“กรมอุทยานฯ”ลุยสำรวจประชากร-ทำอัตลักษณ์พะยูน-สัตว์ทะเลหายากในอุทยานฯทางทะเล

“กรมอุทยานฯ”ลุยสำรวจประชากร-ทำอัตลักษณ์พะยูน-สัตว์ทะเลหายากในอุทยานฯทางทะเล 10 แห่ง เผยปี’62 เกยตื้นหนักสุดพุ่งถึง 765 ตัวแล้ว เป็น”เต่าทะเล”เยอะสุด 488 ตัว “วาฬ-โลมา” 250 ตัว “พะยูน” 18 ตัว ชงกำหนดจุดเดียวชมพะยูน “เขาบาตู” เกาะลิบง ห้ามเรือนำเที่ยวไล่จี้ฝูงพะยูน

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.นายทรงธรรม สุขสว่าง ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมอุทยานฯ ได้จัดทำโครงการสำรวจติดตามประเมินสถานภาพพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ในพื้นที่อุทยานฯ ทางทะเล สืบเนื่องจากปัญหาสัตว์ทะเลหายาก ได้แก่ พะยูน โลมา วาฬ เต่าทะเล มีจำนวนลดลงจนเข้าภาวะใกล้สูญพันธุ์ โดยโครงการดังกล่าวฯ จะใช้งบประมาณดำเนินการจำนวน ประมาณ 2.2 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ต.ค.2562-ก.ย.2563 ในพื้นที่อุทยานฯ ทางทะเล จำนวน 10 แห่งทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ได้แก่ ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานฯ ทางทะเลที่ 1 จ.ชุมพร รับผิดชอบพื้นที่ อุทยานฯ หมู่เกาะชุมพร จ.ชุมพร อุทยานฯ หมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานฯ ทางทะเลที่ 2 จ.ภูเก็ต รับผิดชอบพื้นที่ อุทยานฯ แหลมสน จ.ระนอง อุทยานฯ หมู่เกาะระนอง จ.ระนอง อุทยานฯ เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา อุทยานฯ อ่าวพังงา จ.พังงา ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานฯทางทะเลที่ 3 จ.ตรัง รับผิดชอบพื้นที่ อุทยานฯ หาดเจ้าไหม จ.ตรัง อุทยานฯ หมูเกาะเภตรา จ.ตรังและสตูล อุทยานฯ ตะรุเตา จ.สตูล ศูนย์ปฏิบัติการทางทะเลฯ ที่ 4 จ.ตราด รับผิดชอบ อุทยานฯ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง อุทยานฯ หมู่เกาะช้าง จ.ตราด

ผอ.สำนักอุทยานฯ กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการดำเนินการจะรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นจากเอกสารงานวิจัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่สอบถามและรวบรวมข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ตลอดจนชาวบ้านในพื้นที่หรือชาวประมงพื้นบ้านเกี่ยวกับการพบเห็นทั้งตัวที่มีชีวิตและซาก สำรวจการแพร่กระจายประชากรพะยูน ทางเรือโดยใช้กล้องส่องทางไกล บันทึกถ่ายภาพสัตว์ที่พบด้วยกล้องถ่ายภาพ และใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) มีการกำหนดเส้นทางและพื้นที่การบินสำรวจอย่างเป็นระบบพร้อมบันทึกวิดีโอและภาพนิ่งเพื่อการนับจำนวน พร้อมบันทึกข้อมูลตำแหน่งที่พบ ชนิด พฤติกรรม จำนวน และองค์ประกอบของฝูง จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มากำหนดลำดับหมายเลขหรือตั้งชื่อ ที่สามารถระบุอัตลักษณ์ได้อย่างชัดเจน ในกรณีที่สามารถระบุได้ เพื่อทำการบันทึกข้อมูลรายตัวและจัดทำประวัติการพบในแต่ละครั้งที่ทำการสำรวจ นอกจากนั้นจะมีการสำรวจและรวบรวมสถิติการเกยตื้น ในพื้นที่อุทยานฯทางทะเล และบริเวณชายฝังทะเลใกล้เคียง และจัดทำข้อมูลและแผนที่การแพร่กระจายของพะยูนและสัตว์ทะเลหายากในอุทยานฯ ทะเลด้วย

นายทรงธรรม กล่าวว่า สำหรับภัยคุกคามท้องทะเลและสัตว์ทะเลหายากของไทย ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เต่าทะเล ที่พบเพียง 5 ชนิด 2.พะยูน พบเพียง 1 ชนิด และ 3.โลมาและวาฬ พบเพียง 27 ชนิดนั้น สาเหตุการตาย ร้อยละ 74-89 เต่าทะเลและพะยูน บาดเจ็บจากเครื่องมือประมงชายฝั่ง ร้อยละ 63 โลมาและวาฬเกิดจากการป่วยตามธรรมชาติ การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร โดยล่าสุดจากรายงานสถานการณ์สัตว์ทะเลหายาก ปีงบประมาณ 2562 สถิติการเกยตื้นระหว่างเดือน ต.ค.2561-ส.ค.2562 พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นทั้งหมด 756 ตัว สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบการเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา แบ่งเป็น เต่าทะเลมากที่สุด 488 ตัว คิดเป็นร้อย 65 โลมาและวาฬ 250 ตัว ร้อยละ 33 พะยูน 18 ตัว ร้อยละ 2

Advertisement

ผอ.สำนักอุทยานฯ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของพะยูน จากการสำรวจทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ของศูนย์วิจัย ทช.ภูเก็ต ล่าสุดพบว่ามีประมาณ 200-250 ตัว ซึ่งจะต้องมีมาตรการแนวทางป้องกันช่วยเหลือและแก้ไขให้ยังคงรักษาสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ไว้ให้มากที่สุด คือการกำหนดโซนและการวางทุ่นบริเวณที่มีพะยูนและบริเวณแนวขอบหญ้าทะเล มีการลงทะเบียนเรือผู้ประกอบการ และแสดงจุดสำหรับผูกเรือลอยลำดูพะยูนในการรองรับการท่องเที่ยวดูพะยูนที่จะมาถึงในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว โดยต้องมีการซ่อมแซมพื้นที่บริเวณเขาบาตู เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง เพื่อลดปัญหาการใช้เรือในการดูพะยูนหน้าเขาบาตู

“ทั้งนี้ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นความสำคัญไม่ว่าจะมีมาเรียมหรือไม่มีมาเรียมอยู่บริเวณหน้าเขาบาตู แต่การดำเนินการต่างๆ มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการดูแลป้องกัน รักษาพะยูนให้อยู่รอดปลอดภัย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ต้องเพิ่มการลาดตระเวนในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยต้องมีการเฝ้าระวังชาวประมงนอกพื้นที่เข้ามาทำประมงอย่างผิดกฎหมาย ในส่วนของชุมชนเองต้องปฏิบัติตามกฎกติกาของชุมชนอย่างเคร่งครัด มีการจัดโซนพื้นที่อนุรักษ์หลัก คือห้ามใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างเด็ดขาด และโซนอนุรักษ์รอง คือสามารถทำประมงชายฝั่งได้โดยไม่ใช้เครื่องมือที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ ห้ามแล่นเรือไล่พะยูนเด็ดขาด และให้ลดความเร็วเมื่อเข้าเขตอนุรักษ์ ห้ามผู้ประกอบการพานักท่องเที่ยวดูพะยูนทางเรือในอนาคตหากมีการสร้างสะพานขึ้นดูพะยูนบนเขาบาตูแล้วเสร็จ ให้เขาบาตูเป็นสถานที่จุดเดียวที่สามารถให้นักท่องเที่ยวดูพะยูนได้ หากผู้ใดฝ่าผืนกฎให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าฯ ทช.ฝ่ายปกครอง และชุมชน เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้จะนำเสนอเพิ่มเติมเพื่อจัดทำแผนพะยูนแห่งชาติต่อไป” ผอ.สำนักอุทยานฯ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image