สถานีคิดเลขที่ 12 : สงครามข่าวเกาะเต่า : สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

การที่คำพิพากษาของศาลทั้ง 3 ศาล เห็นพ้องต้องกัน แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์แบบของสำนวนคดีและพยานหลักฐาน ปราศจากข้อสงสัยใดๆ หมายถึงคดีฆ่าข่มขืนนักท่องเที่ยวหญิงชาวอังกฤษและฆ่านักท่องเที่ยวชายรวม 2 ศพ ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี อันอื้อฉาวไปทั่วโลก ซึ่งปิดฉากลงแล้วด้วยคำพิพากษาชั้นฎีกา

โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้ประหารชีวิต 2 จำเลยแรงงานต่างด้าว ไม่มีการลดโทษ จากนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามชั้นต้น และศาลฎีกาพิพากษายืนตามชั้นอุทธรณ์ เป็นอัน
ครบถ้วนแล้วทั้ง 3 ศาล

จากนี้ไปฝ่ายจำเลยก็เหลือขั้นตอนสุดท้าย คือถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ เพื่อลดโทษต่อไป

นับจากเกิดเหตุเมื่อ 15 กันยายน ปี 2557 ซึ่งแน่นอนว่าการฆ่าข่มขืนนักท่องเที่ยวและสังหารเพื่อนชายด้วย เป็นคดีอาชญากรรมที่รุนแรง และกระทบต่อภาพเมืองท่องเที่ยวของไทยเราอย่างหนักหนาสาหัส

Advertisement

ทั้งสื่อมวลชนไทยและสื่อมวลชนทั่วโลกจึงให้ความสนใจนำเสนอข่าวสารอย่างเข้มข้น

ตำรวจใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ เป็นแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในร้านอาหารบนเกาะเต่า โดยอาศัยพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล กล้องวงจรปิด และการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ

แต่ในระหว่างนั้นเอง นักสืบโซเชียลก็ทำงานกันอย่างหนัก เริ่มมีการวิเคราะห์ภาพวงจรปิด เริ่มมีข้อมูลแก๊งอิทธิพล ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เข้ามาเกี่ยวพัน

Advertisement

แล้วเริ่มค้านกับรูปคดีของตำรวจ ทำให้เกิดกระแสกล่าวหาว่าตำรวจจับแพะ เพื่อช่วยเหลือคนร้ายตัวจริงที่มีอิทธิพล

แต่ความจริง ถ้าไม่ใช้อคติมากเกินไป คดีนี้ตำรวจก็ทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แสดงพยานหลักฐานให้ชัดเจนได้ไม่น้อยเลย

ที่เห็นได้อีกประการ ขณะนั้น พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เพิ่งได้รับตำแหน่ง ผบ.ตร. ลงมาดูคดีเอง พร้อมด้วย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร.ฝ่ายปราบปราม ที่เป็นว่าที่ ผบ.ตร.คนต่อไป ลงมาคุมทีมสืบสวนด้วยตัวเอง

ทั้ง 2 พล.ต.อ.ที่มีเก้าอี้ใหญ่เป็นเดิมพัน คงจะไม่ยอมปล่อยให้มีการจับแพะแน่ๆ แถมทีมสืบสวนสอบสวนก็ระดมลงมาจากตำรวจส่วนกลาง การทำคดีนี้ไม่ใช่ลำพังเพียงตำรวจท้องที่ ดังนั้น เหตุผลเรื่องมาเฟียอิทธิพลบนเกาะกดดันตำรวจ จึงขัดแย้งกับความจริงในทีมทำงานของตำรวจ

ที่น่าสนใจอีกประการ แรกเริ่มนั้น 2 แรงงานต่างด้าวที่ถูกจับกุม ได้ยอมรับสารภาพ และพาชี้จุด ทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ตรงกับข้อเท็จจริงทางคดีทั้งหมด

จนกระทั่งเมื่อทีมทนายความจากสภาทนาย เข้ามาช่วยเหลือในการสู้คดี จึงมีการเปลี่ยนคำให้การเป็นปฏิเสธ และร้องเรียนว่าถูกตำรวจซ้อมบังคับให้สารภาพ

ในชั้นการสืบพยานบนศาล ก็ยังมีการนำเอาพยานที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังพยายามจะ
มาหักล้างรูปคดีของตำรวจ

ผสมผสานเข้ากับกระแสทางโซเชียลที่ถล่มตำรวจอย่างหนัก

จนสุดท้ายศาลมีคำพิพากษา เชื่อถือในพยานหลักฐานขอตำรวจและอัยการ จึงตัดสินลงโทษขั้นสูงสุดคือประหารชีวิต ไม่มีการลดโทษ และพิพากษายืนตามนี้อีก 2 ศาล

ภาพรวมของคดีนี้ จึงเป็นเสมือนการทำคดีท่ามกลางสงครามข่าวสาร สงครามกระแส

จากนั้นยังมีความโน้มเอียงประโคมข่าวเรื่องเลวร้ายของเกาะเต่า กลายเป็นเกาะแห่งความตายอะไรทำนองนั้น

บทสรุปหลังคดีจบสิ้นในกระบวนการศาล จึงเป็นเรื่องน่าศึกษาถึงประเด็นสงครามข่าวสารและกระแสอันเชี่ยวกรากในโซเชียล

แต่เราคงปฏิเสธบทบาทของนักสืบโซเชียลว่า มีเรื่องดีในหลายๆ กรณี เป็นบทบาทที่
ไม่ควรปิดกั้น

เพียงแต่ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ควรมีวิจารณญาณ หรือมีการนำเอาเหตุผลมาคิดวิเคราะห์ประกอบไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image