อดีตรมว.คลัง ยัน “อนาคตใหม่กู้เงินธนาธร” ไม่ผิด เงินกู้คือรายรับ แต่ม.62หมายถึง”รายได้”

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเห็น กรณี นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ออกมาให้ความเห็นเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ระบุเรื่องการให้เงินกู้ยืมแก่พรรคอนาคตใหม่ พร้อมชี้ว่า น่าจะเป็นหลักฐานเอาผิด ถือว่าเป็นการจบอนาคต มีความผิดถึงขั้นยุบพรรคได้ โดยนายธีระชัย ระบุว่า

กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้เงินจากนายธนาธร 110 ล้านบาท และมีบางคนวิจารณ์ว่าผิดกฎหมาย อ้างว่า พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560  มาตรา 62 ไม่ระบุถึงเงินกู้ จึงเท่ากับไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงิน สรุปโยงไปว่า เงินที่นายธนาธรให้แก่พรรคอนาคตใหม่ต้องถือเป็นการ “บริจาค” ซึ่งผิดกฎหมาย เพราะเกินกว่า 10 ล้านบาทที่อนุญาต นั้น

ประเด็นสำคัญอยู่ที่การตีความว่า มาตรา 62  ไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงิน จริงหรือไม่?  ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี ผมขอชี้ว่า มาตรา 62 นั้นกล่าวถึงแต่เฉพาะ ‘รายได้’

ในขณะที่มาตรา 59 กำหนดให้ทำบัญชีที่แสดงทั้ง ‘รายได้’ หรือ ’รายรับ’ และทั้ง ’ค่าใช้จ่าย’ หรือ ’รายจ่าย’
ดังนั้น กระแสเงินสดของพรรคการเมืองจึงมีสี่ประเภท

Advertisement

เมื่อพรรคได้รับเงินกู้ หรือมีการก่อหนี้ จึงอยู่ในประเภท ’รายรับ’ (Inflow) และเมื่อชำระคืนหนี้ จึงอยู่ในประเภท ’รายจ่าย’ (Outflow) เป็นคนละประเภทจาก ‘รายได้’ (Revenue) และ ’ค่าใช้จ่าย’ (Expense)
การตีความว่า มาตรา 62 ไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองกู้ยืมเงิน ซึ่งย่อมจะรวมไปถึงการเป็นหนี้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบริการ ด้วยนั้น น่าจะเป็นการเข้าใจเรื่อง ‘รายได้’ ที่ปะปนกับ ’รายรับ’

นอกจากนี้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 ก็มีข้อบัญญัติทำนองเดียวกับมาตรา 62 (แต่เป็นมาตรา 53) จึงต้องสำรวจการปฏิบัติปี 2550 มีพรรคการเมืองใดที่กู้ยืมเงิน หรือไม่?

ผมเคยเห็นข้อมูลว่า มีหลายพรรคที่กู้ยืมเงินในอดีตเป็นเรื่องปกติ จึงต้องพิจารณาว่า ใช้อำนาจหรือสิทธิในการกู้อย่างไร

Advertisement

ส่วนกรณีมาตรา 132 ที่ห้ามนำเงินของพรรคไปจ่ายเพื่อประโยชน์แก่บุคคลนั้น ถ้าพรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้ เป็นหนี้ได้ การที่พรรคจะจ่ายเงินเพื่อปลดเปลื้องหนี้ ก็ย่อมเพื่อประโยชน์ของพรรคเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ข้อพิจารณาว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เป็นคนละเรื่อง กับประเด็นว่า การที่พรรคกู้ยืมจากหัวหน้าพรรค หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ประสงค์จะมีอิทธิพลต่อพรรค เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่

โดยถ้าหาก กกต. เห็นว่าไม่เหมาะสม ก็จะต้องทำการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายต่อไปในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image