‘อนุทิน’ ลั่น 15 ต.ค.นี้ ลงนามโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงต้องจบ

‘อนุทิน’ ลั่น 15 ต.ค.นี้ ลงนามโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงต้องจบ

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่า สธ. เปิดเผยถึงกรณีให้สัมภาษณ์ว่ายินดีจะควักเงินส่วนตัว 200 ล้านบาท รื้อเสาต่อม่อโฮปเวลล์ เพื่อเปิดทางให้โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) ภายหลังติดปัญหารื้อเสาดังกล่าว ว่า เป็นการพูดเปรียบเปรย ในส่วนของเรื่องการเจราจา ขณะนี้ไม่ถึงขั้นที่ตนจะต้องเจรจาเอง โดยความสำคัญของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นหัวใจของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก หากโครงการรถไฟฟ้าไม่ เกิดขึ้น อีอีซีก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น ก็อย่าไปนึกถึงประเทศไทยจะเดินหน้าเป็น 5.0 หรือจะยิ่งใหญ่ได้ เพราะตอนแรกตนก็ยังไม่เชื่อเรื่องอีอีซี แต่มองเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันแล้วก็จำเป็นต้อง ขณะที่ตอนนี้ไทยเดินหน้าเรื่องนี้มาไกลแล้ว ขณะเดียวกันยังมีการโปรโมตนโยบายไปยังนักลงทุนทั่วโลก

“ถ้าเรื่องนี้ไม่สำเร็จ ไม่กระทบแค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่จะกระทบกับความมั่นคง สังคม ความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสายตานักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น ต้องทำให้เกิดให้ได้ โครงการสนามบิน รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ รวมถึงมอเตอร์เวย์ ต่างแยกส่วน แยกการประมูล แล้วจะไปรู้ได้อย่างไรว่าจะชนะทุกสัญญา ดังนั้นประมูลอะไรได้ก็ต้องรับผิดชอบสัญญานั้น เราไม่ได้บังคับให้เข้ามาประมูล คุณมาซื้อซองประกวดราคา ศึกษาทีโออาร์ เงื่อนไขการประกวดราคา เงื่อนไข กฎเกณฑ์ต่างๆ ผู้ประกวดราคารู้หมดทุกเรื่อง อ่านมาหมดทุกบรรทัด ไม่มีอะไรตกหล่น บกพร่อง ดังนั้นถ้าเกิดชนะการประกวดราคาแล้วต้องรีบมาทำสัญญา รัฐบาลต้องรีบสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะมาลงทุนในอีอีซีให้เร็วที่สุด” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ รัฐบาลไม่ติดขัด และตนคิดว่าจะติดขัดเรื่องใด หากผู้ชนะการประกวดราคาต้องทำโครงการนี้ให้เกิดขึ้นจริง การลงนามไม่เกิน 2 วินาที เพราะเงื่อนไขข้อตกลงข้อตกลงซึ่งกันและกันถูกกำหนดในทีโออาร์อยู่แล้ว เรื่องที่นอกเหนือทีโออาร์ก็ต้องตกลงกัน แต่ไม่ใช่ว่าตกลงไม่ได้แล้วจะถือเป็นเหตุให้ไม่มาลงนามไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะถือเป็นผู้หนีงานแล้ว

Advertisement

“ดังนั้น ขอให้มาลงนามในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ต้องจบ ไม่จบค่อยว่ากัน แต่ไม่จบไม่ได้ เพราะว่ากำหนดระยะเวลายื่นราคาคือวันที่ 7 พฤศจิกายน พูดง่ายๆ รัฐบาลปฏิบัติทุกอย่างในทีโออาร์ ถ้าผู้ชนะการประมูลไม่มาเซ็นสัญญาก็ถือ เป็นผู้ละทิ้งงาน ซึ่งไม่ได้จบเพียงแค่เสียหลักทรัพย์ค้ำประกันซองประมูลเท่านั้น เพราะรัฐบาลต้องไปเสียเงินจ้างรายอื่นๆ หรือเปิดประมูลใหม่โดยที่มีส่วนต่างเพิ่มมากขึ้น ผู้ที่ละทิ้งงานต้องรับผิดชอบอยู่ดี เราทำอะไรตรงไปตรงมาดีที่สุด” นายอนุทิน กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image