เสวนา 13 ปีรัฐประหาร’49 ชี้เหมือนละครพล็อตเปลี่ยน เทียบเปิด ‘ผอบโมรา’ ทำเสื้อเหลืองอกหัก

เสวนา 13 ปีรัฐประหาร’49 ชี้เหมือนละครพล็อตเปลี่ยน เทียบเปิด ‘ผอบโมรา’ ทำเสื้อเหลืองอกหัก

เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. วันที่ 28 กันยายน ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ มีการจัดเสวนาหัวข้อ ‘13 ปีรัฐประหาร 49 ก้าวพ้นหรือย่ำวนในวงจรของทรราช?’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในเสวนามีผู้เข้าร่วมจำนวนมากจนที่นั่งไม่เพียงพอ ทั้งประชาชนทั่วไป นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ รวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นต้น โดยในช่วงก่อนเสวนามีการเปิดคลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 จากนั้นเข้าสู่ช่วงเสวนา

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความรู้สึกที่มีกับรัฐประหารปี’49 ไม่ได้รู้สึกว่านาน ตนสอนการเมืองไทยครั้งแรกสมัยทักษิณ ชินวัตร ขึ้นสู่อำนาจใหม่ๆ จนเหตุการณ์ล่วงเลยไป ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปอย่างมาก ปัญหาคือเวลาพูดถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ตัวเหตุการณ์อธิบายด้วยตัวของมันเองไม่ได้ เพราะสะท้อนถึงความขัดแย้งในสังคมก่อนหน้านั้น สิ่งที่จะเป็นปัญหาทางการศึกษาคือ เวลาอ่านงานที่กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ต้องระวังว่าใครเป็นคนเขียน การไล่เรียงเหตุการณ์ก็ยากว่าจะตั้งหลักเรื่องนี้เมื่อไหร่ ตอนเกิดเหตุการณ์ 19 กันยาฯ 2549 ตนเรียนปริญญาเอกอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ช่วงนั้นยังไม่มีเสื้อแดง โดยเป็นช่วงที่ทักษิณกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งรอบที่ 3 ภายใต้บรรยากาศการตั้งคำถามในประเด็นประโยชน์ทับซ้อน ที่น่าสนใจคือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นตัวละคร หลังโดนแบนจากช่อง 9 ก็วิพากษ์ทักษิณและรวมตัวต่อต้าน โดยขบวนการเสื้อเหลืองเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

Advertisement

“สิ่งที่น่าสนใจที่สุดเท่าที่พูดได้ในรัฐประหารครั้งนั้นคือการมีบรรยากาศที่มีการเตรียมการให้ดูเป็นรัฐประหารของมวลชนมากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา อย่างน้อยในชีวิตผม เหมือนมีคนเรียกร้องจนทำให้เกิดบรรยากาศอย่างนั้น เปรียบเหมือนการรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์มีข้อถกเถียงว่ารัฐประหารนำไปสู่ประชาธิปไตยได้หรือไม่

การรัฐประหารรอบนั้นเป็นจุดตั้งต้นเหมือนการเปิดผอบจันทโครพ คือคิดว่าในผอบเป็นอีกอย่าง แต่กลับเป็นอีกอย่าง จึงพบเสื้อเหลืองอกหัก การใช้วิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแก้ปัญหาประชาธิปไตยทำให้เกิดความขัดแย้งยาวนานเพิ่มขึ้นกว่าเดิม

ในวิธีคิดของชนชั้นนำ การรัฐประหารคืออะไรกันแน่ คุณวิษณุ เครืองาม หมอเหรียญทอง หรือชนชั้นนำคิดอย่างไร รัฐประหาร 49 ต่างจากรัฐประหารในปี 2557 แต่เหมือนนิยายภาคต่อ คนทำรัฐประหาร 57 ก็คิดถึงรัฐประหาร 49 ในหัวตลอดเวลา” ผศ.ดร.พิชญ์กล่าว

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวว่า ในการเลือกตั้ง 62 เป็นกระบวนการรักษาอำนาจทางการเมือง ซึ่งผลก็เป็นไปตามแผนที่ถูกวางไว้ แต่แผนที่ไม่อาจคาดถึงคือปัจจัยใหม่ๆ คือ เกิดพรรคคนหนุ่มสาวที่ได้คะแนนเสียงเยอะอยู่นอกการคาดการณ์ ย้อนกลับไป 13 ปีที่แล้ว ตนเกลียดทักษิณ เพราะภายในการเป็นบริบทอาจารย์ในไทยไม่ว่ายุคไหนนักวิชาการอาจเหมือนกระบอกเสียงของสังคมที่จะวิพากษ์รัฐบาล แต่สุดท้ายเดินไปสู่ข้อหามากมาย ปรากฏการณ์ของยุคทักษิณคือตนถูกคนโทรไปด่าหลังให้สัมภาษณ์ว่าไม่เชื่อว่ามีทองคำในถ้ำลิเจีย 5 พันล้าน โดยตนถูกมองว่าไปวิพากษ์ทักษิณ ต่อมา ยังถูกไอทีวีฟ้อง 80 ล้าน จากการเขียนบทความ 70 บรรทัด ได้เงินมา 1,000 บาท ในหนังสือพิมพ์ที่ไม่มีใครอ่าน ต้องขึ้นศาล 2 ปี แต่พอไปสิงคโปร์ มองกลับมายังไทย รู้สึกเห็นโลกกลับตาลปัตร มานั่งคิดว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยกันแน่

“ก่อนรัฐประหาร 49 ทักษิณทำให้นักวิชาการถอยออกจากการปกป้องประชาธิปไตย นี่คือสิ่งที่อยากชี้ให้เห็นว่าบทบาททางการเมืองของปัญญาชนที่มีส่วนร่วมกับรัฐประหาร 49 ถามว่ารัฐประหารครั้งนั้นเสียของจริงหรือ ผมเชื่อว่ากลับทำให้ได้ของที่อยากได้ โดยรอคอยจังหวะและเวลา กรณี คสช.เป็นรัฐบาลที่รวมดาวอดีต ผบ.ทบ.มากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ก่อนหน้านั้นไม่เคยมี เพราะเป็นการรอคอยมานาน” ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

(ซ้าย) ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร (ขวา) ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าวต่อว่า เราถูกปลูกฝังให้รับการรัฐประหารอย่างไม่มีข้อแม้ และเกลียดนักการเมืองจากการเลือกตั้งซึ่งถูกตราหน้าว่าซื้อเสียง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทักษิณเปลี่ยนความคิดของตนคือ ทำให้รู้ว่าไม่มีอะไรทำไม่ได้ เช่น รถเมล์ฟรี ส่วนกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงในหน้าประวัติศาสตร์กลับถูกกระทำเหมือนทาส โดนเรียกว่า “อีปู” แทนที่จะโห่ร้องว่าเป็นชัยชนะของสตรี

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อยากให้มองบริบททางเศรษฐกิจ สังคมของเหตุการณ์ด้วย อย่างในขณะนี้เราพูดกันมากว่าประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงวัย แต่เน้นไปที่ปัญหาสุขภาพว่าจะจัดการอย่างไร ปรากฏการณ์ของรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านของรุ่นอายุ เกิดจากความรู้สึกที่ว่าคนรุ่นตนกำลังเสียอำนาจ ต้องหาวิธีคงอำนาจไว้ด้วยการรัฐประหารซึ่งจะไม่สำเร็จถ้ากองทัพไม่ได้มีบทบาทใหญ่ในการเมืองไทย โดยค่อนช้างชัดเจนว่ารัฐประหาร 49 ไม่ต้องการรัฐธรรมนูญ 40 เพราะได้เห็นอำนาจประชาชนที่เป็นชิ้นเป็นอัน

“มองย้อนหลังไปในปี’49 รัฐประหารคือความพยายามของคนรุ่นเก่าที่ต้องการย้อนไปสู่สิ่งที่ตัวเองคิดว่าคุ้นเคย คนอายุมากมีกระบวนการคิดแบบหนึ่ง มีความขัดข้องใจในการเปลี่ยนแปลงการเมืองไปสู่สากลโลกซึ่งหลายประเทศประสบความสำเร็จ เช่น อินเดีย มาเลเซีย รัฐประหารสะท้อนความต้องการของชนชั้นนำที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงและพยายามดึงไว้ สิ่งที่ไม่พอใจคือรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเกิดจากการต่อสู้ของประชาชนอย่างยาวยาน โดยเป็นครั้งแรกที่พูดเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีการตั้งสถาบันใหม่ๆ ที่มีเป้าหมายให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีศาลที่จะมาจัดการรัฐมนตรี ส.ส.ที่ทุจริตเป็นครั้งแรก โดยมีการดำเนินคดีจนติดคุกไปหลายคน หรือออกวงจรการเมืองอย่างน้อย 5 ปี” ศ.ดร.ผาสุกกล่าว

ศ.ดร.ผาสุกกล่าวต่อไปว่า โดยสรุปแล้ว สิ่งที่รัฐประหาร 49 ทำสำเร็จคือการยกเลิกรัฐธรรมนูญของประชาชน นอกจากนี้ สิ่งที่ตามมาให้ความรู้สึกเหมือนดูละครทีวี โดยรัฐประหาร 49 เป็น Episode หนึ่ง ละครบางทีพล็อตเปลี่บน รัฐประหารก็คล้ายกัน กรณีปี’49 คนรุ่นเก่าในกองทัพทยอยขึ้นสู่อำนาจในหลายรูปแบบ แต่ไม่สำเร็จจึงมาซ้ำในปึ’57 ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากปี’49 โดยเราเห็นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

ศ.ดร.ผาสุกกล่าวว่า ไทยยังเป็นสังคมเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก การมีประชาธิปไตยยั่งยืนเป็นเรื่องยาก เพราะผู้มีทรัพย์สินมากๆ ไม่ประสงค์ที่จะกระจายทรัพย์สิน ส่วนการคอร์รัปชั่นหลังรัฐประหารพบว่าไม่ได้ลดลง สื่อไม่สามารถพูดถึงปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างตรงไปตรงมา ถ้าต้องการลดคอร์รัปชั่น ต้องสนับสนุนประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐประหาร ทัศนคติของราชการต้องมองประชาชนเป็นเจ้านาย ไม่ใช่คนรับคำสั่ง อย่างอังกฤษ เมื่อประเทศเป็นประชาธิปไตย ท่านเซอร์ที่มีสถานะสังคมสูงบอกเลยว่า จากนี้ต่อไปเราต้องฟังเสียงเจ้านายของเราคือ “ประชาชน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image