เจิมศักดิ์ ชี้ รบ.ไม่รับผิดปมถวายสัตย์ คนยิ่งเสื่อมศรัทธา ตรงข้ามฝ่ายค้านพูดดี คะแนนพุ่ง

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตวุฒิสภา แสดงความเห็นถึงรัฐบาล กรณีการชี้แจงฝ่ายค้านเรื่องการถวายสัตย์ไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ ว่า

น่าเสียดายที่การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ครั้งแรกของสภาผู้แทนราษฎรของไทย ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะพยายามตอบคำถามจากตัวแทนของประชาชน โดยตอบคำถามประเภทเลี่ยงไปเลี่ยงมา จึงอาจทำให้ประชาชนมีความศรัทธาลดลง ขณะเดียวกันทำให้คะแนนนิยมและศรัทธาของฝ่ายค้านที่เตรียมตัวมาตั้งประเด็นคำถาม และอภิปรายได้อย่างดี พุ่งสูงขึ้น ประชาชนเข้าใจการอภิปรายครั้งนี้ไม่ยาก เพราะเป็นการถามเพื่อให้รัฐบาลตอบหรือชี้แจง และสภาร่วมกันให้ข้อเสนอแนะ

เมื่อคำถามดี แต่รัฐบาลไม่ตอบ หรือตอบแบบเลี่ยงๆ ข้อเสนอแนะที่เกิดจากฝ่ายค้านก็เลยไม่ได้มีการหยิบยกขึ้นถกเถียงว่าดี ไม่ดี ทำได้ ทำไม่ได้อย่างไร

พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกฯ ผู้นำการกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณที่ถูกถามว่าทำไมจึงนำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ก็ไม่ตอบและไม่มีใครตอบ ปรากฏว่าตอนท้ายของการประชุมรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม มาตอบก็ไม่ตอบตรงคำถาม แต่เลี่ยงไปบอกว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่มีปัญหาและไม่ควรมีการตรวจสอบ

Advertisement

อ้างว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรีกับพระมหากษัตริย์ ประชาชนคนอื่นๆ และรัฐสภาไม่อาจเข้าเกี่ยวข้องตรวจสอบได้ ทั้งนี้โดยอาจมิได้คำนึงถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐธรรมนูญได้ระบุความสัมพันธ์ของพระมหากษัตริย์ ประชาชน รัฐบาล ศาล และรัฐสภาไว้อย่างละเอียด รอบคอบ งดงาม ปรากฏในรัฐธรรมนูญว่า

“มาตรา 3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

ซึ่งน่าจะมีความหมายว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ เป็นการปฏิญาณตนต่อปวงชนชาวไทยผ่านพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข

คณะรัฐมนตรีจึงต้องถวายสัตย์ปฏิญาณตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด เพราะเป็นการปฏิญาณตนก่อนรับหน้าที่ต่อพระมหากษัตริย์และประชาชนทั้งประเทศ

รองนายกฯ วิษณุ อ้างตามคำอธิบายการไม่รับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นการกระทำในหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล (Act of Government) ซึ่งมีความหมายว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะดำเนินงานโดยไม่ถูกตรวจสอบจากศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

ตัวอย่างที่อาจยกให้เข้าใจได้ก็คือ กรณีฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลไปตกลงทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ ก็อยู่ในอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ศาลและองค์กรอื่นไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวตรวจสอบ

แต่อาจลืมไปว่า กรณีรัฐบาลไปตกลงทำสนธิสัญญากับต่างชาติ เช่น กรณี FTA ที่รัฐบาลทักษิณไปทำสัญญากับจีน อินเดีย และออสเตรเลีย โดยที่ไม่มีผู้ใดล่วงรู้มาก่อน ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดให้รัฐบาลสามารถเจรจาตกลงในหลักการกับรัฐบาลต่างประเทศได้ แต่จะต้องนำเนื้อหาข้อตกลงและข้อมูลทั้งหมดมาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ รัฐบาลจึงสามารถไปลงนามให้มีผลสมบูรณ์และผูกพัน

ในกรณีนี้ Act of Government หรือการกระทำในหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล ก็จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติไว้ หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็น่าจะเข้ามาตรวจสอบและวินิจฉัยได้ ขณะเดียวกันรัฐสภาก็สามารถตรวจสอบให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญได้

เช่นเดียวกัน เมื่อการถวายสัตย์ปฏิญาณ รัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนถึงเงื่อนไขขั้นตอนว่า รัฐมนตรีจะต้องกล่าวคำปฏิญาณอย่างไร เมื่อไม่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ก็สามารถถูกตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องอธิบายให้ได้ว่า มีเหตุผลอะไรที่ไม่สามารถถวายสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญได้ และจะแก้ไขอย่างไร?

การแถลงนโยบายของรัฐบาล ที่ไม่ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้

รัฐธรรมนูญ มาตรา 162 ระบุว่า “คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่

………………………………………………………………”

ปรากฏว่า เมื่อมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 รัฐบาลไม่ได้ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย ฝ่ายค้านจึงได้ยื่นญัตติของการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ให้รัฐบาลชี้แจงในการประชุม

ปรากฏว่า นายกฯ ซึ่งควรชี้แจงเรื่องการนำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ กลับมาชี้แจงเรื่องงบประมาณ ซึ่งน่าจะเป็นรองนายกฯ ที่ดูแลเศรษฐกิจ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

แต่ครั้งนี้กับปล่อยให้อดีตนายทหารใหญ่ อธิบายเรื่องเศรษฐกิจในทำนองว่า การชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายเป็นเรื่องทำได้ยากลำบาก และให้ไปดูพระราชบัญญัติ 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง

ความจริงแล้วรัฐบาล น่าจะมีรัฐมนตรีที่รู้เรื่องอธิบายว่านโยบายที่จะดำเนินการใน 4 ปีข้างหน้า แต่ละเรื่องต้องใช้เงินงบประมาณสักเท่าไร และจะใช้ในปีไหน นโยบายใดเร่งด่วนและสำคัญกว่ากัน หากจะดำเนินการจะต้องเก็บภาษีเพิ่มหรือไม่ หรือจะต้องกู้เงินเพิ่ม หรือจะหารายได้ด้วยวิธีอะไร โครงการเก่าๆ ที่ทำอยู่เดิมจะต้องลดทอนลงไปหรือไม่ เช่น การซื้ออาวุธ รถถัง เรือดำน้ำ เพื่อให้นโยบายและมาตรการที่แถลงใหม่ดำเนินการได้เป็นจริง

ควรจะถือโอกาสยอมรับความจริงว่า ไม่ได้แถลงไปในครั้งที่แถลงนโยบายต่อสภา เมื่อ 25 กรกฎาคม 2562 เป็นเพราะเหตุใด และโอกาสนี้เป็นโอกาสดีที่จะแถลงเพื่อให้และปรึกษาตัวแทนของประชาชนเจ้าของประเทศ

อนึ่ง บริษัทหรือธุรกิจใดก็ตาม ที่ฝ่ายบริหารเสนอว่าจะผลิตทำมาค้าขายอย่างนั้นอย่างนี้ ก็จะต้องแจกแจงให้ผู้ถือหุ้น เจ้าของบริษัท ได้รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน และจะดำเนินการให้เป็นจริงได้อย่างไร? เมื่อไร?

รัฐธรรมนูญ มาตรา 162 ที่มีข้อความเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญฉบับเก่า โดยให้รัฐบาลแจงแหล่งที่มาของงบประมาณที่จะใช้จึงถูกต้องเหมาะสมแล้ว แต่เสียดายว่าจนบัดนี้รัฐบาลก็ยังไม่ได้แจกแจง

การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ในวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา เป็นการประชุมเพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติเป็นครั้งแรกของสภาผู้แทนราษฎรตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุ

ถ้าดูจากการอภิปราย การประชุมของ ส.ส. ดูจะเรียบร้อย พูดจาสอบถามเป็นเรื่องเป็นราว ไม่มีการด่าว่า ประท้วงให้เสียเวลา ถ้าจะดูรูปแบบวิธีการประชุมนับว่าประสบความสำเร็จ

แต่ถ้าดูว่าประชาชนได้คำตอบอะไรจากรัฐบาล ก็ต้องบอกว่ายังไม่ได้คำตอบ

ผมฝันไป ก่อนหน้าการประชุมหนึ่งวัน ผมเขียนความฝันลง Facebook ของผมว่า

“วันพรุ่งนี้ ที่รัฐสภา เราอาจจะได้เห็นนายกรัฐมนตรี สวมหัวใจชายชาติทหาร

ยอมรับว่าได้ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ โดยไม่ได้มีเจตนาผิดหลงโดยไม่ได้ตั้งใจ

และพร้อมจะขอพระราชทานอภัยโทษ พร้อมทั้งขอนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ พร้อมกับการปรับคณะรัฐมนตรีหนึ่งคน แทนรัฐมนตรีที่สังคมไม่ให้ความเชื่อถือในขณะนี้”

ความจริงถ้ารัฐบาล จะได้พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอก็น่าจะทำให้รัฐบาลสง่างาม เป็นที่ศรัทธาของประชาชนมากขึ้น

การไม่ตอบคำถามในสภา การไม่ชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา อาจถูกกล่าวหาได้ว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ

มองรัฐธรรมนูญและรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการบริหารให้มีภาพการบริหารในระบอบประชาธิปไตยอย่างนานาประเทศเท่านั้น

รัฐบาลต้องแก้ตัวใหม่ครับ ต้องเห็นรัฐธรรมนูญและรัฐสภาสำคัญมากกว่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image