ใบปริญญาของนักการเมือง : โดย ปราปต์ บุนปาน

ยุคสมัยหนึ่ง คุณภาพของนักการเมืองไทยเคยถูกชี้วัดด้วยระดับการศึกษา

ถึงขั้นมีระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ว่า ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี

อันเนื่องมาจาก “ฝันร้าย” ที่ภาพเหมารวมว่าด้วย “นักการเมืองโกงกิน-ด้อยการศึกษา” ถูกผูกโยงเข้ากับการรับมือระบบเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์อันล้มเหลว กระทั่งก่อให้เกิด “วิกฤตต้มยำกุ้ง”

แล้วต่อมา ภายในเวลาอันรวดเร็ว “ส.ส.หน้าเดิม” หลายต่อหลายราย ต่างก็ครอบครองวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี โท หรือเอก กันแน่นเต็มสภาไปหมด

Advertisement

ดูเหมือนจะไม่มีใครเคยชี้วัดเอาไว้อย่างแน่ชัดว่าวุฒิการศึกษาที่เพิ่มงอกขึ้นมา เกี่ยวพันหรือแปรผันกับความรู้-คุณภาพของนักการเมืองเหล่านั้นหรือไม่? อย่างไร?

ข้ามมาถึงอีกช่วงเวลาหนึ่ง ปริญญาบัตรของ ส.ส. ก็เริ่มด้อยความสำคัญลง เพราะ “นักการเมือง” (ไม่ว่าจะมีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพ) ถูกกีดกันออกจากสมการทางการเมือง

สำหรับฟากความคิดหนึ่ง นักการเมืองสมัยใหม่ที่มีความคิดล้ำหน้าเกินไป (อาจเพราะเรียนมามาก?) คือกลุ่มคนที่ควบคุมได้ยาก ไม่เหมาะสมกับสังคมไทย

Advertisement

ขณะเดียวกัน เมื่อการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยมิใช่หมุดหมายใจกลางของสังคมการเมือง นักการเมืองไม่ใช่ชนชั้นนำกลุ่มแรกๆ ที่สามารถกำหนดทิศทางประเทศได้

วุฒิการศึกษาของนักการเมืองจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่ต้องให้ความใส่ใจหรือให้ความสำคัญมากมายนัก

ลักษณะอาการข้างต้นได้ผลักดันให้ผู้คนในอีกฟากฝั่งความคิดซึ่งสนับสนุนระบบเลือกตั้ง กำหนดนิยามของ “นักการเมืองคุณภาพ” ขึ้นมาใหม่

กล่าวคือ ตราบใดที่นักการเมืองผู้นั้นได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ได้รับเลือกตั้งจากคะแนนเสียงบริสุทธิ์ของประชาชน พวกเขาย่อมเป็น “ผู้แทนราษฎรที่มีคุณภาพ” ตามระบอบประชาธิปไตย

โดยไม่ต้องคำนึงถึงพื้นเพการศึกษาเล่าเรียนของนักการเมืองเหล่านั้น

การต่อสู้ทางความคิดทำนองนี้ดูจะตกทอดมาถึงสังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบัน

สังคมการเมืองที่ไม่ได้มุ่งความสนใจว่า ส.ส.คนไหน มีการศึกษาต่ำกว่าหรือสูงกว่าปริญญาตรี

ส.ส.บางรายอาจจบปริญญาเอก แต่ผู้คนกลับประเมินคุณภาพของเขา จากประสบการณ์การต่อสู้ที่หล่อหลอมตัวตนทางการเมืองของผู้แทนฯ คนนี้ขึ้นมา จากการยืนหยัดในระบบเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตย จากลีลาการอภิปรายที่กระชับตรงเป้าหมาย

มากกว่าจะถกเถียงกันว่าควรมีสถานะ “ดร.” นำหน้าชื่อ ส.ส.คนดังกล่าวหรือไม่

เช่นเดียวกันกับบรรดานักการเมืองรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ซึ่งมุ่งมั่นแสดงตัวตนผ่านฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญชำนาญการ” ในประเด็นเฉพาะด้านได้อย่างลุ่มลึกและน่าตื่นเต้น โดยที่หลายคนไม่ได้จบปริญญาเอก

นี่คือภาพลักษณ์ของ “นักการเมืองผู้มีความรู้” ซึ่งมิได้ผูกพันอยู่กับวุฒิการศึกษา

ดังนั้น ระดับการศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่โตสำหรับสังคมการเมืองไทยอีกต่อไป

แต่เป็นจุดยืน ความรู้ความสามารถ (ที่ไม่เกี่ยวข้องกับปริญญาบัตร) การทำให้ประชาชนเชื่อถือไว้วางใจ ตลอดจนความจริง (ข้อเท็จจริงและความจริงใจ) ต่างหากที่สำคัญ

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image