ส.ส.ซีกรบ.ขวางไม่สำเร็จ ชวนไฟเขียว สภาฯชำแหละบิ๊กตู่-สมพงษ์ อัดนายกฯติดมลทิน

สภาชำแหละ “บิ๊กตู่” ส.ส.ซีก รบ.เดินเกมยกคำวินิจฉัยศาล รธน.ล้มประชุม ไม่เป็นผล “ชวน” ยันนี่คือเรื่องของนิติบัญญัติ “สมพงษ์” นำอัดนายกฯติดมลทิน ไร้วุฒิภาวะ ทำปท.ถูกนินทา

เมื่อเวลา 09.40 น.วันที่ 18 กันยายน ที่รัฐสภา เกียกกาย มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดพิเศษ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม การพิจารณาญัตติด่วน ขอเปิดอภิปรายทั่วไป กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามมาตรา 152  รัฐธรรมนูญ ตามที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พร้อม 205 ส.ส.เป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ นายชวนได้แจ้งต่อที่ประชุม ให้นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปฏิญาณตนก่อนปฎิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ ทันทีที่เข้าสู่วาระการประชุม นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นหารือว่า ตามที่ฝ่ายค้านได้เสนอญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในประเด็นการกล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนนั้น ต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในกรณีดังกล่าว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นว่าการถวายสัตย์เป็นการกระทำทางการเมืองอันอยู่ในความหมายของการกระทำทางรัฐบาลและไม่ได้รับคำร้องไว้พิจารณา ทำให้ นายชวนชี้แจงว่า การเปิดอภิปราย มาตรา 152 เป็นเรื่องใหม่ของสภา เพราะรัฐธรรมนูญในอดีตไม่ได้บัญญัติสิทธิหน้าที่ของสภาในเรื่องนี้เอาไว้ แต่มาตรา 152 เปิดโอกาสให้ ส.ส.เข้าชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี

“แม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยมาแล้ว แต่ฝ่ายกฎหมายของสภาและรองประธานสภาหารือร่วมกันโดยมีความเห็นร่วมกันว่าญัตตินี้ไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรต่อเมื่อเป็นคำวินิจฉัยตามความหมายของรัฐธรรมนูญมาตรา 211 แต่ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมีเพียงคำสั่งไม่รับพร้อมกับมีความเห็นประกอบ จึงไม่ถือเป็นคำวินิจฉัยตามมาตรา 211 สภาจึงสามารถพิจารณาญัตตินี้ได้ตามมาตรา 152 และข้อบังคับการประชุมสภา” นายชวนกล่าว

Advertisement

ทำให้ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ได้ลุกขึ้นประท้วงนายชวนทันที แต่นายชวนตัดบทไม่ให้ประท้วง เพราะประท้วงประธานไม่ได้ แต่น.ส.ปารีณาพยายามที่จะประท้วง เมื่อไม่ให้ประท้วงก็ขอหารือ ซึ่งนายชวนไม่ยอม หากจะหารือต้องนั่งลง แล้วค่อยหารือภายหลัง ทำให้ น.ส.ปารีณา พูดอย่างมีอารมณ์ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีอำนาจตรวจสอบเลย แล้วท่านยังมีอำนาจประธานวินิจฉัยได้อย่างไร“ ทำให้นายชวนได้ปิดไมค์ทันที

จากนั้น ที่ประชุมเข้าสู่ระเบียบวาระ โดย นายสมพงษ์กล่าวว่า จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 แต่ถามข้อเท็จจริงกลับปรากฏโดยประจักษ์ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำ ครม.กล่าวถ้อยคำโดยขาดคำอันเป็นสาระสำคัญ นอกจากยังมีการกล่าวถ้อยคำเพิ่มเติมโดยที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าว จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการถวายสัตย์ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทราบข้อเท็จจริงแล้วว่า ตนเองกล่าวไม่ถูกต้อง ประชาชน และส.ส.ฝ่ายค้านต่างให้ได้โอกาสได้แก้ไขปัญหา แต่พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ยอมแก้ไขข้อผิดพลาด แม้แต่มีผู้เสนอทางออก แต่พล.อ.ประยุทธ์กลับเพิกเฉย จึงเป็นหน้าที่ของพวกตนที่จะต้องทำหน้าที่ขอเปิดอภิปรายสอบถาม

“การถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น แปลว่า การถวายคำมั่นสัญญาอันเป็นความจริงแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการให้คำมั่นสาบานตนต่อองค์พระประมุขก่อนเข้ารับหน้าที่ ซึ่งมีอยู่ในหลายๆ พิธีกรรมของสังคมไทย แม้ประเทศอื่นๆ ก็มี เช่น การสาบานตนของประธานาธิบดี ถือเป็นการให้การรับรองยืนยันต่อหน้าองค์พระประมุขว่า จะใช้อำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบของการถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยจะใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้ ดังนั้น ครม.ต้องกล่าวถ้อยคำถวายสัตย์ด้วยถ้อยคำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 เท่านั้น ถือเป็นถ้อยคำตามที่กฎหมายกำหนด จะกล่าวถ้อยคำน้อยหรือยาวไปกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่ได้ ดังนั้น ผลจากกรณีนี้ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และส่งผลต่อความชอบในการแถลงนโยบาย ครม.ในการบริหารราชการแผ่นดิน ในการอนุมัติโครงการและงบประมาณต่างๆ ของรัฐบาลด้วย” นายสมพงษ์กล่าว

Advertisement

นายสมพงษ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหลายสมัย ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านกฎหมาย ได้เขียนหนังสือเรื่องเล่าจากเนติบริกร ในเล่มที่ 3 ชื่อ หลังม่านการเมือง ตอนหนึ่งว่า รัฐมนตรีผู้ใดยังไม่ถวายสัตย์ปฏิญาณในทางกฎหมาย ถือว่าผู้นั้นยังเป็นรัฐมนตรีไม่สมบูรณ์ ยังใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีมิได้ และยังได้กล่าวไว้ในหลายจุดในหนังสือว่า ต้องเปล่งวาจาด้วยถ้อยคำที่กฎหมายกำหนด จะพูดน้อยหรือยาวกว่านี้ไม่ได้ นอกจากนี้นายวิษณุยังระบุด้วยว่า การกล่าวนั้น นายกฯ จะเป็นผู้กล่าวนำ ความสำคัญจึงอยู่ที่นายกฯ จะผิดไม่ได้ ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะพิมพ์ลงในบัตรแข็งให้อ่าน เพื่อจะไม่พลาด ขืนท่องจำผิดๆถูกๆ ตกคำว่า และ หรือคำว่า หรือ สักตัว  ก็อาจต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ได้ถวายสัตย์ครบถ้วนหรือยัง จะยุ่งเปล่าๆ

นายสมพงษ์​กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่รัฐบาลแถลงนโยบายโดยไม่แจ้งที่มารายได้ของงบประมาณในการดำเนินนโยบายต่างๆ เป็นอีกเรื่องตามญัตตินี้ ซึ่งฝ่ายค้านได้อภิปรายคัดค้านไปแล้วว่า ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 วรรคหนึ่ง แต่ ครม.กลับเพิกเฉย ไม่แก้ไขให้ถูกต้อง ทั้งๆ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัว คสช.เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยตนเอง ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญกำหนดเช่นนี้ถือว่า ความหมายแน่นอน ซึ่งสอดคล้องกับกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 57 โดยเฉพาะเจตนารมณ์ในการควบคุมการกำหนดนโยบายไว้ ตั้งแต่ในขั้นตอนการหาเสียงแล้ว อย่างไรก็ตาม การกระทำทั้งหมด ตนถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นผู้ก่อมลทินให้ติดตัว ครม.ภายใต้การนำของท่านทั้งคณะ ที่สำคัญมลทินที่เกิดขึ้น ได้ไปลดทอนความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นที่ประชาชนควรมอบรัฐบาลอย่างน่าใจหาย

“บทเรียนที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ผมขอเรียนว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำของประเทศได้แสดงถึงความไม่มีวุฒิภาวะ ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นลูกโซ่ ประเทศขาดความเชื่อมั่น เมื่อความเชื่อมั่นไม่เกิดขึ้น การยอมรับนับถือจึงไม่มี ผู้นำประเทศที่ถูกตำหนิและนินทามากเช่นนี้เช่นนี้จะนำพาสังคมและประเทศที่กำลังวิกฤตให้อยู่รอดได้อย่างไร” นายสมพงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image