รายงาน หน้า 2 : วิพากษ์แจง‘พระเครื่อง-เหล็กไหล’ มูลค่าสูงตามกม.หรือความเชื่อ?

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของอดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนักวิชาการ กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. เตรียมตรวจสอบทรัพย์สินให้ละเอียดยิ่งขึ้น หลังกรณี ส.ส.ยื่นชี้แจงบัญชีทรัพย์สิน โดยมีรายการในส่วนของทรัพย์สินอื่นๆ เช่น พระเครื่อง เหล็กไหล และอุกกาบาต มีมูลค่านับพันล้านบาท ว่าจะสอดคล้องตามหลักการในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ อย่างไร

วิชา มหาคุณ
อดีตกรรมการป้องกัน
และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ปกติการแจ้งบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินไม่ได้มีสิ่งที่เป็นข้อจำกัด แต่โดยหลักการก็จะเป็นทรัพย์สินที่รู้กันอยู่ทั่วไป อาทิ เพชร พลอย เงิน ทอง วัตถุ สิ่งของ บ้านเรือน สังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการตีราคาทรัพย์สินที่เป็นของเฉพาะ อาจจะเฉพาะกลุ่ม เฉพาะเหล่า เฉพาะชาติ หรือเฉพาะความนิยม ก็มีอยู่บ้าง อาทิ พระเครื่อง พระพุทธรูป กระบวนการสร้างก็จะเป็นยุคเป็นสมัย ก็สามารถกำหนดหรือตีราคาได้ แม้กำหนดไม่ได้โดยทั่วไป แต่ก็มีตลาดพระ มีศูนย์กลางการเช่า สิ่งสำคัญคือต้องรู้ให้ได้ว่าเป็นของปลอมหรือของจริง นี่ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นพระรุ่นเก่า ซื้อมาในราคาแพง แต่หากสร้างขึ้นมาใหม่ หรือทำเลียนแบบ ก็จะไม่มีมูลค่าจริงตามที่ซื้อมาก็ได้ นี่คือสิ่งที่ ป.ป.ช.ต้องประเมินก่อนเป็นอันดับแรก ป.ป.ช.ต้องหาข้อมูลว่าได้มาจากแหล่งใด การ
กล่าวอ้างเฉยๆ ก็อาจจะมีปัญหาเหมือนกัน

Advertisement

ยกตัวอย่าง กรณี พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติ โดยการชี้แจงบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน อ้างว่าพระต่างๆ ทางญาติผู้ใหญ่ หรือทางตระกูลของท่านมีการแลกเปลี่ยนเป็นประจำ ป.ป.ช.ก็ไม่ได้เชื่อในจุดนั้น เพราะว่าเป็นการอ้างลอยๆ ไม่สามารถหักล้างหลักฐานทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาได้ เป็นตัวอย่างที่ ป.ป.ช.เคยดำเนินคดีมา

เพราะฉะนั้น ผู้ใดครอบครองสิ่งใดไว้ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ ถ้าต้องการเอาสิ่งนั้นมายื่นอยู่ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ไม่ว่าท่านจะได้อะไรมาก็ตามต้องพิสูจน์ความมีมูลค่าของมันให้ได้ด้วย อย่าคิดว่าเอาแต่มาแจ้งอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ไม่ได้บอกว่าการแจ้งบัญชีทรัพย์สินจะไม่น่าเชื่อถือหรืออย่างไร แต่เมื่อแจ้งมา ป.ป.ช.ก็รับไว้และตรวจสอบว่าตรงหรือไม่ มีมูลค่าเท่าไร จริงหรือไม่ เบื้องต้นการแจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินมานั้นเท่ากับรับรองว่าข้อมูลเป็นจริง แต่ถ้าเผื่อมีคนร้องเรียน หรือ ป.ป.ช.ตรวจสอบภายหลังพบว่าเป็นทรัพย์สินผิดปกติ หรือเป็นของปลอม ก็จะมีปัญหา ประเด็นร่ำรวยผิดปกติก็จะตามมาทันที

 

Advertisement

 


รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์
ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ในอดีตก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ไม่เคยมีบทบัญญัติเรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน แต่มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ปปป.) หน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงทำให้กลไกในการตวรจสอบยังไม่เข้มข้น พอมาปี 2540 ยกฐานะขึ้นมาเป็น ป.ป.ช.และเพิ่มกลไกกฎหมายว่าด้วย ป.ป.ช.เข้าไป แน่นอนว่าดีกว่าในอดีตไม่มี แต่ยังไม่สามารถมีประสิทธิภาพได้อย่างเต็มที่ อาจจะเกิดกรณีของการแจ้งบัญชีทรัพย์สินไม่ครบ เช่น กรณีของ ส.ส.บางท่านก่อนหน้านี้ ไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีชุดนี้ เพราะไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินย้อนหลัง แต่ก็ยังไม่เห็นการเอาผิดจริงจัง เมื่อมีการตีความว่าอะไรต้องแจ้ง อะไรไม่ต้อง
แจ้ง ก็ทำให้เป็นปัญหา เช่น การยืมไม่ต้องแจ้ง เป็นต้น

ที่สำคัญการให้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ให้แจ้งเพียงแค่หลังออกจากตำแหน่ง 1 ปี หมายความว่า ถ้ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริงและเก็บเงินสดเอาไว้โดยไม่แจ้ง ไม่เอาไปฝากบัญชีธนาคารจะเป็นหลักฐานได้ พอพ้น 1 ปี ก็ค่อยเอาเงินเหล่านั้นไปฝาก กฎหมายก็เข้าไปไม่ถึงอยู่ดี จึงมีช่องให้คนเตรียมการทุจริตได้

มาตรการในการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ไม่สามารถเอาผิดหรือดำเนินการอะไรได้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมามีให้เห็นเป็นคดีความบ้างเล็กๆน้อยๆ เช่น การจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน สุดท้ายพ้นจากตำแหน่งไปบ้าง มีโทษถึงจำคุกบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็รอลงอาญาและพ้นจากตำแหน่ง จริงอยู่ว่ามาตรการนี้อาจจะป้องกันการคอร์รัปชั่นได้ในระดับหนึ่ง แต่การบังคับใช้ในประเทศไทย ปัญหาคือไม่ใช่ว่าเราไม่มีกลไกหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น แต่กลายเป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรม จึงมีช่องว่างให้คนได้แทรกตัวผ่านกลไกเหล่านี้ได้เสมอ

หลายกรณีก็ยังไม่ได้รับคำตอบ เช่น กรณีเรื่องนาฬิกา ได้รับคำตอบสุดท้ายว่า “ยืมเพื่อนไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินก็ได้” ฝืนกับความรู้สึกของคนในสังคม หรือบางกรณีก็มีคำวินิจฉัยออกมา “บกพร่องโดยสุจริต” เคยเห็นมาแล้ว ดังนั้น กลไก หรือมาตรการเหล่านี้ ไม่ได้ช่วยอะไรในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ดีเท่าไหร่ เป็นช่องในการหลบเลี่ยง ไม่แจ้ง หรืออาจจะแจ้งในส่วนของที่ประเมินมูลค่าได้ยาก เช่น เหล็กไหล อุกกาบาต เป็นต้น

ทรัพย์สินบางอย่างตีความและประเมินค่าได้ยาก ไม่มีตลาดกลางระบุราคาได้ชัดเจน กฎหมายเข้าไปไม่ถึง มาตรฐานก็ยังไม่มีครบถ้วนสมบูรณ์ อาจมีความพยายามในการนำเอาระบบตรวจสอบที่ทันสมัย (E-Government) แต่ก็เข้าไม่ถึงได้ทั้งหมด ดังนั้นการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องมีส่วนผสมอยู่ 3 ส่วนจึงจะสามารถแก้ไขได้ คือ

1.จะต้องแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างอำนาจรัฐ มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจก่อน เพราะคนจะทุจริต หรือเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ จะวิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คน เมื่ออำนาจไม่ได้ถูกกระจายไปหลายส่วน การคอร์รัปชั่นก็เกิดขึ้นได้ 2.ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในประเทศไทย เป็นเรื่องต้องแก้ในเชิงค่านิยมในระยะยาว แน่นอนว่าระบบอุปถัมภ์คงหายไปจากสังคมไทยทั้งหมดได้ยาก แต่ถ้าเรามีกลไกหลักเกณฑ์ที่มีธรรมาภิบาล มีหลักนิติธรรมก็จะบรรเทาเบาบางลงในระดับหนึ่ง

3.การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอย่างจริงจัง และให้อำนาจกับภาคประชาสังคมอย่างแท้จริง ทุกวันนี้การตรวจสอบถูกฝากความหวังไว้กับบรรดาองค์กรต่างๆ บางเรื่องกฎหมายเข้าไปไม่ถึง ไม่มีหลักยึดโยงหรืออ้างอิงได้ การทำงานของภาคประชาสังคมคือส่วนเสริม เช่น จากการไปสืบค้นราคาของของที่ไม่ได้มีอยู่ในบัญชี ป.ป.ช.กำหนดไว้ ต้องให้ความสำคัญกับภาคประชาสังคม ไม่ใช่ภาคประชาสังคมดำเนินการ
แล้วพอถึงเวลาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รับฟัง หรือตัดสินไปโดยไม่ได้ฟังความเห็นความรู้สึกของคนในสังคมเป็นต้น

ส่วน ป.ป.ช.ควรจะแจ้งหลักเกณฑ์ของการแจ้งบัญชีทรัพย์สินที่กำหนดราคาจากความเชื่อส่วนบุคคล เพราะไม่มีราคากลาง และของบางอย่างก็ประเมินราคายาก บางคนอาจให้คุณค่าเป็นร้อยล้าน พันล้าน อีกคนอาจไม่มีราคาในสายตาก็ได้ แนวปฏิบัติของ ป.ป.ช.ก็ต้องชัด กรณี ป.ป.ช.เห็นว่าการยืมเพื่อนไม่ต้องแจ้งก็ได้ ทั้งก่อนและหลังดำรงตำแหน่งก็ยิ่งเป็นการวางบรรทัดฐานว่า ต่อไปทุกอย่างในชีวิตยืมได้หมด ล่าสุดการแจ้งบัญชีของนักการเมืองบางคน มีเงินแค่ 5,000 บาท ทุกอย่างยืมพ่อแม่ ยืมเพื่อนหมด ฟังดูแล้วก็เป็นเรื่องตลก

สุดท้ายอาจจะมีการสืบข้อเท็จจริง เรียกบรรดาผู้เชี่ยวชาญ เช่น คนในวงการพระ เครื่องรางของขลัง มาสืบหาข้อเท็จจริงว่าของเหล่านี้ในตลาดขายกันราคาเท่าไหร่ กระทั่งผู้เชี่ยวชาญด้านปฐพีวิทยา มาสืบถามเรื่องมูลค่าของอุกกาบาตเทียบเคียงกับในต่างประเทศ ความหายากง่าย ต้องมีกระบวนสืบหาข้อเท็จจริง และได้ข้อสรุปออกมา แต่ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ช.สามารถสะสมหรือจัดการความรู้ตรงนี้ได้ จะมีฐานข้อมูลสะสม หากอนาคตมีกรณีเดียวกัน จะเป็นบรรทัดฐานในการอ้างอิงได้

การตรวจสอบการทุจริต ในยุคแห่งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น (Disruptive Technology) การเปิดช่องให้ภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยสามารถทำได้อย่างง่ายดาย สื่อโซเชียลมีเดีย หรือกลไกต่างๆ ของภาครัฐจะเป็นส่วนที่ช่วยให้การตรวจสอบจากภาคประชาสังคมที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ภาครัฐควรเปิดช่องเหล่านี้ด้วย เพราะพอมีการตรวจสอบ เช่น กรณีนาฬิกาที่เป็นตัวอย่างชัดเจน ภาคประชาสังคมก็ตรวจสอบ สุดท้ายเป็นการวินิจฉัยตีความโดย ป.ป.ช.แทบไม่ได้พูดถึงเนื้อหาที่ภาคประชาสังคมเอามาพูดถึง ระยะยาวการคอร์รัปชั่นจะต้องป้องกันด้วย 3 วิธี ที่เสนอข้างต้น ภาครัฐก็ต้องปรับตัวให้ทันด้วย


ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภาพรวมสมัยก่อน ถือว่าเครื่องราง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สิน อาจจะไม่ได้ใส่ใจกัน แต่ในความเป็นจริงหากลองไปถามในวงราชการก็คงจะได้ยินมาบ้างว่า หมวดเครื่องรางของขลังเป็นช่วงสีเทาๆ เพราะทุกอย่างขึ้นกับความพอใจ เหมือนกับเพชร พลอย หินใสๆ แก้วใสๆ คนหนึ่งบอกเพชร คนหนึ่งบอกแท้ คนหนึ่งบอกปลอม เช่นเดียวกัน เรื่องของมูลค่าทรัพย์สินในส่วนที่เป็นเครื่องรางของขลังเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความศรัทธา อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้มีราคาอยู่ในระดับหนึ่งเช่นกัน ต่อให้จะบอกว่ามูลค่าพันล้าน เอาไปเดินแถวท่าพระจันทร์ ไปเดินแถวตลาดพระ เร่ไปให้ดู อาจจะอีกราคาก็ได้ ไปทำใบรับรองโดยเซียนพระสักคนสองคนก็จะเห็นว่าราคาจริงเท่าไหร่ ไม่น่าจะยากเกินกว่าการประเมิน

ในส่วนเรื่องเกี่ยวกับบัญชีทรัพย์สิน ป.ป.ช.ก็คงจะต้องพิจารณาให้ดี เพราะที่ผ่านมากรณีแหวนแม่ นาฬิกายืมก็ไม่เห็นจะเคร่งครัด พอมากรณีนี้มีการแจงอย่างตรงไปตรงมาก็มาเคร่งครัด ทำให้เกิดความรู้สึก พวกเขาพวกเรา

ลองไปสำรวจราคาในตลาดพระดูก็ได้ว่าที่เขาใช้คำว่า เช่าซื้อ บูชา จะอยู่ถึงเท่าไหร่ เพียงเท่านี้ก็บอกได้แล้ว เมื่อเวลาผ่านไป ถ้ามีเหตุให้สงสัยว่าเป็นการตั้งมูลค่าทรัพย์สินเกินจริง ถึงวันที่พ้นจากตำแหน่งมีทรัพย์สินในรูปของเงินสด แต่ทรัพย์สินในหมวดเหล่านี้ลดลง ก็ต้องไปดูว่าเท็จจริงอย่างไร ต้องชี้แจงให้ได้

เราคงเคยได้ยินว่าเวลาวิ่งขึ้นตำแหน่ง เรื่องของการเคลียร์คดีความต่างๆ ก็มักจะมีเรื่องแบบนี้ให้ได้ยินมาบ้าง ว่าพระเครื่อง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ องค์เท่านี้ ราคาเท่านี้ ซื้อกับคนนี้ ส่วนต่างไปไหนอย่างไรเป็นเรื่องที่เคยได้ยิน แต่ก็ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ ดังนั้นกรณีปัจจุบัน
สิ่งที่ ป.ป.ช.จะต้องขบคิด คือ ตาถี่ตากว้างเป็นเรื่องของแนวปฏิบัติ และเป็นเรื่องของการปฏิบัติโดยเสมอหน้า

ป.ป.ช.ควรจะต้องแจงหลักเกณฑ์การรับแจ้งบัญชีทรัพย์สินที่กำหนดราคาจากความเชื่อส่วนบุคคลหรือไม่ เป็นเรื่องที่พูดยาก บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเพชร อีกคนอาจจะบอกว่าเป็นแค่หินมีค่า เป็นแก้วใส พูดยาก หลักเกณฑ์ของการแจงบัญชีทรัพย์สิน คือแจงไว้เพื่อให้เห็นว่าในวันที่เข้าดำรงตำแหน่งและพ้นตำแหน่งไม่มีการร่ำรวยผิดปกติ ก็ยึดตรงนี้ ต่อให้ชี้แจงว่ามูลค่าสินทรัพย์เท่านี้ หินก้อนนี้ราคา 20 ล้าน แต่วันที่ท่านพ้นจากตำแหน่ง หินก้อนนี้ถูกขายไป คำถามคือใครซื้อ ซื้อด้วยมาตรฐานอะไร ก็ต้องแจงอยู่ดี เหมือนกับที่ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล แจงว่าหนังสือของ ส.ส.บางท่าน เล่มละ … บาท ในคลังมีอยู่ 200 เล่ม มูลค่า…. บาท ส.ส.บางท่านบอกว่าแว่นฉันมี 26 อัน มูลค่า … บาท กระเป๋ามียี่ห้อ 20 ใบ 8 ล้านบาท ส่วนตัวคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา ตราบเท่าที่วันเข้า-วันออกไม่ได้สะวิง

แต่ถ้าพ้นตำแหน่งแล้วมีเหตุให้สงสัย ของจำหน่ายจ่ายแจก มีเหตุในเงินสดเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องที่ต้องขบคิด เพียงแต่ ป.ป.ช.ต้องอธิบายให้ชัดในเรื่องการเลือกตรวจสอบบางรายการ-บางคน เพราะช่วงที่ผ่านมา สังคมเกิดข้อกังขา ท่านก็ตอบได้ไม่เต็มปากเท่าไหร่ เป็นเรื่องที่ท่านต้องเรียกศรัทธาคืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image