วงเสวนา ‘ทำไมต้องแก้รธน.’ รุมจวก รธน. 60 ลิดรอนสิทธิปชช.-ทำศก.ตกต่ำ หนุน แก้รธน.เพื่อปชช.

วงเสวนา “ทำไมต้องแก้รธน.” รุมจวก รธน. 60 ลิดรอนสิทธิปชช.-ทำศก.ตกต่ำ หนุน แก้รธน.เพื่อปชช. ด้าน “ช่อ” ปลุก ปชช. ลงถนนอย่างสันติเรียกร้องรธน.ของปชช. ชี้ เป็นสิทธิเสรีภาพที่ทำได้ แต่ต้องไม่มีใครตาย !

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการจัดเสวนา “ตอบโจทย์ประเทศไทย ทำไมต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดย องค์กรตรวจสอบการธำรงค์ไว้ซึ่งหลักนิติธรรม/กลุ่มพลังประชาธิปไตยไร้พรมแดน ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ประธานคณะทำงานการประสานและการมีส่วนร่วมของประชาชนพรรครวมฝ่ายค้านเพื่อประชาธิปไตย (ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน) นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจตุพร พรมพันธุ์ ประธาน นปช. น.ส. พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พระภิกษุ ปัญญา คุณปญฺโญ สีสัน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) นายพรเทพ ทองหล่อ สภานักพัฒนาประชาธิปไตยภาคอิสาน (สปน.)

นายจตุพร กล่าวว่า เมื่อปี 34 เรามีนายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีคนที่ถูกคัดเลือกจาก รสช. เป็นประธานสภา สถานการณ์เวลานั้นรุนแรงมาก ต่อมาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 40 ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 40 อีกที ซึ่งเวลานั้นเราไม่ได้มีปัญหาทางการเมือง เรามีนายกฯมาจากการเลือกตั้งจึงอยากให้มีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนจริงๆ โดยตอนนั้นพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พยายามทำทุกทางที่จะไม่เห็นด้วย รัฐธรรมนูญปี 40 ทำให้เกิด กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการสิทธิฯ อยู่ได้ 9 ปี ก็เกิดการยึดอำนาจ คนที่เขียนรัฐธรรมนูญปี 40 พอมาเขียน รัฐธรรมนูญปี 50 กลับหลังหันหมดเลย เพราะไม่มีใครคิดว่า พรรคไทยรักไทย (ทรท.) จะชนะถล่มทลาย จนฝ่ายค้านทำอะไรไม่ได้เลย ท้านที่สุดแล้วการล้มพรรคการเมือง คือต้องล้มรัฐธรรมนูญ และการจะล้มรัฐธรรมนูญ คือต้องยึดอำนาจ เพียงแต่ผู้ยึดอำนาจใรนปี 50 ใจกว้างมากกว่าตอนนี้ เพราะตอนนั้นตอนแก้รัฐธรรมนูญผู้ที่ไม่เห็นด้วยสามารถเดินสายแสดงความเห็นได้ ต่อมาได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งอ่อนแอมาก นายสมัคร ชนะมาทุกสนาม แต่ตายคากระทะ นายสมชาย ไม่เคยได้เหยียบทำเนียบ พังคลืนไปหมด ต้องแก้ฐธรรมนูญ โดยภาคประชาชนเสนอรายชื่อเข้าไปเป็นวาระเร่งด่วนลำดับที่ 1 แต่อยู่นาน 3 ปี ไม่มีการพิจารณาอยู่ 3 ปี เนติบริกรที่ร่างรัฐธรรมนูญทำการปรับปรุงรัฐธรรมนูญมาตลอด จนมาถึงตอนนี้ทำให้แก้ไขไม่ได้เลย เพราะจะแก้ต้องอาศัยเสียง ส.ว. ซึ่ง ส.ว. ไม่มีทางมาร่วมโหวตอย่างแน่นอน เรายังจะต้องเจอกันอีกหลายด่าน แม้ฝากรัฐบาลจะเสนอนโยบายแก้รัฐธรรมนูญด้วยก็ตาม เราจึงมองว่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้จะใช้พรรการเมืองนำไม่ได้เด็ดขาด เพราะจะไม่สำเร็จ ต้องใช้เสียงประชาชน การแก้รัฐธรรทนูญปี 60 จะเป็นไปไม่ได้ เราก็ต้องทำให้เป็นไปให้ได้ ประชาชนต้องส่งเสียง ก่อนหน้าแก้รัฐธรรมนูญปี 40 ฝ่ายการเมืองก็ไม่เห็นด้วย แต่ประชาชนเดินหน้า สุดท้ายพรรคการเมืองก็ต้องกลับลำ เพราะประชาชนเห็นชอบกันทั้งแผ่นดินแล้ว ตอนนี้แม้จะยากกว่าตอนนั้น แต่เราต้องการความสำเร็จ ให้ประชาชนนำพรรคการเมืองในการแก้ไข ซึ่งกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญคือ เราต้องอธิบายให้ประชาชนเห็นถึงปัญหาความเดือดร้อน ไม่มียุคใดที่ลำบากขนาดนี้ ปัญหาที่ประชาชนเจอในวันนี้มี 3 อย่าง คือ เจอน้ำท่วม เจอน้ำแล้ง และเจอพล.อ.ประยุทธ์ วันนี้เราจึงต้องลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน

Advertisement

นายจตุพร กล่าวอีกว่า ฝ่ายเผด็จการออกแบบ ฝ่ายประชาธิปไตยถามงป่ามาเจอ เราสู้ไม่ได้ เพราะเขาสืบทอดอำนาจมาอย่างเป็นระบบ เรื่องที่สำคัญคือ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องได้ออกแบบ มากกว่าการได้ 5 หมื่นรายชื่อ คือเราต้องทำให้คนไทยพูดเป็นเสียงเดียวกันให้หมดว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าไม่แก้ คนไทยจะลำบาก และจะเดือดร้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่

นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 60 ร่างโดยคณะรัฐประหารตัวรัฐธรรมนูญจึงมีเงื่อนไข และข้อจำกัดมากมาย เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจเผด็จการ ทำให้ประเทศไทยไม่เป็นระบอบประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่ทำให้ประเทศยังคงอยู่ภายใต้ระบบกึ่งเผด็จการ โดยเผด็จการ เพื่อชนชั้นอนุรักษ์นิยมโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เพื่อให้ตอบสนองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต้องการให้ประเทศไทยอยู่แบบเดิมๆไม่รับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ควรมีการแก้ไขให้สามารถร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเปิดกว้าง และควรร่างโดยตัวแทนประชาชน และนักกฎหมายมหาชน ที่ไม่ยึดติดกรอบอนุรักษ์นิชมแบบเดิมๆ ทั้งนี้ ผลร้ายของรัฐธรรมนูญ 60 ที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดความต่อเนื่องในการบริหารประเทศของคณะรัฐประหาร ซึ่งทำลายความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้การลงทุนจากทั้งใน และต่างประเทศ ลดลงมาโดยตลอด ประชาชนยากจนลงมองไม่ห็นอนาคต นอกจากนี้ รัฐบาลอนุรักษ์นิยมยังจัดงบประมาณเพื่อเป้าหมายของตนเอง โดยมุ่งเน้นการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ การใช้จ่ายเพื่อโฆษณาตนเอง จนภาครัฐมีหนี้มากมายเกือบ 7 ล้านล้านบาทคิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งรัฐธรมนูญ 60 ยังทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เสมอ และได้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับนายทุนขนาดใหญ่ โดยใช้ระบบกฎหมายและกฎระเบียบ ทำให้รูปแบบระบบเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจกึ่งผูกขาด

Advertisement

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ หากทำตามวิธีการเดิมๆจะแก้ไขได้ยากมากจนอาจเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากความเข้มงวดของตัวรัฐธรรมนูญเอง จึงควรมีการรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวให้มาก ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ควรเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้าง มีกรอบคิดสมัยใหม่ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ที่สำคัญต้องมีจำนวนมาตราไม่มาก ไม่มีระเบียบข้อบังคับมากมาย และอำนาจรัฐ ควรมี 3 อำนาจ คือ รัฐสภา รัฐบาล และศาล ซึ่งอำนาจทั้งหมดต้องมาจากประชาชน หากจำเป็นต้องมีองค์กรอิสระก็ให้มีอำนาจลดลง และให้มีเท่าที่จำเป็น

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ทำให้แก้ปัญหาเศรษฐิจไม่ได้ คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เปิดช่องให้ประชาชนเลือกคนมาบริหารประเทศ และแก้ไขปัญหาได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มี ส.ว. ที่มาทำให้อำนาจของพวกเราตรงนี้หายไป ซึ่งหากไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเราก็จะมีเพียงเท่านี้ คือ ได้พรรคเดิม คนเดิมเข้ามาต่อไปอีก ซึ่งตรงนี้มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะไม่มีความยึดโยงระหว่างประชาชนกับรัฐบาล เขาไม่จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชน ผมไปลงพื้นที่หลายจังหวัด ประชาชนในพื้นที่มีการเสนอทั้งเรื่องของการกระจายอำนาจ การสร้างรายได้ให้กับชุมชน ฯลฯ แต่การใช้งบประมาณต่างๆในรัฐบาลชุดนี้กลับคือการนำไปซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์ ไม่ได้ตกมาถึงมือพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้อง หรือการกระจายอำนาจเลย ประเด็นต่อมาคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ที่ยึดโยงกับพี่น้องประชาชนอ่อนแอลง อย่างพรรคพท. วันนี้เราไม่มีส.ส.บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว คนอย่างนายนพดล ปัทมะ คนอย่างนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง คนอย่างนายภูมิธรรม เวชยชัย คนอย่างนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา คนอย่างคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ซึ่งเป็นคนเก่ง ที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่ได้เข้าสภาเลย และต่อไปในอนาคต จะมีพรรคการเมืองขนาดเล็กเกิดขึ้นมากมายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความพยายามที่จะเป็นทางเลือก หรือการสร้างนโยบายเพื่อประชาชน แต่เกิดขึ้นเพื่อเอาเสียงเข้าสภา ต่อไปคงมีพรรคชัยภูมิ พรรคชลบุรี พรรคเพชรบุรี ฯลฯ เพื่อหวังเอาเสียง 2-3 หมื่นเท่านั้น ต่อมาเรื่องที่ผมต้องพูดคือ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ไม่ได้เป็นเพียงแนวทาง แต่ประเทศของเรายุทธศาสตร์ชาติเป็นกฎหมายที่ต้องทำ ซึ่งไม่มีประเทศไหนเขามีอะไรแบบนี้ จริงๆประชาชนจะต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบาย รัฐบาลควรทำนโยบายตามความต้องการของประชาชน แต่ยุทธศาสตร์ชาติคือกฎหมายที่มาครอบการบริหาร รัฐบาลทำอะไรไม่ได้นอกจากทำไปตามกรอบที่กำหนด ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความต้องการของพี่น้องประชาชน เพราะยุทธศาสตร์ชาติได้ตัดสินใจแทนพี่น้องประชาชนไปแล้วพอสมควร และตัดสินใจแทนนานถึง 20 ปี วันข้างเราอาจจะต้องพัฒนาอุตสาหกรรมที่ล้างหลังไปแล้วก็ได้ แต่เราต้องทำเพราะกฎหมายกำหนดไว้ นี่คือพันธนาการที่ผูกพันประเทศไว้ และทำให้นโยบายที่สร้างสรรค์ไม่ถูกนำเสนอเพื่อนำมาขับเคลื่อน ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส

นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า กรอบที่วางไว้ และอำนาจของประชาชนที่ลดลงทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นที่ต้องทำเพื่อประชาชน วันนี้การแก้รัฐธรรมนูญแม้จะเป็นไปได้ยาก แต่ในมุมรัฐศาสตร์การเปลี่ยนแปลงต่างๆเกิดจากประชาชน เสียงของประชาชนยิ่งใหญ่ และสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แม้จะบอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติมาแล้ว แต่ที่ผ่านมาประชาชนได้เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทีส.ว. 250 คน การเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว การคำนวนคะแนนส.ส. ฯลฯ ดังนั้น การเรียกร้องให้ทำประชามติอีกครั้งไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไร เพราะประชาชนได้เห็นสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นจากวันนั้นแล้ว พรรคพท.เรามุ่งมั่นที่จะเดินหน้าทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ประชาชนได้รู้ถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราอาจจะมีกระทำประชามติก่อน 1 ครั้ง เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมอยากให้เราช่วยกันแสดงพลังในตอนนั้น ผมขอเรียกร้องให้พวกเราออกมาร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญที่มาจากพวกเราทุกคน

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวว่า ไม่ว่ารัฐบาลดีแค่ไหนก็ไม่สามารถทำให้ปากท้องของประชาชนดีขึ้น ถ้าไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อให้มีรัฐบาลที่เก่งกาจ แต่หากบริหารประเทศไปเรื่อยๆแล้วถูกรัฐประหาร และมีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อยๆประเทศก็ไปไม่ได้ และเมื่อถึงเวลาจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เราจะเห็นตัวเลขงบบัตรทองเมื่อเทียบกับงบกระทรวงกลาโหม หากเทียบกับรายหัวประชากร 1 คน เมื่อปี 2549 งบบัตรทองอยู่ที่หัวละประมาณ 1,700 บาท ส่วนงบกลาโหมอยู่ที่หัวละ 1,300 บาท พอหลังจากปี 2549 งบทหารทะลุแสนล้านบาทเป็นครั้งแรก และปี 2551 งบทหารแซงหน้างบบัตรทองเป็นครั้งแรก หมายความว่ารัฐบาลพลเรือนให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น การออกนโยบายเอาใจประชาชนจึงไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากรัฐบาลไม่ได้มาจากประชาชน จะเห็นได้ชัดว่างบที่เกี่ยวพันกับคุณภาพชีวิตประชาชนจะลดลง และไปเพิ่มให้กับคนที่มีอำนาจคืองบกลาโหม เมื่อรัฐบาลไม่ได้ยึดโยงประชาชนการบริหารประเทศ การจัดสรรงบประมาณก็ถูกเอาไปรับใช้คนๆนั้นไม่ใช่รับใช้ประชาชน กระทั่งปัจจุบันงบทหารก็มากกว่างบประชาชน และเกิดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจอย่างมากระหว่างประชาชนทั่วไปกับนายทุน

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาตอนนี้พรรคการเมืองเองอยู่ในสภาพลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ผ่านมามีปัญหามากมาย การข่มขู่คุกคามนักการเมือง และผู้สนับสนุนพรรคการเมือง การแสดงสิทธิเสรีภาพทางอินเตอร์เน็ต นักการเมืองฝ่ายค้านถูกจับ ถูกตั้งข้อหาได้ตลอดเวลา อุปสรรคที่พรรคการเมืองเจอทำให้การทำงานเพื่อตอบสนองประชาชนเป็นไปด้วยความยากลำบาก และยังมีการใช้ข่าวปลอม เพราะการทำงานของพรรคฝ่ายค้านเป็นที่พึงพอใจของประชาชน เขาจึงใช้ข่าวปลอมลดความน่าเชื่อถือฝ่ายที่ทำงานให้ประชาชน ดังนั้น การจะทำรัฐธรรมนูญให้กลับมาเป็นของประชาชน โดยยึดโยงประชน เพื่อให้เศรษฐกิจปากท้องดีขึ้น คงใช้พรรคการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ แต่ประชาชนต้องเห็นว่าการต่อสู้ต้องทำโดยประชาชน

“เกิดคำถามจากประชาชนว่า เรียกร้องให้ออกมาประชาชนตายไปเท่าไหร่แล้ว การเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นของประชาชน จัดทำโดยประชาชน และทำเพื่อประชาชน จำเป็นต้องให้ประชาชนออกมา แต่ออกมาแล้วตายก็ไม่โอเค ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองใดมีค่าพอที่เราจะตายเพื่อมัน เราไม่อยากให้มีใครตายเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง แต่เราอยากให้ทุกคนลุกขึ้นมาสู้ ฉะนั้น สิ่งแรกที่เราต้องสู้ในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือสิทธิในการเรียกร้องของประชาชน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเราอยู่ภายใต้ทัศนคติที่ว่ามีม็อบป่วนเมือง มีม็อบต้องมีคนตาย มีม็อบของขายไม่ได้ ต้องไม่ใช่แบบนั้น เพราะการเดินขบวนอย่างสันติเป็นเรื่องปกติในประเทศประชาธิปไตย ประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา อังกฤษ มีการเดินขบวนแทบทุกวันก็อยู่กันได้ และไม่มีใครตาย ทำตรงนี้ให้ได้ และเรียกร้องว่าสิทธิในการอยู่บนถนน เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญของประชาชนเป็นสิทธิที่ทุกคนทำได้ และไม่ต้องตาย ไม่ต้องขัดแย้ง ไม่ต้องทะเลาะกัน ใครอยากให้รัฐธรรมนูญเป็นแบบไหนออกมารณรงค์ ไม่ใช่เฉพาะบนท้องถนน แต่จัดเวทีในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ให้ทุกคนมามีสิทธิพูดว่าอยากได้กฎหมายสูงสุดของประเทศแบบไหน เราทุกคนมีอำนาจที่จะกำหนดว่าจะให้กฎหมายสูงสุดที่ใช้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพเราเป็นแบบไหน” น.ส.พรรณิการ์ กล่าว

น.ส.พรรณิการ์ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญที่เขียนโดยนักกฎหมาย แต่ไม่ได้เขียนขึ้นจากความต้องการ ความทุกข์ยากของประชาชน ไม่ได้มีประชาชนอยู่ในหัวใจก็ไม่มีความหมาย รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ มีเพียงฉบับเดียวคือปี 40 ที่พอจะยึดโยงประชาชน เราต้องทำขึ้นมาอีกครั้ง อย่าคิดว่านักกฎหมายคือผู้คุมการเขียนรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนคือผู้ต้องแสดงออกว่าอยากให้กฎหมายสูงสุดของประเทศระบุเรื่องอะไรไว้ ทั้งนี้ ประชาชนต้องเรียกร้องให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เอาข้อเรียกร้องต่างๆจากเวทีที่ตั้งขึ้นเป็นหมื่นเป็นแสนเวทีใส่เข้าไป ใช้เวลา ใช้ความอดทน แต่จะได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนจริงๆ นี่คือวิธีการที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างสันติ แล้วเราจะได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ มาบริหารประเทศให้ประชาชน

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า วันนี้เราจะมาร่วมกันทำบ้านเมืองให้เกิดสันติภาพ สันติสุข ตนเคยดูแล 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พนุวัฒนธรรม เคยอยู่กระทรวงยุติธรรมที่เจอเรื่องของการฟ้องร้อง ดำเนินคดีกันเพราะความยากจน บางครั้งก็คิดว่า หากเรายังยากจน แล้วจะไปเรียกร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพก็คงเป็นเรื่องที่อยู่ไกล ดังนั้น ในระบอบประชาธิปไตย จะทำให้ประชาชนอยู่ดี กินดี มีความสุข เราต้องทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มองคนเป็นทาสในหลายมาตรา เราต้องลุกขึ้นมาช่วยตัวเอง ต้องเอาประชาธิปไตยกลับคืนมา เรายังมีความคิดที่ผิดพลาด เช่น การมองที่ดินของเป็นทรัพย์สินของรัฐ ทั้งที่ควรเป็นของประชาชน และอีกหลายๆอย่างที่ประชาชนถูกมองเป็นทาส วันนี้เราต้องมีรัฐธรรมนูญที่ดี ต้องทำให้คคนมีการศึกษาที่ดี ทำอย่างไรก็ได้ให้คนกินดีอยู่ดี มีนโยบายที่ดี ทำอย่างไรเกษตรกรจะมีที่ทำกิน คนไร้บ้านจะมีที่อยู่ รัฐเอาที่ดินซึ่งควรเป็นของประชนไปให้คนเช่า ในขณะที่ประชาชนไม่มีสิทธิได้เช่า นนี่เพราะเราไปคิดว่าที่ดินเป็นของรัฐ อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญที่สุด คือ เราต้องมีผู้นำที่ดี ทั้งหมดนี้จะเป็นรูปธรรมได้ เราต้องแก้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญที่ดีไม่ควรให้คนทำรัฐประหารมาร่าง แต่ควรให้ประชาชน กลุ่มคนจากส่วนต่างๆ กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมาร่วมกันร่าง เราต้องมาทำรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดชะตาชีวิตของเราเอง และรับธรรมนูญฉบับนี้จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่คืนสิทธิให้ประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image