เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ชูโมเดลปฏิรูป”กทม.”

หมายเหตุ – ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) และอดีตปลัด กทม. ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงแนวทางในการปฏิรูปกรุงเทพมหานคร ทั้งเรื่องนโยบายและการบริหารงานให้มีความยั่งยืน

แนวทางการปฏิรูป กทม.ที่ควรจะเกิดขึ้น

1.การกระจายอำนาจ กทม.ต้องใจกว้างที่จะกระจายหน้าที่ออกไปจากระบบราชการให้มากขึ้น นั่นคือ กระจายงานให้กับภาคเอกชน ภารกิจในสิ่งที่ควรจะเป็นบทบาทของมืออาชีพต้องกระจายออกไปให้หมด ยกตัวอย่างที่ทำมาแล้วและคิดว่าได้ผล คือ การจัดเก็บขยะมูลฝอย การรักษาความปลอดภัย (รปภ.) สิ่งที่ควรจะทำต่อไป คือ ศูนย์เยาวชน ซึ่งทั่ว กทม.มี 40-50 แห่ง ปัจจุบันยังใช้ข้าราชการและลูกจ้าง เรื่องนี้ควรใช้คนที่มีความเชี่ยวชาญ สมควรผ่องถ่ายให้เอกชน เรื่องการดูแลต้นไม้ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้โดยตรงเข้ามาดูแล แล้ว กทม.มีหน้าที่อะไร ก็ควบคุมดูแล ง่าย สะดวก ได้คนที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจริงๆ หากทำได้จะช่วยลดภาระงานของข้าราชการลงได้มาก ส่วนข้าราชการก็มามุ่งเน้นภารกิจที่ไม่สามารถกระจายให้เอกชนดูแลได้ เช่น พิจารณาระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ บังคับใช้ให้เข้มข้นจริงจัง บริหารงานบุคคลให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง หากจะมีการโยกย้ายหัวหน้าศูนย์เยาวชน กทม.ต้องหาคนที่มีอาวุโสไปนั่ง แต่เขาอาจจะไม่ใช่คนเก่ง ยิ่งถ้าได้คนใกล้เกษียณหรือรอวันขยับไปที่อื่น ยิ่งเป็นปัญหา เพราะเขาไปเพื่อรอเวลา ไม่ได้ไปขับเคลื่อนงาน แต่ถ้าเอกชนเขาต้องทุ่มเทเต็มที่ ถ้าประสิทธิภาพไม่ถึงเขาก็ต้องถูก กทม.ประเมินให้ไม่ผ่าน เลิกจ้าง หรือยกเลิกสัญญา

2.ปรับภารกิจให้เหมาะสมกับเมือง ทุกอย่างต้องเบ็ดเสร็จ ทำให้ชัดเจน เช่น ในต่างประเทศมี “ตำรวจเมือง” ขึ้นอยู่กับท้องถิ่น แต่ของเรายังไม่เปลี่ยนแปลง เคยมีการพูดถึงการโอนตำรวจจราจรมาอยู่กับ กทม. ก็ถูกโต้แย้ง บอกว่าตำรวจจราจรยังต้องเกี่ยวข้องกับงานอาชญากรรม ถ้าไม่มองถึงสิ่งที่ดีกว่า ก็ติดขัดกันอยู่แบบนี้ ต้องให้อำนาจหน้าที่ให้เต็มที่ ถ้าให้ไปแล้วทำไม่ดีก็มีมาตรการลงโทษ

มีแนวทางอย่างไรให้เป้าหมายประสบผลสำเร็จ

Advertisement

เรื่องนี้รัฐบาลต้องลงมานั่งหัวโต๊ะ เพราะต้องอาศัยความร่วมมือกัน หากรัฐบาลไม่ชี้ ไม่เริ่มต้น ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะต่างฝ่ายต่างหวงแหนอำนาจ ไม่มั่นใจ กลัวการเปลี่ยนแปลง ถ้ามองให้เป็นหลักการจะดีกว่า

มีการส่งข้อเสนอไปยังรัฐบาลหรือไม่

เรื่องทั้งหมดต้องเปิดเกมจากฝ่ายบริหาร หากจะให้สภา กทม.ขับเคลื่อน ก็มีหน้าที่อย่างเดียวคือตั้งกระทู้ถาม ขณะนี้สภา กทม.ทำหน้าที่มา 1 ปี 8 เดือน ผู้ว่าฯ กทม.เหลือเวลาในตำแหน่งอีกไม่ถึง 1 ปี จะหมดวาระวันที่ 6 มีนาคม 2560 ช่วงนี้ปีสุดท้ายของผู้ว่าฯ กทม. ได้พูดมาหลายเวทีว่า 4 ปีของผู้ว่าฯ กทม.นั้น ปีแรก คือ ช่วงฮันนีมูน อะไรๆ ก็ดีไปหมด ทุกอย่าเพิ่งเริ่มต้น ปีที่ 2 เริ่มรู้จักคน เริ่มสับสน มีโครงการต่างๆ เพื่อหาคะแนนเสียง ยุ่งกับการแต่งตั้งโยกย้ายเอาคนของตัวเองเข้ามา เป็นเรื่องปกติของคนมีอำนาจ ปีที่ 3 จะยิ่งยุ่ง วุ่นวาย คนเรียกร้องเริ่มทวงถามงาน พอปีที่ 4 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย ไปดูประวัติศาสตร์ได้เลย ผู้ว่าฯ กทม.แต่ละคนลงไม่สวย ถูกดิสเครดิตจากฝ่ายตรงข้าม กลุ่มที่ไม่ได้ผลประโยชน์เริ่มขุดคุ้ย ข้าราชการที่เคยทำงานด้วยเริ่มไม่ให้ความสำคัญ จะสังเกตได้ว่าตอนนี้มีแต่ข่าวในทางเสียหายของ กทม. แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เป็นเรื่องเก่าๆ ที่มีคนหยิบข้อมูลมาป้อน สภา กทม.ก็ต้องตั้งกระทู้ถามในที่ประชุมให้ฝ่ายบริหารชี้แจงข้อเท็จจริง แทนที่งานจะเดินหน้ากลับต้องมาปกป้องแต่เรื่องเก่าๆ

วันนี้สภา กทม.ก็ต้องทบทวนบทบาทของตนเองเหมือนกัน โดยเฉพาะการพิจารณางบประมาณประจำปีของ กทม. โดยงบประมาณประจำปี 2560 จะเริ่มในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และมองว่าช่วงนั้นอาจจะได้งานไม่มาก เพราะเป็นช่วงเริ่มใช้งบประมาณ ดังนั้นต้องพิจารณาให้เข้มข้นกว่าเดิม เช่น อะไรที่เป็นงบประมาณผูกพันอาจจะต้องชะลอไว้ก่อน แล้วให้ความสำคัญกับโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนจริงๆ และได้ผลเป็นรูปธรรมทันที ทันกับเทอมของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ไม่เช่นนั้นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่มาก็ต้องมาทำต่อ บางครั้งเขาก็มีโครงการใหม่ๆ ที่อยากทำเช่นกัน

ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ต้องเป็นแบบไหน

ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ต้องเป็นคนเก่ง แต่ต้องเป็นคนที่สามารถประสานประโยชน์กับองค์กรที่เกี่ยวข้องและดึงความร่วมมือจากประชาชน นั่นคือ ต้องสร้างศรัทธาให้เกิดกับประชาชน ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือ รัฐบาลไม่เข้ามาใกล้ชิด ไม่มีทางที่จะบริหาร กทม.ได้ดี ตราบใดที่รูปแบบการบริหาร กทม.ยังเหมือนเดิม ดังนั้น ผู้ว่าฯ กทม.ต้องเป็นมือประสาน 10 ทิศ สามารถเดินลงไปสัมผัสได้ทุกกลุ่ม ต้องเรียกศรัทธาจากทุกฝ่าย อย่างที่บอก การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง แม้จะรู้กันว่าเขามาพรรคไหน กลุ่มไหน

แนวคิดที่จะแก้กฎหมายเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร กทม.

วันนี้ยังไม่ชัดเจน แต่มุมหนึ่งจะเห็นว่า ผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจอนุมัติงบฯได้ 5-10 ล้านบาท สามารถปรับเปลี่ยนงบประมาณเหลือจ่ายไปไว้ที่งบฯกลาง อยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. มีประมาณ 2,000 ล้านบาท สมมติว่าทำถนนสายหนึ่ง เกิดมีอุปสรรคก็ให้ย้ายงบฯไปอยู่งบฯกลาง ตรงนี้ถ้าได้ผู้ว่าฯ กทม.ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมจะเป็นอันตราย เพราะอำนาจใช้งบฯอยู่ในมือ หลายคนจึงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอำนาจผู้ว่าฯมากเกินไป แต่ผมกลับมองว่าให้อำนาจเขาเต็มที่ แต่ต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มข้น เช่น มีสายตรวจประชาชน เป็นต้น ทำให้เข้มข้น เรื่องนี้ยังอยู่ในจุดวิพากษ์วิจารณ์ สำหรับผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งยังไม่ค่อยติดใจ แต่ในส่วนของ ส.ก.มีบางคนยืนยันว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องเพิ่มคุณสมบัติ หรือแบ่งเค้ก ครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง อีกครึ่งมาจากการสรรหา เพื่อให้ได้คนที่ไม่ใช่การเมือง 100% ขณะที่ ส.ข.จะใช้วิธีให้ฝ่ายข้าราชการประจำ และฝ่ายบริหารทำแบบ กก.ตร. คือ คัดสรร หรือสรรหาคนดีๆ มีคุณภาพในพื้นที่มาทำหน้าที่ ซึ่งจะได้คนที่มีคุณภาพ มีใจจะช่วยเหลือท้องถิ่นเข้ามาทำงานด้วย แต่ถ้าให้เขามาแข่งลงเลือกตั้ง คนพวกนี้ไม่เอาแน่ เพราะอาจจะมีการซื้อเสียง สูตรนี้ได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการบ้างแล้วในกลุ่มสภา กทม. และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กทม.และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม. แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ผมว่าในระหว่างที่การเมืองยังไม่เข้าที่เข้าทางอาจจะต้องใช้วิธีผสมผสาน ซึ่งอาจจะถูกหลายฝ่ายแย้งว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แต่บางครั้งก็ปิดโอกาสคนอยู่เหมือนกัน แต่แนวทางของ คสช.พยายามหาคนที่มีคุณภาพมาคานส่วนที่มีการเลือกตั้ง ฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มผู้ทรงอิทธิพล ให้คนพวกนี้เข้ามาให้น้อยที่สุด ซึ่งต้องเริ่มที่ท้องถิ่นก่อน และกรุงเทพฯก็เป็นอีกโมเดลหนึ่ง

คณะกรรมการชุดนี้ต้องพิจารณาทั้งโครงสร้างของ กทม.

ใช่ครับ ต้องดูทั้งหมดตั้งแต่การกระจายอำนาจ การปฏิรูป การคิดสัดส่วนทีมผู้บริหารฝ่ายการเมืองกับประชากร เป็นการศึกษาเพื่อแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ระเบียบบริหาราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 แต่ไม่ได้หมายความว่าสภา กทม.จะแก้ไขเอง เพียงแต่ทำหน้าที่เก็บข้อมูล ประมวลผล และเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยผ่านกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง สนช.จะพิจารณาในภาพรวมท้องถิ่นทั่วประเทศ

มีเวลาทำเรื่องนี้กี่เดือน?

ไม่ได้กำหนดกรอบเวลา แต่คิดว่าคงไม่ช้า เพราะถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะลงมติเดินหน้าไปได้ กฎหมายเหล่านี้ก็ต้องออกล้อไปตามๆ กัน ซึ่งเป็นไปตามหลักการ เรื่องนี้ถ้าทำสมัย คสช.ถือว่าเป็นจังหวะที่ดีที่สุด

ถ้าปฏิรูป กทม.สำเร็จตามแผนที่ว่าจะทำให้งาน กทม.เดินหน้ายั่งยืนหรือไม่

ยังไม่ทราบว่าทิศทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร สำเร็จเมื่อไหร่ แต่มองถึงสิ่งที่จะแก้ปัญหาในวันนี้ ตราบใดที่การเมืองยังไม่เข้าที่เข้าทาง ก็ต้องผสมผสานกันระหว่างเลือกตั้งกับแต่งตั้ง เพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ มีความสามารถ มีคุณวุฒิ มีคุณภาพเข้ามาอยู่ในกลุ่มของการเมืองด้วย เพราะถ้ามองประชาธิปไตยว่าเลือกตั้งอย่างเดียว เรายังไม่ไว้ใจว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งเพียวๆ จะได้คนทุกกลุ่ม มันอาจจะได้มาจากคนกลุ่มเดียว เพราะฉะนั้นตราบใดที่สังคมยังอยู่กันด้วยความไม่ไว้วางใจทางการเมือง ก็ควรมาผสมผสานกันจนกว่าบ้านเมืองจะเข้าที่ ให้คนทุกกลุ่มเข้ามาในการเมืองจะได้ช่วยกันขับเคลื่อน กทม.

คสช.มีนโยบายหรือสั่งการอะไรสภา กทม.โดยตรงหรือไม่

ไม่มีครับ ตั้งแต่แต่งตั้งสภา กทม.ชุดนี้ งานทุกอย่างไปตามขั้นตอน คสช.ไม่เคยก้าวก่าย ในส่วนของสภา กทม.นั้น หากงานใดจำเป็นต้องเสนอหรือรายงานไป จะใช้ช่องทางส่งเรื่องผ่านไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เราไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง อยากทำงานอย่างเดียวในฐานะคนมีประสบการณ์เท่านั้น

สภา กทม.มีวาระดำรงตำแหน่งหรือไม่?

ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ระบุว่าให้ ส.ก.อยู่ได้ 4 ปี แต่ในระยะ 2 ปี ต้องมีการเลือกตั้งประธานและรองประธานสภา กทม.ครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้ระบุว่าคนเดิมห้ามเป็นต่อ แต่สำหรับผมเมื่อถึงเวลานั้น ผมก็ต้องเปิดทางให้มีการเลือกตั้งใหม่เช่นกัน ก็แล้วแต่ในที่ประชุม ซึ่งจะครบ 2 ปีที่ผมดำรงตำแหน่งในวันที่ 24 กันยายน 2559

จะมีวิธีการใดให้กลไกกทม.ขับเคลื่อนไปได้

ตราบใดที่ระบบการเมืองเป็นพวกใครพวกมัน ก็ยังน่าหนักใจในสถานการณ์วันนี้

มองการเมืองของ 2 พรรคใหญ่ต่อพื้นที่กทม.

แต่ถ้าให้ผมมอง ณ วันนี้ หากจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ภายในวันนี้ ปีนี้ ผมยังคิดว่าพรรคเพื่อไทย (พท.) ยังได้เปรียบกว่าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพราะพรรค พท.ยังจับมือกันแน่น และทำกิจกรรมในพื้นที่ฐานเสียงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พรรค ปชป.อย่างนี้รู้กันอยู่ ยังมีการตรวจสอบกันเองระหว่างพรรค ปชป.กับผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากพรรค ปชป. เพราะหลายเรื่อง

ผู้ว่าฯ กทม.ยังตอบคำถามและแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพฯได้ยังไม่ดีพอ

หาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์หมดวาระในวันที่ 6 มีนาคม 2560 การเมืองในกทม.จะเป็นอย่างไร

หลัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ครบวาระ คสช.มีอำนาจแต่งตั้ง โดย 1.คสช.แต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามาทำงาน หรือ 2.คสช.แต่งตั้งปลัด กทม.รักษาการและปฏิบัติหน้าที่แทน แต่ปัญหาขณะนี้คือ ปลัด กทม.คนปัจจุบันจะเกษียณอายุราชการในเดือนตุลาคมนี้ ยังไม่ทราบว่าคนใหม่จะเป็นใคร น่าหนักใจกว่านั้น ปีนี้รองปลัด กทม.จะเกษียณอายุพร้อมกัน 3 คน ผู้อำนวยการเขตจะเกษียณอายุอีก 15 คน ผู้อำนวยการสำนักอีก ทำให้ ณ ขณะนี้เกิดวิกฤตบุคลากรใน กทม. หาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์โชคดี อยู่ต่อไปจนถึงวันที่ 6 มีนาคม 2560 เขาก็มีสิทธิแต่งตั้งผู้บริหาร กทม. แต่ทั้งหมดอยู่ที่ คสช.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image