‘ครม.’ แจงเหตุผลเลื่อนพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.เป็นวาระเร่งด่วน ยันมีเหตุจำเป็น

“ครม.” แจงเหตุผลเลื่อนพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมคุ้มครองสถาบันครอบครัว เป็นวาระเร่งด่วน ยันมีเหตุจำเป็น กฎหมายให้อำนาจ จนท.มากขึ้น แต่บุคลากรยังไม่พร้อม ต้องใช้เวลาอบรมพัฒนา

เมื่อเวลา 14.20 น. วันที่ 3 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.จะขอให้สภาผู้แทนราษฎร เลื่อนการพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว ให้อยู่ในวาระเร่งด่วน โดยเรื่องนี้มีการตั้งคำถามว่า การออก พ.ร.ก.เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ในครั้งนี้ อยู่ในอำนาจของ ครม.ที่สามารถกระทำได้หรือไม่ อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่

น.ส.รัชดากล่าวว่า มีความจำเป็นที่ต้องออก พ.ร.ก.เพื่อขอเลื่อนการใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปก่อน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับความบกพร่องในการบริหารราชการ แต่มีความจำเป็นในเรื่องเงื่อนเวลา เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวปี 2550 แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวมีข้อที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง ให้สังคมให้ความเป็นธรรมมากขึ้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงมีการออก พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เพื่อปรับปรุง พ.ร.บ.ฉบับปี 2550 โดยเปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว ซึ่งผ่านความเห็นชอบของ สนช.ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในเดือนดังกล่าวเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน มีการหาเสียงและมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม กว่าจะจัดตั้งรัฐบาลและมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก็เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมแล้ว ดังนั้น ในช่วงที่กฎหมายฉบับนี้ออกมาจึงเป็นช่วงรอยต่อของสภา ช่วงรอยต่อของงบประมาณ และช่วงรอยต่อของคณะรัฐบาล

น.ส.รัชดากล่าวว่า สำหรับ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัวนั้น มีหัวใจสำคัญอยู่เรื่องหนึ่ง คือ การกำหนดให้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ซึ่งเป็นการให้อำนาจหน้าที่แก่สำนักงานพัฒนาสังคมจังหวัด (พมจ.) มากกว่าเดิม จากเดิมที่เป็นแค่หน่วยงานที่รับทราบเรื่องราวและทำหน้าที่ประสานงาน โดยอำนาจหน้าที่ที่มากขึ้นนั้น เช่น การให้ความรู้กับประชาชนเรื่องการมีชีวิตคู่ฉันสามีภรรยา การดำเนินความสัมพันธ์ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข มากไปกว่านั้น ยังมีกลไกในกระบวนการยุติธรรม คือเมื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำเนามาให้ศูนย์ดังกล่าว และศูนย์มีหน้าที่เข้าไปดูแลผู้ถูกกระทำความรุนแรง หรือหากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงมาก ศูนย์มีอำนาจที่จะแยกคู่สามีภรรยาออกจากกันได้ ดังนั้น ศูนย์จึงมีบทบาทในทางกฎหมายเพิ่มเข้ามา การขับเคลื่อนศูนย์นี้จึงต้องใช้เวลา เพื่อเพิ่มกำลังคนในการอบรมพัฒนาให้มีความพร้อม

Advertisement

น.ส.รัชดากล่าวว่า ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงเห็นว่าการออกพ.ร.ก.ชะลอการใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และขณะที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว ขอชะลอการใช้ไปก่อนนั้น จะมีการใช้กฎหมายฉบับเดิม คือพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรง พ.ศ.2550 ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นฉุกเฉิน เพราะหากให้กฎหมายฉบับดังกล่าวบังคับใช้ไป โดยที่เจ้าหน้าที่ยังไม่มีความพร้อม แล้วเกิดใช้อำนาจในทางที่ผิด เจ้าหน้าที่ก็จะถูกฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image