลที่ว่าปริ่มๆ น้ำแบบนี้ ส่วนใหญ่จะอยู่ได้นาน เพียงแต่ว่าวันนี้ได้มีการแจกจ่ายกันทั่วถึงหรือไม่ ที่มีปัญหาในขณะนี้ก็เพราะยังแจกกันไม่ทั่วถึง

น.รินี เรืองหนู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image