สถานีคิดเลขที่ 12 : 13 ปี 19 กันยาฯ : ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

กําหนดการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติครั้งล่าสุด วันที่ 18 กันยายน บังเอิญมาอยู่ติดๆ กับวันครบรอบเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549 จึงชวนให้คิดถึงความหลังเมื่อ 13 ปีก่อน

ตอนนั้นการเมืองพัฒนามาจนถึงขั้นมีสองพรรคใหญ่ชัดเจน และคล้ายกับญี่ปุ่นคือพรรคใหญ่ที่สุด แอลดีพี เป็นรัฐบาลแทบจะทุกสมัย

แต่ก็มีช่วงแอลดีพีเสื่อมความนิยม จนพรรคดีพีเจล้มยักษ์ได้ในการเลือกตั้งทั้งสภาบน-สภาล่าง และพลิกมาเป็นรัฐบาลช่วงปี 2552-2555

แต่ประเทศไทยไม่มีประสบการณ์แบบนั้นเลย ตลอดช่วง 13 ปีมานี้ ฝ่ายค้านไม่เคยชนะการเลือกตั้งแล้วพลิกมาเป็นรัฐบาล มีแต่ใช้ปฏิบัติการพิเศษอันหาความภาคภูมิใจและความสง่างามไม่ได้

Advertisement

ความจริง ช่วงปี 2548 รัฐบาลพรรคใหญ่เริ่มเสื่อมความนิยมแล้ว ถ้าปล่อยให้เลือกตั้งกันตามปกติ โอกาสฝ่ายค้านพลิกชนะก็ใช่ว่าจะไม่มี

แต่ด้วยสังคมเจ้าใหญ่นายโต จึงมีคนเอาแต่ใจอยู่จำนวนมากที่ชอบเอาชนะ ใช้ความได้เปรียบในทุกด้านและทุกกระบวนท่ายึดอำนาจจากประชาชน โดยมีกองสนับสนุนออกมาถ่ายรูปกับรถถังกลางกรุงอย่างชื่นมื่น

รอยร้าวทางสังคมชนชั้นและอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยกับอนุรักษนิยมจึงแตกและหักกันนับตั้งแต่นั้น

Advertisement

รัฐประหาร 2549 ที่ทิ้งห่างจากครั้งก่อนหน้า 15 ปี ถูกคนส่วนหนึ่งมองว่า“เสียของ” เพราะลงทุนไปไม่ใช่น้อยๆ แต่ผลที่ได้ไม่เป็นดังหวัง

ยอมบากหน้าไม่อายชาวโลก หยุดกระบวนการประชาธิปไตย ยึดอำนาจวันที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก จากนั้นจัดแจงเขียนรัฐธรรมนูญ จัดการเลือกตั้งภายในเวลารวดเร็วไม่เกินหนึ่งปี แต่พรรคใหญ่ที่สุดที่โค่นล้มไปก็ยังชนะได้อีก

แน่นอนว่าเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็คงไปแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ปรากฏว่าสังคมไทยสอบตกด้านประวัติศาสตร์ซ้ำอีก หมายถึงไม่รู้จักเรียนรู้ความผิดพลาด หรือไม่ก็เห็นดีเห็นงามกับความผิดพลาดนั้น ถึงได้ทำผิดซ้ำอีก

เรื่องที่ผิดหนักสาหัสที่สุดคือการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553

หลังจากคุยกันไว้ว่ารัฐประหาร 2549 ไม่เสียเลือดเนื้อแม้แต่น้อย แต่เหตุการณ์เมษาและพฤษภาเลือดปี 2553 นั้นมีคนตายกว่า 99 ศพ

จำนวนก็ว่ามากอยู่แล้ว วิธีการยังซ้ำร้ายรุนแรงทุกรูปแบบ มีทั้งคนถูกส่องยิงในเขตอภัยทาน ยืนอยู่ริมถนนก็ถูกกระสุนสาดใส่ ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ไม่มีใครรู้ได้ เพราะการสอบสวนไม่ได้ให้ความกระจ่าง

ส่วนที่เจ็บหนักคือการซ้ำเติมด้วยคำพูดให้ร้ายและการเลี่ยงความรับผิดชอบ

ความไม่รู้สึกรู้สากับความตายของคนที่เป็นสามัญชน แต่ฟูมฟายที่โรงหนังเก่าแก่ถูกวางเพลิง เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนว่ารัฐประหาร 2549 ไม่เพียงไม่เสียของ ยังรักษาความล้าหลังทางจิตใจให้คงอยู่มาถึงวันนี้

ช่วง 13 ปีมานี้ โลกมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากมาย ทั้งค้นพบอนุภาคฮิกส์ไปถึงขั้นถ่ายภาพหลุมดำได้

แต่สังคมไทยเหมือนยังดิ้นรนอยู่ในหลุมดำรัฐประหาร เพราะวันดีคืนดี ก็ยังมีคนถามว่าจะเอาผู้นำแบบที่มาจากการเลือกตั้ง หรือแบบรัฐประหารอยู่เลย

 

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image