ขับเคลื่อนแก้‘รัฐธรรมนูญ’ จุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหน

ขับเคลื่อนแก้‘รัฐธรรมนูญ’ จุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหน

ขับเคลื่อนแก้‘รัฐธรรมนูญ’ จุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหน

หมายเหตุ – เป็นความเห็นของนักวิชาการเกี่ยวกับแนวทาง รูปแบบ โอกาสและความเป็นไปได้ ในความขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

พนัส ทัศนียานนท์
อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อฟังคำให้สัมภาษณ์ของฝั่งรัฐบาลเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่เห็นว่าได้มองเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะประธานสภาเองก็ตอบแนวนี้ ในเมื่อมีความเห็นที่แตกต่างกัน ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องอภิปรายว่ายังไม่จำเป็นต้องรีบศึกษากันตอนนี้ ไปศึกษาเมื่อไรก็ได้ เขาอาจจะพูดในทำนองนี้ แต่ทางฝ่ายค้านต้องยืนยันว่า จำเป็นอย่างไรจึงต้องมีการดำเนินการในเรื่องนี้ ผลสุดท้ายแล้วหากตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องมีการลงมติและลุ้นกันต่อไป

Advertisement

ถ้ามองในแง่กลยุทธ์ในสภา ฝ่ายค้านก็อาจจะเห็นว่าฝ่ายรัฐบาลแพ้ญัตติมา 2 ครั้งแล้ว มีตัวแปรอยู่ก็อาจจะเล็งตรงนี้ แต่หากว่ารัฐบาลยังกุมเสียงข้างมากอยู่ โอกาสที่ฝ่ายค้านจะชนะก็ไม่มี ส่วนโอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมด้วยกับฝ่ายค้านเกินกึ่งหนึ่งนั้น ส่วนตัวไม่เชื่อ หากว่าประชาธิปัตย์ยังไม่กล้าแสดงท่าทีชัดเจนถึงขนาดว่าอยากจะทำแล้ว ประชาธิปัตย์ก็ต้องเล่มเกมในฐานะ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลอยู่ดี

ส่วนท่าที ของ พล.อ.ประวิทย์ก็บ่งบอกว่าไม่ต้องการทำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 12 ของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา คือการศึกษาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นนโยบายที่ประชาธิปัตย์ใช้หาเสียง จึงจำเป็นต้องกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาลไว้ แต่กำหนดอย่างเสียมิได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประโยชน์กับเขา คนที่เข้ามาเป็นรัฐบาลคุมทุกอย่าง ทั้งกลไก รัฐธรรมนูญ เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ หากมีการแก้ไขก็เท่ากับว่าไปลดอำนาจของรัฐบาล

หากวันที่ 13 กันยายนนี้ ญัตติศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมถูกนำขึ้นพิจารณา หากสู้กันจริงๆ รัฐบาลก็น่าจะระดมเต็มที่ ถึงขั้นต้องโหวตกัน แม้จะชนะกันหวุดหวิด เพราะขณะนี้มีพรรคที่ตีตัวออกจากรัฐบาลอีก 1 พรรค และก่อนหน้านี้นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ออกมาแล้ว จึงขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มนี้จะออกมาลงให้ฝ่ายค้านหรือไม่ เป็นของเกมตัวเลข หากฝ่ายค้านโหวตชนะในการประชุมวันที่ 13 กันยายน ก็ตั้งกรรมาธิการและเดินหน้าขับเคลื่อนได้ทันที แต่โอกาสที่ฝ่ายค้านจะชนะอย่างดีที่สุดก็ 50 ต่อ 50 ขึ้นอยู่กับคนที่แปรพรรคออกมาจากรัฐบาล อย่างไรก็ตาม แม้พรรคที่ออกมาเป็นอิสระ 2 พรรค จะลงคะแนนร่วมกับฝ่ายค้านก็ยังไม่พอที่จะชนะฝ่ายรัฐบาลอยู่ดี ฝ่ายค้านต้องมีเกินกว่า 250 เสียงจึงจะชนะได้ ต้องรอลุ้น อาจจะได้เสียงเพิ่มจากประชาธิปัตย์ แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีงูเห่า

Advertisement

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ หรือคิดว่าตัวเองยังอยู่ภายใต้กติกานี้ได้ เพราะหากมองในแง่หลักการ ปัญหาขณะนี้คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ยากมาก ใช้วิธีแก้ปกติแบบแก้รายมาตราไม่ได้ วิธีเดียวที่จะผ่าทางตันได้ คือต้องแก้ไขวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตราที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวด 15 ซึ่งในรายละเอียดต้องอาศัยวุฒิสภาประกอบด้วย เพราะถ้าไม่มีฉันทานุมัติจากฝั่งที่สนับบสนุนรัฐบาลก็ยากจะแก้ไข หากต้องการปลดสลักทางการเมืองที่ส่อแววความขัดแย้งก็ควรจะแก้ไขเพิ่มเติม และมีหลายส่วนที่ควรจะแก้ไข ถ้าจะปรับระบบทั้งหมดต้องกลับไปใช้โมเดลปี 2539 คือการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง จึงจะทำให้เสียงของประชาชนได้รับฟัง

ต้องไม่ลืมว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแม้จะผ่านการทำประชามติ แต่เป็นการทำประชามติแบบปิดปาก คนจำนวนมากคดียังค้างในศาลอยู่

ส่วนว่าควรจะเป็นญัตติที่ดึงกลับมาพิจารณาในการประชุมในวันที่ 13 กันยายนนี้หรือไม่ คิดว่าคนที่ยื่นน่าจะประเมินแล้วว่าเป็นจังหวะที่ควรยื่น แต่ไม่มั่นใจว่าท้ายที่สุดจะได้รับเสียงสนับสนุนขนาดไหน เพราะในการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 211 เมื่อปี 2539 ก็ไม่ง่าย ใช้เวลาถึง 2-3 ปีกว่าจะสร้างฉันทานุมัติให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้

ทางฝั่งวิปฝ่ายค้านคงมั่นใจว่า พรรคประชาธิปัตย์น่าจะร่วมด้วยถึงกึ่งหนึ่ง เพราะเป็นประโยชน์กับประชาธิปัตย์ อย่างน้อยที่สุดก็แสดงให้เห็นว่าประชาธิปัตย์ยังยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย เห็นโอกาสการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ แต่ถ้าพูดกันตามจริง กลไกตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐบาลดูเหมือนจะไม่ทำงาน โดยเห็นปัญหาในหลายส่วน เช่น ปัญหาคุณสมบัติของตัวบุคคลที่ต่ำกว่าปี 2535 ด้วยซ้ำ จึงมีหลายมาตราที่ต้องแก้ เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น การโหวตรัฐธรรมนูญปี 2560 ไปโยงคำถามพ่วงว่า ให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ เช่นนี้ ไม่ถูกต้อง ผิดหลักการประชาธิปไตยเพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ที่มาก็มีส่วนสีเทามาก ไปดูกรรมาธิการ ส.ว. ประธานเป็นทหารกี่คน และจะบอกว่ากระจายทุกภาคส่วนได้อย่างไร นี่เป็นสัญญาณสะท้อน เป็นตัวบ่งชี้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ระบบการเมืองดูพิกลพิการ

ปัญหาอีกประการคือ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะเอาแบบไหน เพราะยังไม่เห็นภาพอยู่ดี กระแสยังไม่แรงพอ แต่ถามว่าถ้าย้อนกลับไปเอาโมเดลปี 2540 แล้วแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนที่รู้สึกว่าแปลกประหลาด เช่น ที่มาของ ส.ว. ทำให้ชวนคิดว่าต้องแก้ แต่ประเด็นใหญ่เช่นนี้ ต่อให้ผ่านก็ได้แค่ในระดับของการตั้งคณะกรรมาธิการ ซึ่งยังไม่พอ ต้องอาศัยฉันทานุมัติไม่เพียงแต่ฝ่ายการเมือง แต่รวมถึงฝ่ายประชาชนด้วย อาจจะต้องพูดกันอีกสักพักว่า ประเด็นที่อยากจะให้แก้ไขคืออะไร

ก่อนหน้านี้ ท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็บอกว่าให้ห่วงเรื่องน้ำท่วมก่อนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ค้ำฟ้าขนาดไหน แต่ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ควรจะถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนหรือไม่ เพราะรัฐบาลเองก็อยู่ลำบาก เสียงปริ่มน้ำแบบนี้

ไพสิฐ พาณิชย์กุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แนวโน้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ต้องมาดูนโยบายที่แถลงกันไว้กับสังคมว่า จะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง และขึ้นอยู่ที่รูปแบบวิธีการ ขณะนี้อยู่ในช่วงที่ความเห็นไม่ตรงกัน จึงเป็นประเด็นเชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่วนที่จะมีปัญหาและความวุ่นวายหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าที่ผ่านมาเรามีบทเรียนให้เห็นแล้วว่า ไม่ควรเดินไปสู่การเรียกร้องบนท้องถนน ดังนั้นแนวโน้มของการแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ เชื่อว่าจะไม่มีความวุ่นวายหรือรุนแรง ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติของความเห็นต่างตามกระบวนการประชาธิปไตย เพราะทุกฝ่ายต่างมีบทเรียนกันมาแล้วและคงไม่ไปถึงจุดดังที่ว่า

ส่วนที่ว่าแล้วจะแก้มาตราไหน ก็ต้องมองใน 3 ส่วน คือส่วนแรกรื้อใหม่ทั้งหมด ส่วนที่สองคือทำให้เกิดกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ที่จะนำไปสู่การแก้ไขอีกขั้นหนึ่ง นั่นคือรูปแบบของการได้มาของ สสร. และวาระหรือญัตติเฉพาะ ซึ่งคือกลไกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และส่วนสุดท้ายคือ ประเด็นที่สังคมเรียกร้องให้แก้ไข คือ เครือข่ายปฏิรูป การกระจายอำนาจ การถือครองที่ดิน และสิทธิต่างๆ ที่เป็นจริงได้

ส่วนแรกและส่วนที่สองเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองเรียกร้องกันอยู่ในขณะนี้ แต่ส่วนที่สามคือความต้องการเปลี่ยนแปลงการศูนย์รวมอำนาจ โครงการทางเศรษฐกิจและสังคมตามที่ควรจะเป็น และหวังว่ากลไกลของรัฐธรรมนูญจะปลดล็อกได้ แต่ทิศทางความเป็นไปได้ในการแก้ไข คงเดาลำบาก เพราะขณะนี้เป็นช่วงของการต่อรองกันอยู่

ปดิพัทธ์ สันติภาดา
ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน
และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร

ในความคิดส่วนตัวมองว่าควรต้องแก้ไขทั้งฉบับ ที่มาของกระบวนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญไม่ถูกต้อง แต่มีการผูกเงื่อน จนแก้ไขไม่ได้ บิดเบือน ไร้ประสิทธิภาพ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้ได้รัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ การดำเนินนโยบายต่างๆ รวมทั้งเศรษฐกิจก็แย่ไปด้วย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้ได้ผลการเลือกตั้งที่ไม่มีมาตรฐาน เต็มไปด้วยข้อขัดแย้ง ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้อำนาจที่มาจากการแต่งตั้งให้มีสูงมาก และอำนาจเหล่านั้นส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เกิดรัฐราชการรวมศูนย์ ที่ทำให้อำนาจ ทุน งบประมาณ ไม่กระจายไปสู่การพัฒนาทั่วประเทศ เอื้อกลุ่มทุนบางกลุ่ม รวยกระจุก จนกระจาย ไม่มีอะไรคานได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้พวกเขาเป็นรัฐบาล กำลังดำเนินนโยบายแจกเงิน เทงบไปในส่วนที่ไม่ส่งผลดีต่อโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่ได้ก่อให้เกิดงาน เกิดการลงทุน จนประเทศใกล้ล้มละลาย และต่างประเทศขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล

ธีรวิทย์ ภิญโญณัฐกานต์
นักวิชาการอิสระ

ในช่วงนี้หลายพรรคการเมืองกำลังพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน ที่มีพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่เป็นแกนหลัก ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลมีพรรคประชาธิปัตย์ที่ชูเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น ส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่แก้ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นตัวฉุดทำให้ประเทศถอยหลังลงคลอง โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย รวมถึงเรื่องของที่มา ส.ว.ด้วย

แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องฝ่าด่านความเห็นชอบจาก ส.ส. และ ส.ว.ก่อน ซึ่งในส่วนของ ส.ส.อาจจะมีเสียงสนับสนุนมากหน่อย แต่ในส่วนของ ส.ว.น่าจะผ่านไปได้ยาก อีกทั้งยังต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารายละเอียด ว่าจะแก้ไขมาตราใดบ้าง ต้องใช้เวลามากพอสมควร เผลอๆ อาจจะไม่ทันในช่วงอายุรัฐบาลชุดนี้ด้วยซ้ำ ดังนั้น ต้องวัดใจว่ารัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจจริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเปล่า หรือจะเตะถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ ซึ่งประชาชนทั้งประเทศก็กำลังจับตาดูอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image