“อธิบดีสถ.” อัพเดตเลือกตั้งท้องถิ่น “กทม.-เมืองพัทยา-อบจ.” เลือกก่อน

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โพสต์แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Suttipong Juljarern ระบุว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นต่อไปนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ของประวัติศาสตร์การปกครองท้องถิ่นไทย เพราะไม่มีครั้งไหนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 7,852 แห่งทั่วประเทศ ที่ผู้บริหารและสมาชิกสภาหมดวาระพร้อมกัน ทั้ง กทม. เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 จังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,332 แห่ง และเทศบาล จึงต้องมีการเลือกตั้ง ทั้งนายกฯ และตัวสมาชิกสภา ปัจจุบันเรามีจำนวนสมาชิกที่ว่าง 142,590 ตำแหน่ง ถ้ารวมผู้สมัครแข่งขันในอัตรา 1 ต่อ 3-4 แล้ว ก็เกือบ 5-6 แสนคนที่จะลงแข่งกันทั้งประเทศ

เท่าที่ทราบ กกต.มีแผนจัดการเลือกตั้งที่ในแต่ละรูปแบบไม่พร้อมกัน โดยตัวแทนของกกต.ชี้แจงกับคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ตอนร่างกฎหมายท้องถิ่น 6 ฉบับว่า การเลือกตั้งจะเริ่มจากรูปแบบพิเศษก่อน คือ 1.กทม. เมืองพัทยา อบจ. 2. เทศบาล 3.อบต. แต่ละรูปแบบจะมีระยะเวลาในการเว้นวรรค ประมาณ 3 เดือน ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งประชาชนต้องไปใช้สิทธิ์เลือก 2 ครั้ง คือ อบจ.กับ อบต. เว้นแต่ในกทม.อาจเลือกพร้อมกันทีเดียวระหว่าง ผู้ว่าฯกทม. กับ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.)

เหตุผลอีกด้านคือ กกต. กังวลเรื่องการสืบสวน สอบสวน ข้อร้องเรียนต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลา ดังนั้น จะเลือกพร้อมกันทีเดียว 7,852 แห่งไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นคงเป็นมหกรรมหาเสียงที่สับสนอลหม่านเพราะมีหลายรูปแบบ

ผมเคยตอบท่านมีชัย ตอนที่ผมไปชี้แจงในฐานะกระทรวงมหาดไทย ว่า อยากให้เลือกรูปแบบพิเศษก่อน ตามด้วย อบจ. เทศบาล สุดท้ายคือ อบต. เรียงจากไซส์ใหญ่ไล่ลงไปตามขนาดความเจริญ กกต.ก็มีแนวโน้มที่จะทำแบบนี้เหมือนกัน แต่ก็เป็นความเห็นไม่เป็นทางการ อยู่ที่ กกต.คุยกับท่านนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐบาลเป็นผู้จัดสรรงบให้กกต.ก็ต้องดูว่าห้วงเวลาที่เหมาะสมคือช่วงไหน

Advertisement

สำหรับงบประมาณที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง อธิบดีสถ. คาดว่าอยู่ที่ 5,000 กว่าล้านบาท ทั้งค่าจัดการเลือกตั้ง ค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ ค่าพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ค่าฝึกอบรม ค่าเอกสาร ค่าธุรการ ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ส. อยู่ที่ 4,000 กว่าล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่รัฐบาลจะจัดสรรให้การเลือกตั้งท้องถิ่นอาจจะติดขัดบ้าง เนื่องจากเรามีเลือกตั้ง และมีรัฐบาลในช่วงปลายปีงบประมาณ 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่จะต้องจัดทำปีงบประมาณปี 2563 ซึ่งที่ผ่านมาเดือนนี้ (ส.ค.) ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาแล้ว แต่ปัจจุบันยังล่าช้าไม่เสนอเข้าสภา คณะกรรมการที่มีหน้าที่ยกร่างจัดทำคำของบประมาณก็เปลี่ยนหมด กระบวนการก็ไม่ได้เดิน สรุป คือ กระบวนการจัดทำงบประมาณหยุดชะงัก 3-4 เดือน แต่ สถ.ได้ชี้แจงกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นอย่าให้เร็วกว่าเดือนต.ค.2562 เพราะช่วงนี้ท้องถิ่นต้องทำข้อบัญญัติงบประมาณเหมือนกัน ถ้าเลือกในช่วงเดือนก.ย. ผู้นำท้องถิ่นจะหยุดทำงานหมด เนื่องจากกฎหมายบังคับห้ามปฏิบัติหน้าที่ 45 วัน

“ตอนนี้คงต้องรอความชัดเจนระหว่าง กกต.กับรัฐบาลที่จะหารือกันว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร”

Advertisement

การเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะตื่นตัวเพราะผู้บริหารท้องถิ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประชาชน มีสัมพันธ์เชิงเครือญาติ คนที่ลงสมัครท้องถื่นก็ต้องเป็นคนท้องถิ่น…..

ทั้งนี้ สถิติการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา 74.69% ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุดอยู่ที่ 78-80% ฉะนั้น ก็มีโอกาสที่ท้องถิ่นจะตื่นตัวมากกว่า และครั้งนี้ปัจจัยที่น่าจะใช้สิทธิ์มากกว่าเดิมคือ 1.คนหนุ่มสาวตื่นตัว 2. พรรคการเมืองประกาศตัวชัดเจนที่จะส่งตัวแทนสมัครท้องถิ่น 3.ผู้บริหารท้องถิ่น ชุดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็อยู่ไม่ต่ำกว่า 5-7 ปี เพราะคสช.อยู่ในตำแหน่งมา 5 ปี การอยู่นานก็ใกล้ชิดกับประชาชน ก็มีทั้งคนชอบไม่ชอบ คนไม่ชอบก็อยากจะเปลี่ยน จึงมั่นใจว่า คนจะมาใช้สิทธิ์มากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ครั้งนี้อาจจะแตะหลัก 90%ก็ได้

“พฤติกรรมการการเลือกตั้งในอดีต คนที่ไม่ค่อยไปใช้สิทธิ์ คือ คนที่มีความรู้ กับ วัยรุ่น แต่การเลือกตั้ง สส.ที่ผ่านมา กลับมีคนหนุ่มสาวเยอะขึ้น ดังนั้น การที่มีพรรคการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะครั้งนี้ มีพรรคใหม่ขวัญใจวัยรุ่น ประกาศลงเล่นการเมืองท้องถิ่นด้วย ก็มีผลให้คนที่มีความรู้ในโลกโซเชียลตื่นตัว ก็เป็นการดี ที่คนจะมาใช้สิทธิ์ของตัวเอง”

ความคาดหวังที่ผมอยากเห็นคือการเปลี่ยนแปลงต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นคือเราต้องเคารพผู้มาใช้สิทธิ์…แต่หลักๆ คนที่อยู่ในตำแหน่งจะได้มีโอกาสทบทวนการทำงานจากเสียงสะท้อนของประชาชนว่า คะแนนตัวเองลดเพิ่มอย่างไร ถ้าประชาชน เลือกผิดก็ต้องทนอีก 4 ปี เป็นอย่างมาก จากนั้นก็มาใช้พลังตัวเองเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตัวเองต้องการ เช่น ผู้นำ นโยบาย นี่ คือ ความสวยงามของประชาธิปไตย

และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การเมืองท้องถิ่น ไม่ได้เปิดโอกาสเฉพาะการเลือกตั้งเท่านั้น แต่กระบวนการทำงานของสภาท้องถิ่น ต้องยึดโยงอยู่กับเสียงประชาชน เช่น แต่ละปีจะทำแผนพัฒนาอะไร คุณต้องมีประชาคม มีการประชุมเพื่อให้แต่ละพื้นที่ เสนอปัญหาความต้องการ และให้ความเห็นชอบด้วย ไม่เหมือนการเมืองระดับชาติ สรุป คือ ท้องถิ่นเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถกำหนดทิศทางพัฒนา แก้ไขปัญหา ดูแลท้องถิ่นของตัวเองตั้งแต่ต้นน้ำ ถ้าทำอะไรที่ไม่อยู่ในแผน ผู้บริหารท้องถิ่นคนนั้นก็อาจถูกปลดจาก ป.ป.ช.แน่ ในอนาคต ถ้าการบริหารท้องถิ่นยกระดับ ก็จะเหมือนต่างประเทศที่นักการเมืองท้องถิ่นโตขึ้นมาเป็นนักการเมืองระดับชาติ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยยังไม่เป็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image