‘ป.ป.ช.’ จี้ สื่อจับตา ‘งบท้องถิ่น’ เผยใกล้สิ้นปีงบประมาณ อนุมัติกันอุตลุด

งบท้องถิ่น-เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า ปัญหาสำคัญเร่งด่วนตอนนี้ที่ได้รับฟังมาคือ การจัดซื้อจัดจ้างในท้องถิ่นเกือบทั้งหมด ตามกฎหมายบอกว่าหากตรวจรับงานเสร็จสมบูรณ์ ภายใน 3 วันต้องจ่ายเงิน แต่ไปดูท้องถิ่นบางแห่งตรวจรับงานเสร็จแล้วแต่ 2-3 เดือนยังไม่จ่ายเงินเลย ผลที่ตามมาคือ ผู้รับเหมาเหล่านี้บางรายไม่ได้มีเงินทองมากมาย พอชอร์ตเงิน ไปกู้แบงก์ก็ไม่ให้ เลยทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นปัญหาหมดเลย จึงเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไปแล้วว่า เรื่องนี้ต้องเพิ่มในตัวชี้วัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ITA) ด้วย

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ยอมรับว่างบประมาณของรัฐในการทุ่มเทการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศมันเยอะมาก แต่ในส่วนต่างจังหวัดไม่ได้สนใจ เขาจะทำยังไงก็ไม่จ่าย และนี่คือปัญหา กระทบกระเทือนเศรษฐกิจ กระทบการบริหารจัดการประเทศ กระทบไปถึงตัวชี้วัดความโปร่งใสของประเทศ กระทบไปหมด” นายณรงค์กล่าว

นายณรงค์กล่าวว่า ความโปร่งใสเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในขณะนี้ และให้ความเห็นมาโดยตลอดว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯฉบับนี้ ยังเป็นปัญหาสำหรับการบริหารจัดการ เหตุผลคือแม้จะพูดว่ากฎหมายฉบับนี้เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นรอง แต่หลักนี้ยังไม่ใช่สิ่งที่มันไปเข้าถึงที่ทำให้การบริหารจัดการประเทศมันโปร่งใสมากขึ้น เพราะเรื่องบางประเภทปกปิดไม่ได้เลย ต้องเปิดเลย เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศ ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง ประชาชนทุกคนต้องสนใจ ต้องให้ความสำคัญว่า หน่วยงานของรัฐทั้งหลายไปดำเนินการภายใต้กรอบของกฎหมายหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ อนุมัติภายในเวลาหรือไม่ เงื่อนไขทำถูกต้องหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ กฎหมายฉบับนี้ต้องถูกแก้ไขในอนาคตด้วย บางเรื่องต้องเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องจัดซื้อจัดจ้างต้องเปิดหมด ประชาชนอยากรู้ ต้องรู้ได้เลย ผ่านกระบวนการกลไกต่างๆ รวมถึงทางออนไลน์ด้วย การดำเนินการแบบนี้ระยะยาวจะเป็นประโยชน์

ด้าน น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือแผนการป้องกันการทุจริตของ อปท. ที่ต้องเปิดเผยในเว็บไซต์หน่วยงานตัวเองด้วย นอกจากเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง เพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่าคนของเขาที่เลือกมา ทำงานจริงหรือไม่ ปิดบังอะไรหรือไม่ ขณะเดียวกันยังมีประเด็นเงินเหลือจ่ายใกล้สิ้นปีงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย ที่เสี่ยงต่อการทุจริตมาก ฝากผู้สื่อข่าวไปตามหน่อย เพราะมีการเร่งรัดให้ทำให้เสร็จภายใน 30 กันยายน 62 (ก่อนสิ้นปีงบประมาณ) ไม่อย่างนั้นจะพับโครงการ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง เพราะงบดังกล่าวหากทำแล้วจะผูกพันต่อเนื่อง สามารถทำได้ต่อ แต่มีความพยายามไปเร่งรัดให้ อปท. ดำเนินการ มีการวางแผนว่าจ้างผู้รับเหมาเดิมๆ เป็นแผนการเก่าๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่เกิดแล้วเกิดอีก แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลไปแล้ว ก็ยังเกิดขึ้นซ้ำอีก

Advertisement

น.ส.สุภากล่าวว่า เรื่องประเด็นความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ เป็นส่วนสำคัญที่สุดต้องเริ่มจากประชาชนด้วย บางสำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลไปต้องลงให้ครบ ต้องเผยแพร่ เพื่อให้ผู้ร้องได้รับรู้ว่าประชาชนตอบสนองความเดือดร้อนของเขาอย่างไร ส่วนผู้ถูกร้องมีสิทธิในเรื่องอุทธรณ์ได้ แต่ถ้าไม่เปิดเผยเขาจะรู้ได้อย่างไร หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเปิดเผยข้อมูลคดีอย่างทันสมัย ให้คนไทยรู้ว่า ป.ป.ช.ทำงาน

“ส่วนกรณีการเปิดเผยการจัดซื้อจัดจ้างนั้น อาจต้องดีไซน์กับกรมบัญชีกลางใหม่ ให้มีการเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน ต้องประกาศอย่างไร มีคนเสนอราคาอย่างไร เสนอกี่ราย อาจไม่ใส่รายชื่อก็ได้ แต่เมื่อประกาศผู้ชนะต้องกางให้หมด ทำแผนให้กรมบัญชีกลางเปิดเผยได้” น.ส.สุภากล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image