“บิ๊กตู่”รอด ศาลรธน. วินิจฉัย ไม่ขาดคุณสมบัติ นั่ง”นายกรัฐมนตรี” ชี้ ตำแหน่งหัวหน้าคสช.ไม่ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เหตุยึดอำนาจ ปกครองประเทศด้วยอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุด
เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 18 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง( 4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่ กรณีดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ โดยวันนี้นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนของฝ่ายประธานสภาผู้แทนราษฎร มาร่วมฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ฝ่ายนายกรัฐมนตรีมีพล.ต.วิระ โรจนวาศ คณะทำงานนายกรัฐมนตรี มาร่วมฟัง
ทั้งนี้ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย ว่า คดีนี้ส.ส.จำนวน 110 คน เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานสภาฯโดยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้องมีคุณสมบัติต้องห้าม เพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าทีอื่นของรัฐ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช.มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ต่อมามี พระบรมราชโองการโปรดเกล้า แต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน การแต่งตั้งตำแหน่งหัวหน้าคสช.เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจและเป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งมีอำนาจสูงสุดของการปกครองประเทศ โดยเห็นได้จากการออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับ หัวหน้าคสช.ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับกับดูแลของรัฐหรือหน่วยงานใด ทั้งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายกำหนดวิธีการได้มาหรือการเข้าสู่ตำแหน่งโดยมีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและประชาชน
ดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้าคสช.จึงไม่มีสถานะหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 98 (15) พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(6) ประกอบมาตรา 98 (15) อาศัยเหตุผลดังกล่าวจึงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวเพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98(15)
ส่วนกรณีที่นางอุบลกาญจน์ อมรสิน ประธานองค์กรตรวจสอบการธำรงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม ยื่นคัดค้าน 7 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ให้วินิจฉัยคดีนี้ ศาลมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง เนื่องจากไม่ได้เป็นคู่กรณีโดยตรง