ลุยล่า 5 หมื่นชื่อดันแก้ ‘รธน.’ แนะสลายสี ล็อบบี้ 84 ส.ว. (คลิป)

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ มีการประชุมโต๊ะกลมคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน 30 องค์กรประชาธิปไตยเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 โดยมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีภาคส่วนต่างๆร่วมแสดงความเห็นอย่างหลากหลายนายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ผู้ร่างโดยเฉพาะนายมีชัย ฤชุพันธุ์ บอกว่าต้องการให้ป็นฉบับถาวร อมตะ นิรันดร์กาลอยู่คู่ไทยชั่วฟ้าดินสลาย ฟังเผินๆน่าเป็นฉบับที่ดี สมบูรณ์ ไม่ต้องต้องแก้ไขอีก แต่เมื่อพิจารณาจริง ๆไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่บกพร่องมากที่สุด คนต้องการแก้มากที่สุด แต่จะเป็นอมตะเพราะแก้ยากที่สุด ประเด็นที่ต้องตอบตัวเองและสังคมคือทำไมต้องแก้ จะแก้ในประเด็นใดบ้างและสุดท้ายจะแก้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุดตามกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ 60 โดยเฉพาะ ม.256 อุปสรรคซับซ้อนมาก ยิ่งการต้องได้รับการเห็นชอบจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 เสียง และการแก้ประเด็นสำคัญอย่างโครงสร้างรัฐธรรมนูญต้องผ่านการลงประชามติ รวมถึงการแก้ไขมาตรานี้เช่นกัน ส่วนตัวคิดว่าจากเป้าหมายหรือจากหลักการที่คสช.วางไว้เพื่อสืบทอดอำนาจ ซึ่งต้องยอมรับว่าหลังจากที่ยึดอำนาจ 5 ปี คสช. ประสบความสำเร็จในการสืบทอดอำนาจ แต่จะยั่งยืนแค่ไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันความเรียนร้องต้องการแก้รัฐธรรมนูญมีมากขึ้น ส.ส. หลายพรรค เสนอว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งพรรคที่ปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล

ส่วนจะแก้อย่างไร คิดว่าต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้นจึงจะแก้ไขได้ จึงจะมีพลังขับเคลื่อนในการผลักดันให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายผ่านญัตติในการแก้ในวาระ1-3 ทั้ง ส.ส และวุฒิสมาชิก นี่คือขั้นตอนที่ยาก ซึ่งถ้าไม่สามารถให้ ส.ส . หรือวุฒิสมาชิกอย่างน้อย 84 เสียงเห็นด้วยกับการแก้ โดยเฉพาะ ม. 256 คงจะยาก ยกเว้นจะมีอภินิหารย์ เช่น วิกฤต การเมืองและเศรษฐกิจ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. กล่าวว่า ตอนนี้คิดว่าสิ่งที่ต้องมองให้ออกคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นมีอำนาจ ทำให้ตัวเองได้เปรียบ และอยู่ต่อภายใต้กติกาโดยไม่สนใจว่าประชาชนเลือกมาหรือไม่ หรือคนเหล่านี้มีความสามารถบริหารบ้านเมืองจริงหรือไม่ หัวใจอยู่ตรงนี้ ทำให้การเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้วนมีกติกาที่ค้ำจุนคนกลุ่มเดียว ดังนั้นถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงกติกาอย่าหวังว่าปัญหาบ้านเมือง ปัญหาประชาชนจะได้รับการแก้ไข ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงเกี่ยวกับปากท้องประชาชน อย่าไปบอกว่า แก้ปากท้องก่อน แล้วค่อยแก้รัฐธรรมนูญ

“สำหรับกระบวนการแก้ไขนั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาให้เกิดการปิดตายในการแก้ วิธีการที่ต้องทำ มีหลายขั้นตอน เช่น ต้องผ่านจุดเริ่มต้น มา 4 ทาง อาจมาจากประชาชน 50,000 รายชื่อ มาจาก ส.ส. 100 คนขึ้นไป หรือ ส.ส. บวก ส.ว. 150 คน หรือจาก ครม. นี่คือจุดเริ่มต้น แต่ในจุดของการลงมติในวาระที่ 1 ต้องมี ส.ว. 84 คนคือ 1 ใน 3 และในวาระ 3ก็ เช่นกัน นอกนั้นการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ ก็ต้องผ่านประชามติอีก ดังนั้นจึงยากมาก” นายสมชัยกล่าว

Advertisement

นายสมชัยกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญ คือถ้าเราเดินตามเกมของสภาแล้วไปสู้ในจุดนั้น ว่าไปทีละวาระ เมื่อไหร่ก็ตามรัฐบาลไม่เคาะ ไม่มีทางชนะ ดังนั้น ในเชิงวิธีคิดตนมองว่า
1.ต้องให้ประชาชน รู้ปัญหาของรัฐธรรมนูญ เอาเฉพาะจุดที่เป็นหัวใจสำคัญที่คิดว่าให้คนเห็นพ้องต้องกัน อย่าแตกประเด็นมากเกินไป  2. สร้างการริเริ่มจากภาคประชาชน กระบวนการที่เริ่มแล้วคือจะรวบรวมรายชื่อ 50,000 ชื่อ ซึ่งจำเป็นต้องเดินหน้าทำ จะไปแพ้ในวาระ 1 ก็ไม่เป็นไร แต่ให้ประชาชนเห็นว่าเราพยายามแล้ว ให้ประชาชนเห็นว่าใครคืออุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ใครโหวตรับ ไม่รับ ในขณะเดียวกัน การจะประสานเครือข่ายทุกเครือข่ายที่เห็นปัญหาร่วมกันก็ต้องดำเนินการ อย่าคิดแบ่งฝ่ายเขาฝ่ายเรา อย่าคิดว่าอยู่คนละขั้ว แม้เคยวิพากษ์กัน ตอนนี้ขอให้เอาประเทศเป็นที่ตั้ง เราต้องละลายสิ่งนี้ให้หมด ใครเป็นแนวร่วมได้ ก็ผนวกกันเข้ามา การดำเนินการ จะนาน จะช้าในการแก้ไขก็อย่าไปสนใจ แต่ในทางกลยุทธ์ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่ารัฐสภาจะเป็นชุดนี้หรือไม่ กระบวนการแก้ไขต้องต่อเนื่องได้ ไม่ว่าสภาจะถูกยุบหรือไม่ จะมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ส่วนตัวมองว่า ถ้าแก้ก่อนการเลือกตั้งใหม่ได้ ยิ่งดี แต่ไม่ง่าย ไม่คิดว่าจะแก้ได้ก่อนการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งใหม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว เพราะรัฐบาลไม่น่าจะอยู่ได้นานภายใต้เสถียรภาพปัจจุบัน

นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะประธานคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคประชาชน กล่าวว่า หลังจากเริ่มศึกษารัฐธรรมนูญปรากฏว่าเนื้อหาสาระไม่น่าใช้ทั้งเล่ม จากนั้นค้นดูว่าวิธีแก้จะแก้อย่างไร ในหมวด 15 มาตรา 255-256 พบว่ายุ่งยากมาก ตั้งแต่ต้องมีรายชื่อผู้เสนอ 20 ท่านขึ้นไปเป็นผู้ริเริ่ม และต้องเสนอเป็นร่าง ถามว่าประชาชนที่ไหนจะเสนอร่างได้ ประชาชนที่ไหนจะร่างรัฐธรรมนูญเป็น เลยมาคิดว่า จะแก้ในวิธีการที่ง่ายขึ้นคือเปิดช่องให้เห็นว่าเราจะแก้รัฐธรรมนูญ จะแก้ได้เฉพาะวิธีการแก้ เลยตั้งท่ารวบรวม 50,000 ชื่อให้ครบซึ่งไม่ง่าย สิ่งที่จะเปิดประตูคือ วาระแรกเสนอแก้ มาตรา 256 วงเล็บ 2-9 เพื่อเปิดช่อ ให้ผ่านมติที่ประชุมรัฐสภากึ่งหนึ่ง วุฒิ สภา 1 ใน 3

“ถ้าจะไปเสนอร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นเรื่องใหญ่ การแก้ทั้งเล่มไม่มีทางที่จะแก้ได้ แต่ถ้าเปิดประตู จะมีทาง ด้วยหลักการข้อแรกคือ รณรรงค์ให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาและความบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 60 ต่อมา จะระดมองค์กรภาคประชาชน ต่างๆเข้ามาช่วยกัน และสุดท้าย จะล่ารายชื่อ โดยวางระบบแล้ว ประกอบด้วย 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่ม กทม.และปริมณฑล 2. ภาคเหนือ มีศูนย์กลางการประชาสัมพันธ์ที่เชียงรายและลำปาง 3. อีสาน มีศูนย์กลางที่อุดรธานีและสุรินทร์ 4. ภาคใต้ ศูนย์กลางอยู่สุราษฎร์ธานี 5. ภาคกลาง ศูนย์กลางอยู่ที่ลพบุรี นี่คือแนวททางที่จะดำเนินการคร่าวๆ”นายเยี่ยมยอดสรุป

Advertisement

ด้าน ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานคณะทำงานเตรียมการเพื่อจัดตั้ง ‘เครือข่ายภาคีเพื่อการรณรงค์และเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยและประชาชน’ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป้าหมายต้องชัดเจนว่าไม่ควรแค่ต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะจะติดกับดักรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก 80 กว่าปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราติดกับดักตรงนี้มานานแล้ว เรามีรัฐธรรมนูญหลายฉบับมาก มีรัฐประหารบ่อยๆ เป้าหมายคือจะอย่างไรให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญเป็นแค่ส่วนหนึ่งแต่เป็นส่วนสำคัญ และเนื่องจากจากมีองค์กรต่างๆเคลื่อนไหว มีกิจกรรมอยู่แล้ว ตรงนี้ต้องมานั่งคิดกันว่าจะทำอย่างไรในเชิงยุทธวิธีที่จะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งต้องจัดรูปองค์กร ต้องคุยประสานงานกันบ่อยๆ เพราะเป้าหมายและเจตนาคือต้องสำเร็จ

“ขอเสนอให้เวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่เราจัดตั้งขึ้นในลักษณะเป็นเครือข่ายประสานงาน การจะให้มีพลัง ต้องมียุทธวิธีชัดเจน ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมย การจัดตั้งองค์กร รวมทั้งงบประมาณและทุน พอถึงจุดหนึ่งถ้าจะสร้างกระแสให้ส.ว. 84 คน เห็นด้วย ต้องสร้างแรงจูงใจ และสภาพแวดล้อมให้ ส.ว. สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงจะมีการตั้งองค์กรที่เป็นจุดประสานงาน เราต้องทำให้ได้อย่างปี 35 ซึ่งมีสมาพันธ์ประชาธิปไตย รวมถึงในปี 40 ซึ่งมีคนคอยประสานให้เกิดพลัง” ผศ.ดร. อนุสรณ์กล่าว


QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image