โอกาสของไมโครเอสเอ็มอี ทางรอดยุคเทคโนโลยีดิจิทัล

โอกาสของไมโครเอสเอ็มอี ทางรอดยุคเทคโนโลยีดิจิทัล

หมายเหตุ – สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกระทรวงการต่างประเทศ จัดงานประชุมวิชาการ หัวข้อ “ASEAN MSMES in the Digital Era: Challenges and Opportunities” โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษ และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานในประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ทั้งภาครัฐและเอกชน นักวิชาการภาคประชาสังคม และผู้แทนจากประเทศสมาชิกจี20 เข้าร่วม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ในนามของรัฐบาลเชื่อมั่นว่า ผลการประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายในการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการในภูมิภาคที่ยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ในส่วนของประเทศไทยได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเจตนารมณ์นี้สอดคล้องกับประเด็นเศรษฐกิจในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือการเตรียมความพร้อมของอาเซียนสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างยั่งยืนในทุกมิติ โดยในปี 2561 ประเทศไทยมีผู้ประกอบการรายย่อย หรือไมโครเอสเอ็มอี จำนวน 3 ล้านราย มีการจ้างงานประมาณ 14 ล้านคน

Advertisement

สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในอาเซียน ภาครัฐควรใช้ประโยชน์จากดิจิทัลที่เอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ ได้แก่ 1.สนับสนุนการเข้าสู่ระบบดิจิทัล โดยอาเซียนได้พยายามสนับสนุนให้วิสาหกิจรายย่อยจดทะเบียน เพื่อเข้าสู่ระบบและลดขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบ ให้ทุกคนมีโอกาสเข้าเทียมกัน 2.ภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศทางการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่วิสาหกิจรายย่อย ในการเข้าถึงแหล่งเงิน อาจรวมถึงมาตรการที่ส่งเสริมให้บุคคลและวิสาหกิจรายย่อยเข้าสู่ระบบธนาคารออนไลน์มากขึ้น และใช้เครื่องมือที่เป็นนวัตกรรม 3.ภาครัฐควรส่งเสริมการเข้าถึงบริการในการพัฒนาธุรกิจในตลาดโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์จากศูนย์เทคโนโลยีประยุกต์ การริเริ่มเครือข่ายชุมชนเทคโนโลยี หรือแรงจูงใจในการถ่ายโอนความรู้ และ 4.ภาครัฐควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะและความรู้ที่เกี่ยวข้องสำหรับประชาชน เพื่อช่วยในการใช้ดิจิทัล เนื่องจากประชาชนที่ต้องการใช้ดิจิทัลจะต้องมีทักษะที่ต่างออกไป การส่งเสริมทักษะดิจิทัลในโรงเรียน มหาวิทยาลัย และการศึกษาตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ทั้งนี้ กลุ่มประเทศอาเซียนได้ก่อตั้งร่วมกันมากว่า 50 ปี ทุกประเทศพยายามที่จะร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น ซึ่งความร่วมมือระหว่างประชาคมอาเซียนไม่ได้หยุดอยู่ที่รัฐต่อรัฐ แต่ได้ขยายไปถึงภาคเอกชน เป็นการรวมตัวที่สำคัญ ซึ่งการรวมตัวและร่วมมือกันของภาคเอกชนนี้ จะเป็นกลไกสำคัญให้ประชาคมอาเซียนมีความแน่นแฟ้น และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างเป็นรูปธรรม

ทุกคนรู้ถึงปัญหา ข้อขัดข้อง และอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชน ปัญหาสำคัญคือความร่วมมือผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ว่ามีความเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะการนำเข้าสู่ระบบ จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการมีความตื่นตัวใช้ดิจิทัลประกอบธุรกิจ ซึ่งจะลดเวลาและค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก โดยภาครัฐสามารถสนับสนุนโอกาสและเงินทุนให้เกิดการพัฒนา

Advertisement

สิ่งที่ต้องการให้ทุกคนช่วยกัน คือการหาวิธีกระตุ้น สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านั้น มิเช่นนั้นจะพัฒนาไม่ทันการณ์ เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศ เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจสินค้าส่งออกเป็นจำนวนกว่า 70% และผมอยากให้ทุกคนให้ความสำคัญแก่ไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งจากการที่ได้ไปประชุมทุกเวทีโลก มีการพูดถึงเรื่องนี้โดยตลอด โดยสัญญากันว่าจะทำให้ดีที่สุด ต้องเจริญเติบโตแข็งแกร่งไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ ลดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับประชาชนให้มากที่สุด นั่นคือเจตนารมณ์ของนายกฯ ทุกอย่างหากไม่แก้ไขด้วยการเข้าสู่ระบบ ก็จะแก้ไม่ได้ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ขอฝากในเรื่องนโยบายด้วยว่า นโยบายของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศมหาอำนาจ จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับอาเซียนด้วยกันทั้งหมด

ปรีดี ดาวฉาย
ประธานสมาคมธนาคารไทย

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งอาเซียนหวังที่จะเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล มีการเสริมสร้างพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับภาครัฐและภาคเอกชนในอาเซียนที่จะร่วมมือกันและเสริมสร้างขีดความสามารถของธุรกิจรายย่อย (MSMEs) ให้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ ความท้าทายจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น

ธุรกิจรายย่อยถือว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียน โดยธุรกิจรายย่อยมีการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 43% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของอาเซียน มีการจ้างงานเป็นจำนวนมากหรือ 85% ของการจ้างงานทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจของกลุ่มธุรกิจรายย่อยยังเผชิญกับความท้าทายในหลายๆ ด้าน เช่น เงินทุนที่จำกัด และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล กลุ่มธุรกิจรายย่อยก็มีอุปสรรคบางอย่างในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ เพราะมักต้องใช้เงินทุนสูง รวมถึงการดำเนินงานอาจจะมีข้อจำกัด ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ธุรกิจรายย่อยจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ นอกจากนี้ การที่ธุรกิจรายย่อยขาดแรงงานที่ความสามารถและทักษะด้านดิจิทัลก็เป็นข้อจำกัดในการที่ธุรกิจรายย่อยเช่นกัน

ขณะนี้สมาคมธนาคารไทย มีการศึกษาและดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจรายย่อย รวมทั้งประชาชน นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของธุรกิจรายย่อย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ของสมาคมธนาคารไทย มุ่งเน้น 7 ด้านสำคัญ ได้แก่ การสร้างระบบชำระเงินและธนาคารดิจิทัลตามแผนงานเนชั่นแนล อีเพย์เมนต์ การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนทุกภาคส่วน การสร้างสังคมทางการเงินด้วย และการส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินแก่ภาคประชาชน การยกระดับมาตรฐานจรรยาบรรณธนาคาร การสนับสนุนการทางธุรกรรมการเงินในภูมิภาคให้สะดวกต่อการทำธุรกิจ การพัฒนาด้านบุคลากร และการผลักดันแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะที่เป็นอุปสรรคล้าสมัยหรือยังไม่มีกฎหมายสนับสนุนเพียงพอ เป็นต้น โดยจะขยายความร่วมมือกับภาครัฐ รวมทั้งจากการประชุมหารือร่วมกันในระดับอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ จะช่วยให้สามารถยกระดับการใช้เทคโนโลยีของธุรกิจรายย่อยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะต่อไปได้

อรินทร์ จิรา
ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเชียน

ธุรกิจรายย่อยในอาเซียนต้องตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับการเข้าสู่ยุคการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และแนวทางในการนำเทคโนโลยียุคดิจิทัลมาปรับใช้สำหรับการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนต้องสนับสนุนธุรกิจรายย่อยทางด้าข้อมูลและให้คำปรึกษาในด้านเทคโนโลยี ประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่ผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยประสบ และการเข้าถึงตลาดและการเงินให้แก่ธุรกิจรายย่อย นอกจากนี้ ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย สำหรับการเข้าถึงการเงินทั้งในรูปแบบดั้งเดิมร่วมสมัยและดิจิทัล ซึ่งในส่วนการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน

ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ร่วมกับคณะกรรมการอาเซียนด้านวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม และรายย่อยในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการใช้ดิจิทัลในการประกอบธุรกิจ และจัดทำแนวทางการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในอาเซียน เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อผู้ประกอบการรายย่อย เน้นการสนับสนุนการเข้าสู่ระบบและการใช้ดิจิทัลในการออกสู่ตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะมีการเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image