“กรมโยธาฯ” แถลงผลงาน 7 ปี ชูผลงานโบว์แดง “พ.ร.บ.ผังเมือง-วางผังอีอีซี-ระบบป้องกันน้ำท่วม”

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 25 กันยายน ที่โรงแรมแบงคอก แมริออทฯ กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดงานแถลงข่าวผลงานกรมโยธาธิการและผังเมือง 2556-2562 “7 ปีแห่งความมุ่งมั่น สร้างบ้าน พัฒนาเมือง” โดยนายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 7 ปีที่ผ่านมา กรมได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ มากมายภายใต้ยุทธศาสตร์ ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ด้านการผังเมือง ด้านการพัฒนาเมือง ด้านการอาคาร และด้านการบริการด้านช่าง โดยมีผลงานที่สำคัญได้แก่ การยกร่าง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 การวางและจัดทำผังเมืองครบทั้ง 76 จังหวัด การวางผังเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โครงการวางผังการระบายน้ำจังหวัดในลุ่มน้ำโครงการพัฒนาตามผังเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่และสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยว โครงการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ระบบระบายน้ำ โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำในประเทศ เขื่อนริมทะเลทั่วประเทศ และเขื่อนริมแม่น้ำชายแดนระหว่างประเทศ โครงการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ งานวิเคราะห์วิจัยและทดสอบวัสดุ การกำจัดผักตบชวาอีกทั้งงานก่อสร้างพลับพลาพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เพื่อประทับในพิธีต่างๆ เป็นต้น

นายมณฑล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กรมยังได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลมอบหมายภารกิจที่สำคัญของประเทศหลายภารกิจ และเป็นภารกิจที่เรารู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจ เช่น การก่อสร้างพระเมรุมาศจำลอง รวมถึงจิตกาธานและซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลและในทุกจังหวัดทั่วประเทศรวม 84 แห่ง เพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีรูปแบบที่สวยงาม สมพระเกียรติ และภารกิจการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ในการวางแผนป้องกันไม่ให้มวลน้ำขนาดใหญ่ไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ตลอดจนปรับปรุงระบบการทำงานเพื่อแก้ปัญหาของประเทศ สนองนโยบายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ทำให้กรมโยธาธิการฯ เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานภายนอก และเป็นองค์กรที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์และการดำเนินงานของกรมโยธาธิการฯ ได้ปฏิบัติภารกิจขานรับนโยบายเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่อง โดยยุทธศาสตร์ด้านการผังเมือง เช่น งานผังเมืองรวมจังหวัดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 กรมฯ ได้ผลักดันให้ประเทศไทยมีการบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัด ครบทั้ง 73 จังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพฯ ภูเก็ต นนทบุรี และสมุทรปราการ เนื่องจากมีการวางผังเมืองรวมครอบคลุมทั้งพื้นที่แล้ว) ภายใน ปี 2560 เป็นผลสำเร็จ และที่สำคัญในปี 2562 เราพยายามผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 เพื่อแก้ไขปัญหาความล่าช้าในขั้นตอนการวางผังเมือง การกระจายอำนาจและกฎหมายที่ไม่ทั่วถึง ข้อดีของการปรับผังเมืองครั้งนี้ คือผังเมืองมีความสอดคล้องและเชื่อมโยง ทำให้มีเครื่องมือในการบริหารจัดการผังเมืองได้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีการจัดระบบระเบียบดีขึ้นส่งผลให้บูรณาการร่วมกันได้ดีขึ้นทุกภาคส่วน เป็นต้น

นายมณฑล กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเมือง เช่น โครงการพัฒนาพื้นที่เฉพาะเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้มีระบบสาธารณูปโภคและถนนหนทางที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย สะดวกสบายมากขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ โครงการพัฒนาพื้นที่เฉพาะบริเวณชายหาดปราณบุรี อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาด ปรับปรุงสภาพแวดล้อมชายหาดที่เสื่อมโทรมจากการถูกบุกรุก รวมทั้งพัฒนาระบบคมนาคมให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวและใช้ประโยชน์ร่วมกัน โครงการพัฒนาเมืองในพื้นที่ชุมชนเฉวง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ในช่วงฤดูฝนชุมชนเฉวง เกาะสมุยประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ โดยเฉพาะใน ปี 2554 แต่หลังจากโครงการนี้เสร็จสิ้น ก็ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชนเฉวงอีกเลย ทำให้เกิดความสะดวก ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ของประชาชน และนักท่องเที่ยว และโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ซึ่งได้ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน (ปีงบประมาณ2562) ทั้งสิ้น 50 โครงการ ในพื้นที่ 43 จังหวัด การจัดรูปที่ดินเป็นวิธีหนึ่งที่หลายประเทศใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาพื้นที่ แก้ไขพื้นที่ตาบอดให้มีถนนและระบบสาธารณูปโภคเข้าถึง ตั้งเป้าว่าจะทำให้ครบทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ (ไม่รวมกรุงเทพฯ) อย่างน้อยจังหวัดละ 1 โครงการเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงประโยชน์ของการจัดรูปที่ดิน

Advertisement

นายมณฑล กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์ด้านการอาคาร กรมได้ปฏิบัติภารกิจในการควบคุมและตรวจสอบอาคารทั่วประเทศ ให้มีความมั่นคง ปลอดภัย มีอัตลักษณ์ ประหยัดพลังงานและลดภาวะโลกร้อน ตรวจสอบระบบและพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยในอาคาร ภายใต้การออกกฎหมายควบคุมอาคาร และยังมีกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 เพื่อให้อาคารที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว สามารถต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว นอกจากนี้ กรมยังได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนสำหรับการใช้งานเครื่องเล่น จึงได้จัดทำกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมเครื่องเล่น พ.ศ.2558 เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุจากการเข้าใช้เครื่องเล่น เป็นต้น ยุทธศาสตร์ด้านการบริการด้านช่าง กรมได้ดำเนินโครงการแบบบ้านสานฝัน ของขวัญปีใหม่ คนไทยมีความสุข ตั้งแต่ ปี 2559 โดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการออกแบบบ้าน สามารถนำไปยื่นขออนุญาตก่อสร้างได้ทันที ซึ่งปี 2561 จัดทำ “แบบบ้านต้านแผ่นดินไหว” และปี 2562 จัดทำ “แบบบ้านอารยสถาปัตย์” เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุ และ “แบบบ้านสำเร็จรูป” เพื่อแก้ไขปัญหาในการก่อสร้างที่พักอาศัยให้มีความสะดวก รวดเร็ว และประหยัด สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ประสบภัยธรรมชาติ

นายมณฑล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีงานออกแบบก่อสร้างพลับพลาพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงใช้ประทับในการประกอบพระราชกรณียกิจ งานพระราชพิธี การทรงงานการพัฒนา และช่วยเหลือราษฎรในทุกๆ พื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งต้องเน้นความแข็งแรง ความสวยงาม สมพระเกียรติยศ ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทยและหลักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image