คนละเรื่องเดียวกัน?! เศรษฐกิจแย่ ต้องแก้รธน.

หมายเหตุ – ความคิดเห็นต่อกรณีพรรคฝ่ายค้านจัดเสวนารับฟังความคิดเห็น “ความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เวทีแรกที่ จ.เชียงใหม่ โดยมีแกนนำพรรคเพื่อไทยระบุตอนหนึ่งว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงเกิดขึ้นจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมา เพื่อให้รัฐบาลชุดนี้ได้สืบทอดอำนาจ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ก็แก้ปัญหาปากท้องประชาชนไม่ได้

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

เรื่องของเศรษฐกิจกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่อยากใช้คำว่าเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กัน เป็นผลมาจากรัฐบาลชุดก่อนหน้าด้วย ประเด็นที่ 1 เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่ไม่ค่อยได้รับความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากภายนอก ในการทำการค้าและการทำธุรกิจ ประเด็นที่ 2 ที่โยงมาถึงรัฐบาลชุดนี้ คือ ถึงแม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ว่ามาจากกระบวนการที่ถูกวางเอาไว้จากกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงมีผลสัมพันธ์กับปัญหาทางเศรษฐกิจในภาพรวม นักธุรกิจและนักลงทุนน่าจะรู้ดีว่ารัฐบาลชุดนี้มีความสัมพันธ์อย่างไรกับชุดที่ผ่านมา และความสัมพันธ์นี้เป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญ จึงมีความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาเศรษฐกิจกับปัญหาทางการเมืองที่โยงใยข้องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย อาจจะดูไม่เหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน แต่มีที่มาที่ไปที่สัมพันธ์กัน

Advertisement

หลักสำคัญที่อยากให้พิจารณาคือ เราต้องมองว่าเศรษฐกิจภาพรวมของไทยพึ่งพาการส่งออกและการลงทุน ไปพันกับต่างประเทศ ทุกวันนี้ต่างประเทศถ้าหากจะทำการค้าการขายหรือสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ประเทศนั้นจะต้องมีลักษณะการปกครองแบบประชาธิปไตย นี่คือหลักการสากลทั่วไป เป็นประเด็นที่ 1 แต่รัฐบาลของเราขณะนี้ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2557 ความไม่เชื่อมั่นจึงเกิดขึ้นก่อน ส่งผลให้การลงทุนและการส่งออกชะลอตัว ทั้งนี้เกิดจากปัญหาการเศรษฐกิจการเมืองร่วมด้วย ทั้งจากปัญหาการเมืองโลกระหว่างสหรัฐและจีนที่มาพัวพันกับปัญหาการเมืองของเราซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2557 และคนกลุ่มนี้ดันมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับเพื่อการสืบทอดอำนาจ จึงโยงใยสร้างความพัวพันของปัญหาเศรษฐกิจต่อมา ทางออกจึงเห็นด้วยกับหลายฝ่ายว่าความจริงเรื่องนี้เราสามารถทำพร้อมกันได้ คือแก้ปัญหาเศรษฐกิจกับเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เวลาเรียกร้องปัญหาประเทศ อยากให้คนไทยมองเห็นปัญหาภาพรวมระหว่างเศรษฐกิจกับการเมืองที่ตีคู่ขนานกันไป เพราะเศรษฐกิจกับการเมืองสัมพันธ์กันในเชิงโครงสร้าง เราสามารถแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กันได้ แต่ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ อยากให้แก้ไขเพื่อนำไปสู่การร่างใหม่มากกว่า ตอนนี้การแก้ไขเป็นไปได้ยากมากเพราะมีกระบวนการว่าจะต้องมีการร่วมมือกับ ส.ว. โอกาสแทบเป็นศูนย์ ที่ ส.ว.จะเห็นคล้อยตามกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากการกดดันทางสังคม ขอให้เรานึกถึงบรรยากาศการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ตอนนั้น ส.ส.จำนวนมากก็ไม่เห็นด้วยทำให้สังคมออกมากดดันเช่นกัน ถ้าหากวันใดวันหนึ่งสังคมกดดัน มีข้อเรียกร้องว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา จะต้องมีการแก้และนำไปสู่การร่างใหม่

ถามว่าการร่างใหม่จะร่างอย่างไรที่ก้าวข้ามพ้นปัญหาการเมืองแบบเดิม สิ่งที่สำคัญคือหากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น ต้องมีการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐกับสังคมเสียใหม่ ที่ผ่านมาเราจะให้น้ำหนักอยู่ที่การวางกลไกรัฐบาล นิติบัญญัติ และตุลาการเท่านั้น โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับที่มาของ ส.ส. ที่มาของรัฐมนตรี และ ส.ว. อยากให้กระบวนให้น้ำหนักมากกว่านั้น คือ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การกระจายความมั่นคง เรื่องหลักประกันในชีวิต เน้นไปที่สังคมและทำให้รัฐมีอำนาจอย่างจำกัด เพื่อเพิ่มอำนาจของสังคมมากขึ้นในรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป ถ้ามีการร่างใหม่เกิดขึ้นจริง

Advertisement

ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ปัญหาเศรษฐกิจกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่เชื่อมโยงขนาดนั้น ความจริงเป็นเรื่องของความสามารถในการบริหารของรัฐบาลมากกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับตัวรัฐธรรมนูญเอง แต่ในเรื่องของแนวทาง การกำหนดนโยบาย เช่น นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การแจกเงินให้คนไปเที่ยว หรือใช้จ่าย ส่วนตัวมองว่าความจริงมีวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น การลงทุนของภาครัฐในส่วนโครงสร้างพื้นฐานที่อาจจะเป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาวมากกว่า อย่างเช่น ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลก็เน้นลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เพราะนำมาสู่การจ้างงานและช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไปในตัว ฉะนั้นจึงมองว่า อยู่ที่การดำเนินนโยบายนของรัฐบาลว่าเป็นประโยชน์ในภาพรวมแค่ไหน

เรื่องการให้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้ามองอีกมุม และเอาเงินจำนวนนั้นมาลงทุนสร้างโรงพยาบาลเพิ่มก็จะได้ประโยชน์กับคนหมู่มากและจะเกิดการจ้างงานในระดับท้องถิ่นด้วย นำมาซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณก็สำคัญเช่นกัน การใช้งบประมาณด้านการทหารที่ยังคงสูงอยู่ก็ไม่ได้มีความจำเป็นมากนักสำหรับประเทศไทยในขณะนี้ ความจริงงบประมาณเรามีมากมายที่จะลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานในสภาวะที่เราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจจะต้องใช้เงิน ซึ่งเงินเหล่านั้นถูกใช้ไปในด้านความมั่นคงค่อนข้างมาก ดังนั้น วิสัยทัศน์ และความสามารถในการบริหารจัดการเศรษฐกิจเป็นประเด็นหลักมากกว่าที่จะเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญโดยตรง

ณ ตอนนี้ปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยคือจุดร่วมกัน รัฐธรรมนูญของไทยมีปัญหาหลายอย่าง เช่น เรื่องที่มาของ ส.ว. หรือการให้อำนาจกับ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ส.ว.ยังมีบทเฉพาะกาลให้อยู่ถึง 5 ปี เท่ากับมีสิทธิเลือกนายกฯอีก ถ้ารัฐบาลอยู่ครบวาระ คือหนึ่งตัวอย่างของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญมองว่าเป็นสิ่งที่ทำไปได้ด้วยกัน ไม่ได้หมายความว่าต้องเลือกทำด้านเศรษฐกิจแล้วต้องหยุดเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะในบริบทของรัฐบาลก็มีคนทำงานด้านเศรษฐกิจอยู่แล้ว ในสภาก็มี ส.ส.มากมาย สามารถแบ่งเป็นกรรมาธิการในการทำงานแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และในส่วนทำงานเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เราต้องพัฒนาประเทศไปพร้อมกัน ทั้งพัฒนาประชาธิปไตยและเศรษฐกิจ จะเป็นประโยชน์กับประเทศในภาพรวมมากกว่า ตอนนี้แม้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับหลายประเทศยุโรปจะดีขึ้น แต่ประเทศเหล่านั้นยังตั้งข้อกังวลต่อความไม่เป็นประชาธิปไตยของไทย ฉะนั้น เพื่อที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการเจรจาทางการค้า โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรปที่รัฐบาลต้องการจะเจรจาการค้าเสรี (FTA) หลังจากที่มีการยุติไปหลังเกิดรัฐประหาร ถ้ารัฐบาลทำทั้ง 2 อย่างไปพร้อมกัน จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยรวมมากกว่า และยังเป็นประโยชน์กับรัฐบาลเอง มากกว่าที่จะบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะยุโรปมีเงื่อนไขเรื่องความเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ถ้ารัฐบาลสามารถพิสูจน์ได้ว่าทำสิ่งเหล่านี้ได้พร้อมกัน

ถ้าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ที่ว่าจะแก้ประเด็นไหน ถ้ารัฐบาลไม่ได้มองเรื่องประชาธิปไตยเป็นสำคัญ ก็อาจจะไม่ได้นำมาซึ่งการแก้ไขในส่วนที่หลายคนเห็นว่าสำคัญจริงๆ เพราะรัฐธรรมนูญควรจะเป็นกฎหมายสูงสุดที่เป็นหลักประกันว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน คือหลักการของประชาธิปไตย เช่นเงื่อนไขที่มาของ ส.ว. อำนาจของ ส.ว.ที่ควรจะลดลงไป

ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย

เกี่ยวตรงไหน การหาเรื่องกันไปมามากกว่าที่จะทำให้เศรษฐกิจแย่ คือขณะนี้ต้องมาห่วงเรื่องปากท้องมากที่สุด ต้องดูแลตั้งแต่เศรษฐกิจฐานรากขึ้นมาก่อน ส่วนเรื่องอื่นเอาไว้ก่อน รัฐธรรมนูญก็เหมือนกฎหมายใหญ่สุดของประเทศ คงไม่มีใครบอกได้ว่าตรงไหนที่มันไม่ดี คนที่ร่างรัฐธรรมนูญก็อาจจะมีเจตนาดีหรืออาจจะมีอะไรแอบแฝงก็ไม่มีใครรู้ เพียงแต่ว่าต้องเข้าใจว่ามีเจตนาดีไว้ก่อน เพราะกฎหมายออกมาแล้ว บังคับใช้แล้ว ต้องทำให้เหมือนกับที่รัฐธรรมนูญต้องการทุกอย่างไปก่อน หากมีปัญหาอะไรก็เก็บไว้ค่อยวิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้ง

เรื่องที่ต้องเร่งแก้ปัญหาแบบด่วนๆ คือ ปัญหาปากท้อง แต่หากจะโยงว่ารัฐธรรมนูญยังไม่ดีทำให้เศรษฐกิจแย่ ถามว่าเกี่ยวข้องกับตรงไหน มองว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน ในส่วนของการตั้งแง่ว่ารัฐธรรมนูญมีการปรับแก้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จริงๆ หากดูรัฐธรรมนูญในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการให้อำนาจหรือเลือกประโยชน์ให้กับการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่แล้ว ถ้าจะมองแบบนั้นก็มีในทุกรัฐธรรมนูญ แต่จะมากหรือจะน้อยก็เท่านั้นเอง

จึงบอกว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ที่จะนำมาอ้าง แต่ถ้าจะมีการแก้ตามระบบก็ค่อยว่ากันไป ปัญหาที่พูดคุยกันในตอนนี้มันเหมือนอยู่ในช่วงเริ่มต้น เพราะทะเลาะกันไปมา ปัญหาที่รออยู่เป็นปัญหาเรื่องด่วนที่ต้องแก้ไขมากกว่าการที่จะไปแก้รัฐธรรมนูญ คือถ้าปากท้องยังไม่ดีจะไปพูดถึงการแก้ไขกฎหมาย มันจะยิ่งไปกันใหญ่ ปัญหาหลักๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไขทั้งเรื่องปากท้อง การไม่มีกิน ไม่มีเงิน จะอดตายกันอยู่แล้ว จะมาพูดถึงว่าจะไปแก้กฎหมาย เช่น จะไปแก้สะพานใหม่ทุบสะพานตรงนี้ แล้วสร้างมันให้สวยกว่าเก่าดีไหม มันเป็นคนละเรื่องกัน แต่หากมาพูดกันในตอนที่ทุกคนมีกินมีใช้มาแล้ว ค่อยมาคุยกันในเรื่องของอะไรที่ยังไม่สมบูรณ์แบบ ยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ค่อยมาปะมาแก้กันอีกครั้ง อันนั้นเห็นด้วย ขอให้ผ่านระยะตรงนี้ไปก่อน ขณะนี้กำลังจะตายกันหมดแล้ว ภาคธุรกิจก็คิดกันแค่ว่าจะเอาตัวรอดจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันอย่างไร

ถ้าถามว่ากฎหมายไทยทำเพื่อเอื้อให้กับคนในระดับสูงหรือนายทุนเพียงอย่างเดียวหรือไม่ก็คงเป็นทำนองนั้น แต่อะไรที่ทำได้ก็ให้ทำไปก่อน ยังมีอีกหลายโครงการที่ไม่สามารถออกมาได้ เนื่องจากงบประมาณล่าช้าออกไป มีแต่เงินเดือนราชการที่ยังออกมาได้ตามปกติ หากเป็นแบบนี้เศรษฐกิจจะกระตุ้นได้อย่างไร ถ้าบอกว่ากฎหมายขัดขวางจะอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เรื่องกฎหมายให้เอาไว้ก่อน เอาสิ่งที่เป็นไปได้ในขณะนี้มาทำให้เกิดดอกออกผลก่อน เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินไปข้างหน้าต่อได้ ถ้ามัวแต่จะไปแก้กฎระเบียบตรงนี้กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้แล้ว เพราะกฎหมายแก้เร็วไม่ได้ เนื่องจากมีกระบวนการของตัวเอง เอาสิ่งที่มีอยู่ทำให้คืบหน้าก่อนอย่างน้อยที่สุด 30-40% ก็ยังดี แล้วค่อยกลับมาดูกันใหม่

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

รัฐธรรมนูญไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการเมือง แต่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่มีเนื้อหาครอบคลุมทุกภาคส่วน รวมถึงระบบเศรษฐกิจด้วย เนื้อหาด้านเศรษฐกิจในรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญไม่แพ้ด้านการเมืองหรือด้านสังคม เพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางและอนาคตของเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนตัวค่อนข้างพอใจกับรัฐธรรมนูญนี้ เพราะสามารถตอบโจทย์ของประเทศได้ในหลายๆ ด้าน แต่มีอีกโจทย์ใหญ่ที่รัฐธรรมนูญนี้ยังไม่ตอบ คือ การทำให้เศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน การทำให้เศรษฐกิจหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง การทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งนี่คือข้อเสียหลักของรัฐธรรมนูญนี้

มองว่าเนื้อหาด้านเศรษฐกิจมีน้อยเกินไป อาจเป็นเพราะการทำเศรษฐกิจให้เข้มแข็งไม่ได้เป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีทางที่ประเทศจะเจริญก้าวหน้าได้อย่างมั่นคง ไม่มีทางที่ความเหลื่อมล้ำจะลดลงได้ ถ้าไม่มีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและประชาชนมีรายได้ที่ดี

ควรจะระบุในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนว่ารัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกๆ ด้าน เช่น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมภาคการผลิต การค้า การบริการ ตลาดเงิน ตลาดทุน ให้แข่งขันได้บนเวทีโลก ยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ เป็นต้น และควรระบุให้ชัดในภาคปฏิรูปด้วย ว่ารัฐต้องทำอะไรและอย่างไรเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

เสนอ 2 ส่วนเพิ่มเติม คือ 1.รัฐต้องส่งเสริมและดำเนินการให้ประชาชนทุกระดับมีความรู้ทางการเงินและการลงทุนที่เพียงพอ เพราะคนไทยมีความรู้ทางการเงินน้อยมากโดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจน ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมมากมาย เช่น การใช้จ่ายเกินตัว การถูกหลอกทางการเงิน ฯลฯ และยังเป็นต้นเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งกระจุกตัว

2.รัฐต้องทำให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในระดับสากล เพราะในปัจจุบัน ตลาดทุนคือแหล่งระดมทุนที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของประเทศ และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอีกมาก จึงต้องมีการกำหนดแนวทางการปฏิรูปตลาดทุนที่ชัดเจนเพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง ความโปร่งใส และประสิทธิภาพ และเพื่อช่วยทำให้ภาคธุรกิจไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่ถูกและมีคุณภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image