สำรวจ “สำมะโน” ในยุคดิจิทัล โจทย์ใหญ่ “สสช.”

สำรวจสำมะโนž ในยุคดิจิทัล โจทย์ใหญ่žสสช.ž

สำมะโนประชากรž เดิมเรียกว่า สํารวจสำมะโนครัวž ซึ่งในอดีต คือ การทำบัญชีพลเมือง หรือถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การนับจำนวนผู้คน หรือพลเมืองทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย แล้วแจกแจงว่าผู้คนเหล่านั้นมีคุณลักษณะอย่างไรบ้าง เช่น ผู้หญิง ผู้ชาย อายุ สัญชาติ ฯลฯ และกระจายตัวกันอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศอย่างไร

การนับคนหรือนับพลเมือง มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา เรื่อยมาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเป็นการประมาณจำนวนพลเมืองที่อยู่ตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อให้รู้กำลังไพร่พล ซึ่งช่วงแรกในปี 2448 ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนที่สามารถทำได้ อย่างในเขตบริหาร 12 มณฑล จากทั้งหมด 17 มณฑล ที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย

เข้าสู่ยุคสำมะโนประชากรของ “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” หรือ สสช. ที่รวบรวมข้อมูลประชากรของประเทศในรูปของการทำสำมะโนประชากรครั้งแรกเมื่อปี 2503 และจัดทำต่อเนื่องทุกๆ 10 ปี โดยตั้งแต่ปี 2513 สสช.ได้จัดทำ “สำมะโนเคหะ” ควบคู่ไปกับสำมะโนประชากร ซึ่งล่าสุดเมื่อปี 2553 เป็นการทำสำมะโนประชากรครั้งที่ 11 และเป็นการทำสำมะโนเคหะครั้งที่ 5 ของไทย

Advertisement

ภุชพงค์ โนดไธสง

ภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการ สสช.เผยว่า ปี 2563 เป็นปีที่ 110 ของการทำสำมะโนประชากร โดยสำนักงบประมาณได้พิจารณากรอบวงเงินงบประมาณเบื้องต้น สำหรับการทำสำมะโนประชากร โดยมีการบูรณาการข้อมูลเชิงบริหาร ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ ทั้งนี้ หากงบประมาณได้รับอนุมัติจะช่วยให้ สสช. มีเครื่องมือสำหรับการทำสำมะโนประชากรเพิ่มเติมจากเครื่องมือเดิมที่ผ่านการใช้งานมากว่า 17 ปี

Advertisement

การทำสำมะโนประชากร ประกอบด้วย 4 วิธี ได้แก่ 1.การสำรวจแบบดั้งเดิม (เฟซทูเฟซ) คือ การสัมภาษณ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิธีหลักในการรวบรวมข้อมูล โดยผู้สัมภาษณ์สามารถชี้แจงรายละเอียดและตอบข้อซักถามแก่ผู้ตอบสัมภาษณ์ได้โดยตรง ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นวิธีแบบดั้งเดิม หรือโบราณ ทำให้ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่ด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยังมีอยู่ จึงทำให้ต้องคงวิธีดังกล่าวไว้

2.หากไม่สามารถทำสำมะโนประชากรได้เต็มรูปแบบ อาจต้องมีการเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสมสำหรับการสะท้อนภาพรวมขนาดใหญ่แทน เพื่อใช้ประกอบกับข้อมูลทะเบียนจากหลายภาคส่วน เช่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการคลัง เป็นต้น เพื่อใช้ในการจัดทำข้อมูลบิ๊กดาต้าเบื้องต้น และใช้การสำรวจแบบดั้งเดิมเสริม

3.การสำรวจผ่านอินเตอร์เน็ต (อี-เซอร์เวย์) และ 4.การบูรณาการข้อมูลร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทั้ง 5 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สำหรับฝากลิงก์การทำสำมะโนประชากรไปยังกลุ่มลูกค้าที่จดทะเบียน เพื่อเชิญชวนประชาชนให้ข้อมูลผ่านระบบโมบายล์

“ยืนยันว่าข้อมูลของประชาชนจะไม่ถูกโอเปอเรเตอร์เก็บไว้อย่างแน่นอน โดยข้อมูลจะถูกเก็บมาโดยตรงยัง สสช. และ สสช.ไม่สามารถเผยแพร่ได้ เพราะมีกฎหมายของ สสช.ห้ามมิให้เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลไปยังคนภายนอกอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลส่วนบุคคลคุ้มครองอีกด้วย” ภุชพงค์ระบุ

ขณะที่ประโยชน์ของข้อมูลสำมะโนประชากร แบ่งเป็น 3 ภาคส่วน โดยภาครัฐ ได้แก่ 1.ใช้ในการกำหนดนโยบาย วางแผนทั้งด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม 2.ใช้เพื่อจัดเตรียมงบประมาณเพื่อจัดหาสาธารณูปโภคและบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ ได้ตรงตามความต้องการหรือตามความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่น (หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด) อาทิ การจัดหาสาธารณูปโภคให้เพียงพอและถูกสุขลักษณะ, การจัดจำนวนโรงเรียน ครูให้เพียงพอและเหมาะสม โดยมีเป้าหมายคือให้เด็กทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน, การจัดเตรียมวัคซีนสำหรับเด็กแต่ละวัยให้เพียงพอ, การจัดสวัสดิการให้เพียงพอกับคนด้อยโอกาส และข้อมูลโครงสร้างของประชากรตามที่อยู่จริง จะใช้เป็นฐานในการจัดแผนยุทธศาสตร์จังหวัด โดยในการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (จีพีพี) นั้น จำเป็นต้องใช้จำนวนประชากรที่ถูกต้องครบถ้วนในระดับจังหวัด และในการคำนวณตัวชี้วัดที่แสดงผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการในจังหวัดได้อย่างถูกต้องนั้น ต้องใช้จำนวนประชากรจริงเป็นตัวหาร เช่น รายได้เฉลี่ยต่อหัว อัตราการมารับบริการด้านต่างๆ เป็นต้น

3.ใช้เป็นฐานในการคาดประมาณประชากรในอนาคต 4.ใช้เป็นกรอบในการเลือกตัวอย่าง สำหรับการสำรวจในรายละเอียดเฉพาะเรื่องด้านประชากร สังคม และ 5.ใช้เป็นฐานร่วมกับการสำรวจต่างๆ เช่น การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในการจัดทำตัวชี้วัดต่างๆ เช่น แผนที่ความยากจน และแผนที่ผู้หิวโหย เป็นต้น

สำหรับ ภาคเอกชน สามารถใช้ข้อมูลความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่ต่างๆ (อาทิ เพศ อายุ อาชีพ) เพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำธุรกิจ เช่น ตั้งร้านค้าหรือขยายกิจการตามลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ขณะที่ภาคประชาชน จะมีความอยู่ดีมีสุข เนื่องจากได้รับบริการจากภาครัฐอย่างเพียงพอและทั่วถึง

“การทำงานของ สสช.ในปีหน้าจะฉีกไปจากรูปแบบเดิม โดยเฉพาะการทำสำมะโนประชากร ที่ประเมินว่าอีก 10 ปีข้างหน้า การสำรวจแบบดั้งเดิมอาจไม่จำเป็นแล้ว หากระบบทะเบียนมีข้อมูลที่ครบถ้วน ทั้งนี้ งบประมาณปี 2563 สสช.คาดว่าจะได้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการทำสำรวจสำมะโนประชากร 480 ล้านบาท, การทำระบบหลังบ้านจะปรับจากเดิมที่มี 20-30 ระบบ เหลือเพียง 5-6 ระบบ งบประมาณ 60-70 ล้านบาท, งบประมาณบุคลากรใน สสช. จำนวน 600 ล้านบาท และโครงการอื่นๆ เช่น การสำรวจการว่างงาน เป็นต้น จำนวน 300 ล้านบาท” ภุชพงค์ระบุ

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ระบุว่า ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของคนไทยส่วนใหญ่แตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมาอย่างมาก ส่งผลให้ สสช.ทำงานได้ยากขึ้น ดังนั้น สสช.จึงต้องมีการปรับวิธีการสำรวจให้ทันกับยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการผสมผสานการสำรวจแบบดั้งเดิม คือ การสัมภาษณ์ เข้ากับการเพิ่มช่องทางสำรวจผ่านโมบายล์ และการสำรวจผ่านอินเตอร์เน็ต (อี-เซอร์เวย์) เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

ขณะนี้ กระทรวงอยู่ระหว่างการหารือกับโอเปอเรเตอร์ทั้ง 5 ราย เพื่อผลักดันให้มีการลงนามร่วมกันในการทำสำมะโนประชากรผ่านระบบการให้บริการของโอเปอเรเตอร์แต่ละราย และในอนาคตอาจมีการขยายความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการในแพลตฟอร์มต่างๆ

ส่วนบทบาทของ “คุณมาดี” ที่ทำหน้าที่ออกสำรวจความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ กับประชาชนในพื้นที่ที่มีอยู่กว่า 70,000 คน ครอบคลุมทุกหมู่บ้านนั้น กระทรวงจะยกระดับให้เป็นอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกระทรวงในเรื่องต่างๆ เช่น ข้อมูลข่าวปลอม นโยบายต่างๆ ที่กระทรวงมี ตลอดจนการให้ความรู้และแจ้งเรื่องร้องทุกข์มายังกระทรวง เพื่อให้บุคคลเหล่านี้มีภารกิจมากขึ้นในลักษณะ อสม.ที่มีเงินเดือนในการทำงาน เมื่อภารกิจชัดเจนกระทรวงก็สามารถตั้งงบประมาณในการทำงานได้

จับตาภารกิจ “สำมะโนประชากร” ที่หนักหนาสาหัส ต้องเอาใจช่วยให้ “สสช.” ฉีกกฎ ปลดแอกสิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่ ก้าวสู่ความเป็น 4.0 ให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image