จังหวะ กลยุทธ์ วาระ ประเด็น การเมือง ฝ่ายใด กำหนด

ทำไมจึงมีคำว่า “เป๋ไป เป๋มา” เมื่อมีการนิยามสภาพและลักษณะของรัฐบาล กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำมาพูดกับเด็ก

พร้อมกับยืนยันในความแข็งแกร่งที่มีอยู่

อาจจะเริ่มจากคำถามของนักข่าว แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ คำถามของนักข่าวในแต่ละสำนักมีรากฐานมาจากอะไร

ตอบได้เลยว่า มาจาก “ชาวบ้าน”

Advertisement

ไม่เพียงเพราะนักข่าวเป็นองค์ประกอบหนึ่งของชาวบ้าน หากที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือนักข่าวเป็นคนในพื้นที่ย่อมสัมผัสได้จากสภาพความเป็นจริง

ความเป็นจริงที่รัฐบาลอยู่ในฐานะ “รับ”

รับจากคะแนน ส.ส. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน จำนวน 251 อาจจะเกินกึ่งหนึ่งแต่การเกินกึ่งหนึ่งมา 1 นี่แหละที่ชวนให้หวาดเสียว

Advertisement

หวาดเสียวหากปรากฏ “ฝ่ายค้านอิสระ”

หากมองจาก 500 เสียงที่ขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน อาจจะรับรู้ในความแข็งแกร่ง

แต่ใน 500 นี้ก็เป็น ส.ว. ถึง 249

ที่เหลือ 251 เป็น ส.ส. จาก 19 พรรคการเมือง และปรากฏการณ์เพียง 1-2 เดือนก็เด่นชัดอย่างยิ่งว่าดำรงอยู่ในลักษณะกระเพื่อม

แพ้การลงมติถึง 2 ครั้ง 2 ครา

ทำให้ไม่เพียงแต่จำเป็นต้องมีการแต่งตั้งกรรมการประสานงานมากถึง 60 กว่า หากจำเป็นที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องลงมาคุมเอง

เหมือนกับเป็นเอกภาพ แต่สะท้อน อ-เอกภาพ

ยืนยันว่าการนำโดย นายอุตตม สาวนายน และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ มีปัญหาในทางการปฏิบัติ ในทางเป็นจริง

2 เดือนปัญหาก็ปูดโปนออกมา

มาตรการที่วัดสถานะของรัฐบาลได้อย่างดีที่สุดขอให้ดูจากแต่ละสถานการณ์ที่กลายเป็นประเด็นนำไปสู่อุณหภูมิอะไรในทางสังคม

อย่างเช่น “ถวายสัตย์ปฏิญาณ” เป็นอย่างไร

อย่างเช่นการเตรียมเทงบประมาณเกือบ 3 แสนล้านบาทออกมาเพื่อกระตุ้นและรับมือกับสภาวะผันผวนในทางเศรษฐกิจ

นี่เป็นการรุกอย่างเด่นชัด

คำถามอยู่ที่ว่าได้รับเสียงชโยโห่ร้อง เกิดความหวังอย่างเต็มเปี่ยมในทางสังคมหรือไม่ หรือว่าทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม

เหมือนกับ 5 ปีไม่มีความหมาย

เพียง 2 เดือนรัฐบาลก็ประสบกับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปอันเนื่องแต่กระบวนการและความผิดพลาดจากตัวของรัฐบาลเองซะแล้ว

ก็พอจะมองออกว่า 3 เดือนจะเป็นเช่นใด

โดยธรรมชาติทางการเมืองชัยชนะจากการเลือกตั้ง ชัยชนะจากการจัดตั้งรัฐบาล การดำเนินแต่ละนโยบาย น่าจะทำให้รัฐบาลอยู่ในสภาพเป็นฝ่ายกระทำ

เป็นฝ่ายกำหนด “เกม”

คำถามก็คือ จากกรณี “ถวายสัตย์ปฏิญาณตน” กระทั่ง การแถลงนโยบายของรัฐบาล ใครเป็นคนกำหนดเกม ใครเป็นคนกำหนดวาระ

วาระอันเป็น “พาดหัว” สื่อ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image