ที่เห็นและเป็นไป : มุมต่าง‘ทิศทางการเมือง’

หากฟังจากพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน การประเมินทิศทางทางการเมือง จะมองในมุมที่เกี่ยวโยงกับ “เสี่ยงปริ่มน้ำของรัฐบาล”-“เสียงวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีในเรื่องแสดงออกต่างๆ”-“วิกฤตเศรษฐกิจในทางที่กระทบต่อปากท้องประชาชน”-“แรงกดดันที่เกิดขึ้นกับพรรคร่วมรัฐบาล”

เป็นการประเมินแนวโน้มจากกระแสความรู้สึกนึกคิดของประชาชนว่ายังเหลือการแสดงออกในทางชื่นชมยินดีกับผลงานของรัฐบาลแค่ไหน

อาจจะเลยไปถึงท่าทีของต่างประเทศ

ย่อมเป็นธรรมดาของคนที่เป็นนักการเมือง หรือคนที่สนใจการเมืองแบบให้ความสำคัญกับความคิดความเห็นของประชาชน หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับปากท้องประชาชน จะมองเช่นนี้

Advertisement

และส่วนใหญ่มักจะสรุปว่า รัฐบาลนี้จะเหนื่อยมากขึ้น เนื่องจากว่ายิ่งนับวันความไม่พอใจผลงานของรัฐบาลในความรู้สึกประชาชนมีมากและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งมองไม่เห็นว่าวิธีการที่ทำอยู่ของรัฐบาลจะแก้ไขอะไรได้

ทิศทางทางการเมืองในสายตาของคนกลุ่มนี้ย่อมเห็นว่า “รัฐบาลไม่น่าจะไปรอด หรืออย่างน้อยไม่น่าจะอยู่ได้ยาว”

Advertisement

ยิ่งภาพลักษณ์ทางการเมืองตกต่ำ มีเรื่องเสียหายมากมายเกิดขึ้นในคณะรัฐมนตรี ยิ่งเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงน่าจะเกิดขึ้น

อย่างที่บอกนั่นเป็นมุมมองของคนที่ให้ราคาสูงกับความรู้สึกนึกคิดของประชาชน

แต่สำหรับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ชอบจะมองกว้างไปกว่าความรู้สึกนึกคิดของประชาชน โดยให้ราคามากกว่ากลไกที่ควบคุมอำนาจรัฐ และความเป็นไปของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กองทัพ องค์กรอิสระที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายชะตากรรมของผู้คนในสังคมและกลไกการเมือง ข้าราชการ และเลยไปถึงทุนผูกขาดของประเทศที่เข้าไปมีบทบาทครอบงำกลไกอำนาจในระดับต่างๆ

เท่าที่ฟัง คนที่ให้ราคากับกลไกในโครงสร้างอำนาจกลุ่มนี้ มองแนวโน้มทางการเมืองไปในทางที่ว่า รัฐบาลชุดนี้จะยังอยู่ยาว เพราะดูจะเป็นรัฐบาลที่กล้าหาญในการสนองตอบประโยชน์ให้กลไกควบคุมอำนาจได้อย่างเด็ดขาด

ไม่ติดขัดในความรู้สึกที่ต้องแคร์ต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเหมือนรัฐบาลชุดอื่นๆ

การประสานประโยชน์ในกลุ่มอำนาจยังทำได้ในระดับที่น่าพอใจ

ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้น่าจะอยู่ไปอีกยาวในมุมมองของคนกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ

เป็นกลุ่มที่มองจากมุม “ความมั่นคง”

ย้อนไปในวันอภิปรายเรื่อง “ถวายสัตย์ฯขัดรัฐธรรมนูญ” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสนใจกับเอกสาร “โครงข่ายขบวนการทำลายชาติ” ที่เอาเข้ามาอ่านในช่วงที่ฝ่ายค้านพูด

ย้อนไปถึงที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกให้สัมภาษณ์ถึงวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ “อิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่มีผลต่อสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง”

โดยบอกว่า “เขียนเสร็จแล้ว เดี๋ยวเผยแพร่ เดี๋ยวจะมีคนเดือดร้อน”

และมาถึงวันนี้ มีการเผยแพร่เอกสารสัญญาจ้างล็อบบี้ยิสต์จากสหรัฐ ให้ทำงานของ “พรรคอนาคตใหม่” ที่แม้พรรคการเมืองนี้จะอธิบายซ้ำแล้วซ้ำอีกทำนองว่า “เป็นเรื่องปกติของการบริหารสมัยใหม่ที่จะจ้างผู้เชี่ยวชาญให้ติดต่อประสานงานกับคนและหน่วยงานในต่างประเทศ”

แต่ดูเหมือนว่า “เมื่อเกิดม็อบต่อต้านนายกรัฐมนตรีจากไทยในการประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐ สัญญาว่าจ้างฉบับนี้จะถูกกระแสโยงเข้าไปในเรื่องความเคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่า”

ความมั่นคงเป็นเหตุผลที่ใช้สำหรับประกาศถึงความจำเป็นที่จะต้องทำในสิ่งที่ขัดใจประชาชนมาตลอด

เพราะหากเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาแล้ว “ความมั่นคงสำคัญกว่าปากท้อง-ปากท้องสำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพทางการเมืองอันหมายถึงความเป็นประชาธิปไตย”

คำตอบในคำถามถึงแนวโน้มทางการเมือง จะชัดขึ้นเรื่อยๆ ในกระแสสะท้อนถึงแรงสะเทือนของความมั่นคง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image