“คุณปลื้ม” แจง หลังโดนรุมจวก ปมวิจารณ์การเชิดชู “เกรตา ธันเบิร์ก”

ภาพจาก voicetv.co.th

กรณี มล.ณัฐกรณ์ เทวกุล หรือ คุณปลื้ม ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม. แสดงความไม่เห็นด้วยกับการ เชิดชู เกรตา ธันเบิร์ก นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม คล้ายศาสดา ในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ต่อมามีหลายฝ่ายวิจารณ์ เช่นนักวิชาการหลายคน รวมถึง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เปรียบ วิธีคิดของมล.ณัฐกรณ์ ไม่ต่างจาก โดนัลด์ ทรัมป์ (คลิกอ่านข่าว)

ล่าสุด มล.ณัฐกรณ์ แสดงความเห็น ชี้แจงเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า กรณี มีการวิจารณ์ ว่าตนเอง ไม่เข้าใจ เห็นใจภาวะโลกร้อน นั้น ต้องเข้าใจว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศไม่ตระหนักในภาวะความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทุกประเทศเขารู้ ทุกคนเขาเข้าใจเรื่องภาวะโลกร้อน พูดอย่างตรงไปตรงมา คือเจ้าหน้าที่ระดับล่าง นักการทูตที่ตามผู้นำประเทศไป เขาก็รู้และเข้าใจ มากกว่า เกรตา ธันเบิร์ก ด้วยซ้ำ แต่ประเด็นมันอยู่ที่เรื่องการรับมือของปัญหา ว่ารัฐบาลแต่ละประเทศจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร ในการที่จะรับมือเพื่อลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านพลังงานที่จะรักษาสภาพแวดล้อมให้ยังคงดีอยู่ และขณะเดียวกันก็มอบพลังงานให้พลเมืองในประเทศมีพลังงานใช้อย่างพอเพียงและยั่งยืน แต่ละประเทศก็รับมือแตกต่างกัน ตามศักยภาพและงบประมาณที่แต่ละประเทศมี

“ไม่ใช่ว่าประเทศไทย ลาว เมียนมา จะสามารถไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคด้านพลังงานได้เทียบเท่า สวีเดน ได้ ไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะเป็นอย่างสแกนดิเนเวียได้ มันไม่ใช่” มล.ณัฐกรณ์ กล่าว

พร้อมกล่าวต่อว่า “วันนี้แผนพลังงานของไทยก็มีความหลากหลาย มีการกระจายความเสี่ยงแล้ว แต่ปัญหาขณะนี้คือ เวลาจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้ณฐานสาธารณูปโภคเพื่อการพลังงานต่างๆ ก็จะถูกเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคมต่อต้าน ยกตัวอย่างเมืองไทย จะสร้างเขื่อนสักเขื่อน ถามว่าสร้างได้ไหม หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินระบบถ่านหินสะอาด ถามว่าสร้างได้ไหม มันก็ยากเย็น  กระแสแบบที่ถูกปลุกให้เราต้องเป็นห่วงตลอดเวลา และทำเหมือนมนุษย์เป็นปีศาจ ซึ่งมนุษย์ไม่ใช่ปีศาจ การปลุกกระแสแบบนี้เอาจริงๆมันไม่ได้ช่วย ทำให้เราไม่มี ไม่ฟังมุมมองที่แตกต่าง”  มล.ณัฐกรณ์ ระบุ

Advertisement

จากนั้น ม.ล.ณัฐกรณ์ ได้นำความเห็นของนักการเมืองเยอรมัน ที่อธิบายมุมมองแตกต่าง ที่มองว่า ปรากฎการณ์ เกรตา ธันเบิร์ก ไม่ทำให้สังคมเถียงกันในมุมมองอื่นๆ โดยเฉพาะในเชิงนโยบายที่จะตัดสินกันในระดับภาครัฐ และช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อมในทางที่ดีขึ้น

“เวลามีคนพูดถึงหลักการที่มันสวนกับหลักการที่คุณอาจจะเห็นได้ตามสื่อกระแสหลักอย่างแพร่หลาย แล้วรู้สึกเจ็บแค้น ยิ่งกว่าผมไปวิพากษ์วิจารณ์ศาสดาของศานาใดศาสนาหนึ่ง ผมวิจารณ์เรื่องสิ่งแวดล้อม ผมโดนจวกหนักยิ่งกว่าผมไปวิจารณ์ศาสนาใด ศาสนาหนึ่ง มันแสดงว่าคนจำนวนมากในยุคนี้ถูกหล่อหลอมให้เติบโตขึ้นมาแบบนี้ และผมเคยเจอมาหมดแล้ว เรียนที่เมืองนอกเมืองนา ก็สอนกันเรื่องพวกนี้ สอนให้ รัก พิทักษ์สิ่งแวดล้อมจนไม่ได้คิดเรื่องอื่น จริงๆมันมีเป้าหมายอื่น ที่ภาครัฐมีหน้าที่ในการรับผิดชอบ การลดปัญหามลภาวะที่มี ในสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ นั่นคือหนึ่งในภารกิจ มันไม่ใช่เรื่องเดียว ตื่นจากศาสนาสิ่งแวดล้อม ก่อนจะสายเกินไป ” มล.ณัฐกรณ์  กล่าว

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image