แลหน้า’ประชามติไทย’ ความไม่สอดคล้องสิทธิ-เสรีภาพ

หมายเหตุ – สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดสัมมนาวิชาการเนื่องในวันสถาปนาสำนักงาน กกต.ครบรอบ 18 ปี หัวข้อ “เหลียวประชามติสากล แลประชามติไทย” โดยมีนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), น.ส.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนายสกุล สื่อทรงธรรม กรรมการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) เข้าร่วมเสวนา

สมชัย ศรีสุทธิยากร
กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เวลาพูดถึงการทำประชามติ มีองค์ประกอบหรือหัวใจสำคัญ 4 ประการ คือ 1.เนื้อหา เนื่องจากการให้คนทั้งประเทศมาออกเสียงมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ การกำหนดเนื้อหาต้องเป็นประเด็นที่สำคัญและใหญ่จริงๆ ในการให้ประชาชนตัดสินใจ เนื้อหาต้องง่าย สั้น กระชับ และสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจง่าย

2.เวลา เพราะการให้ประชาชนได้ตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศต้องมีเวลาอย่างเพียงพอในการคิดไตร่ตรองเพื่อหาข้อสรุปว่าแบบใดดีกว่ากัน ซึ่งการทำประชามติของไทยมีกรอบเวลาค่อนข้างจำกัดเพียง 120 วัน โดยการจัดพิมพ์เอกสารร่างรัฐธรรมนูญและเอกสารสรุปสาระสำคัญก็ใช้เวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว

Advertisement

3.กระบวนการ ต้องโปร่งใสเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความรู้สึกว่าเป็นธรรม เป็นกติกาที่ทุกคนจะได้รับความเท่าเทียมกัน ถ้าจำกันได้ร่างกฎหมายประชามติร่างแรกที่ กกต.เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีคำว่าเปิดโอกาสให้คนทั้งสองฝ่ายแสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน มีงบให้ฝ่ายละ 50 ล้านบาท แต่การประเมินสถานการณ์ของฝ่ายที่ออกกฎหมายคิดว่าถ้าเปิดโอกาสจะมีศรีธนญชัยมาสร้างความวุ่นวายทางการเมือง และ 4.บรรยากาศ ทุกฝ่ายมีความตื่นตัวที่จะช่วยกันตัดสินใจอนาคตของประเทศ ภายใต้ความเป็นเหตุเป็นผล แต่สังคมก็ต้องช่วยกัน

ขณะนี้มาตรา 61 วรรคสองของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 กำลังเป็นจำเลยของสังคม มีการกล่าวหากันว่าใครเป็นผู้ร่างกฎหมาย แต่ผมยืนยันว่ามาตรา 61 วรรคสอง เป็นของดี ต้องถามว่าขณะนี้เราต้องการให้สังคมเอาเรื่องเท็จมาหลอกกันเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจลงประชามติบนความรู้พื้นฐานที่ผิดหรือไม่ หรือต้องการให้ใช้คำหยาบคาย รุนแรงต่อกันเช่นนั้นหรือไม่ รวมทั้งต้องการให้เกิดการปลุกระดมไม่เคารพกฎหมายออกมาเดินขบวนเผาบ้านเผาเมืองอย่างนั้นหรือไม่ ทั้งที่เจตนารมณ์ของผู้ยกร่างเพื่อเป็นการปรามเหตุการณ์เหล่านี้ไว้เท่านั้น ทั้งนี้บรรยากาศขณะนี้ไม่ได้น่ากลัว อย่าดราม่ากันไปเอง สังคมดราม่ามากเกินไปหรือไม่ เพลงประชามติที่เขียนก็ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝง เพียงแต่ต้องการกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด

เอะอะอะไรก็ว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ โดนเข็มทิ่มเล็กน้อยก็ว่าแผลเหวอะหวะแล้ว สังคมหวาดระแวงจนเกินไป หากคิดเช่นนี้ก็จะไม่มีความสุข

Advertisement

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
หัวหน้าภาคการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การรณรงค์เป็นหัวใจสำคัญ บทบาทของ กกต.ตอนนี้ อย่างเพลงประชามติของ กกต.ที่ถูกวิจารณ์ว่าลำเอียง อีกประเด็นคือเนื้อความในเพลงช่วงที่ร้องถึงภาคกลาง บางประโยคเหมือน กกต.จะเชิดชูร่างรัฐธรรมนูญ คนอาจมองว่า กกต.กำลังสนับสนุนให้รับร่าง ตามหลักสากล กกต.จะไม่มาร่วมรณรงค์อย่างเด็ดขาด จึงขอฝากให้ กกต.พิจารณา

อีกกรณีคือหลังประชามติ มาตรา 265 ของร่างรัฐธรรมนูญระบุว่าให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นมาใหม่ตามรัฐธรรมนูญเข้ามาทำหน้าที่ นั่นคือคำสั่งของ คสช.และรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ที่มีมาตรา 44 ก็ยังมีผลควบคู่ เราจะมีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับร่วมกัน แต่กว่ารัฐธรรมนูญ 2559 จะมีผลบังคับใช้อาจจะปลายปี 2560 หมายความว่าผลของการตัดสินใจประชาชนในวันที่ 7 สิงหาคม จะยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที ส่วนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็น่าสนใจ เพราะเห็นด้วยว่ามาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติมีปัญหา เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง หวังว่าบรรยากาศจะสดใสกว่านี้

อย่างไรก็ตาม หากเปิดให้เกิดการถกเถียง ทุกฝ่ายจะได้เรียนรู้ แต่บรรยากาศตอนนี้เงียบจนน่าสะพรึง ที่น่ากังวลคือ นักการเมืองยังถูกเรียกเข้าค่ายทหาร อย่างวันที่ 18 มิถุนายนนี้ ที่ กกต.เป็นเจ้าภาพในการประชุมกับตัวแทนพรรคที่จะจัดขึ้นในค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ และแม้แต่เด็กที่สอบโอเน็ตได้จะเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ ดิฉันสัมภาษณ์ว่ารู้หรือไม่ว่าจะมีการทำประชามติเมื่อไหร่ ปรากฏว่าตอบไม่ได้

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในปี 2550 เราทำประชามติรัฐธรรมนูญทั้งฉบับครั้งแรก รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มีกติกาอยู่ว่า ถ้าผ่านก็ให้บังคับใช้ ถ้าไม่ผ่านให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งฉบับใดมาประกาศใช้เลย ตอนนั้นถูกทักท้วงให้บอกเลยว่าเอาฉบับไหน อย่างน้อยประชาชนยังได้รู้ ไม่ใช่กลับมาร่างใหม่ ขณะนี้คำถามคือ คสช.คิดอย่างไรที่ให้มีการทำประชามติ คงมาจากการเปรียบเทียบที่ฉบับ 2550 จบลงด้วยดีเพราะมีการทำประชามติ แตกต่างจากฉบับ 2534 จบด้วยการนองเลือด คสช.จึงให้จบด้วยการทำประชามติ

ปัญหาของกติกาขณะนี้คือ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเกิดอะไรขึ้น นี่เป็นข้อบกพร่องรุนแรงที่สุดในการทำประชามติครั้งนี้ บทความต่างประเทศจะเรียกการทำประชามติ 7 สิงหาคม ว่าทางเลือกของฮอบส์สัน คือถ้าถูกใจก็รับไป หากไม่ถูกใจก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น บรรยากาศตอนนี้คือความมืดดำ ไม่รู้อะไรเลย ซึ่งจะมีผลต่อความชอบธรรมและความยั่งยืนของร่างรัฐธรรมนูญนี้ การทำประชามติที่ดีคือ ต้องเป็นธรรม รู้ว่าทางเลือกมีอะไรบ้าง ต้องมีเสรีภาพ ประธาน กกต.อาจทำให้เกิดเสรีภาพในคูหาได้ แต่กระบวนการก่อนลงประชามติประชาชนจะมีสิทธิพูดได้มากแค่ไหน หากจะให้เป็นประชามติที่สมบูรณ์ต้องให้สองข้างแสดงความเห็นตามสมควร

เราสามารถแสดงออกได้มากกว่านี้หรือไม่ คำตอบคือได้มากกว่านี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ก็เอามาจากกฎหมายเลือกตั้งและของเดิม ที่เพิ่มขึ้นมาคือ มาตรา 61 วรรคสอง ในความเห็นคำว่าปลุกระดมนี่คลุมเครือที่สุดในการตีความ กติกาในมาตรานี้ทำให้การออกเสียงประชามติกระทบต่อหลักเสรีภาพ ถ้าไม่แก้ไขก็ต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญ คำว่าปลุกระดมไม่ควรจะมีอยู่ในกฎหมายนี้เนื่องจากมีกฎหมายอาญาอยู่แล้ว คำหลายคำของมาตรา 61 วรรคสองนั้นขัดรัฐธรรมนูญ อยากให้ตีความตามมาตรานี้บนเสรีภาพที่ประชาชนมีอำนาจตามอธิปไตย ตีความให้แคบที่สุด อย่าไปตีความกว้าง ถ้าไม่มีการแก้ไขเรื่องพวกนี้ให้มีความเสรีและเป็นธรรม อย่างไรก็ไม่ยั่งยืน ในอนาคตข้างหน้าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เหมือนปี 2534 คสช.ต้องการหรือไม่ คสช.ถลำลึกกับการมีส่วนว่าจะให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่านมากไปแล้ว อยากให้ถอยออกมา ยอมรับผลการตัดสินจากประชาชน

ส่วนคำถามพ่วง ความจริงแค่ให้คำถามชัดคือจะให้ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯกับ ส.ส.หรือไม่ แบบนี้ถึงจะเป็นธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินน่าจะส่งประเด็นคำถามพ่วงให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาด้วย

สกุล สื่อทรงธรรม
กรรมการมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต)

เวลา 2 เดือนก่อนการทำประชามติมีอะไรเกิดขึ้นเรายังไม่รู้ เพราะเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา บ้านเราเกิดขึ้นเร็ว พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฉบับนี้ก็ร่างตามกรอบของ พ.ร.บ.ประชามติฉบับก่อน ซึ่งมุ่งก่อให้เกิดความสงบ แม้จะไม่ชอบก็ควรเข้าใจว่ามันมีความจำเป็น แต่ก็อยากให้เปิดกว้างให้ฝ่ายต่างๆ ที่ไม่ได้ใกล้ชิดพรรคการเมืองมาร่วมสังเกตการณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image