บทความ : พายุการเมือง : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

ข่าวฉาวรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐเพิ่งจบลงไม่นาน ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ถูกเปิดโปง “ข่าวฉาวยูเครน” และกำลังถูกสภาคองเกรสทำการสอบสวน

มีข่าวล่าสุดแจ้งว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” ไม่เพียงแต่ถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจประธานาธิบดี บังคับให้รัฐบาลยูเครนสนับสนุนการสกัด “โจ ไบเดน” ว่าที่คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปีหน้า อีกทั้งปกปิดซ่อนเร้นความจริง อันเกี่ยวกับข้อความบันทึกการสนทนาระหว่างประมุขของ 2 ประเทศ ขนาดผู้สื่อข่าวคดี “วอเตอร์เกต” ยังได้เทียบเคียงว่า 2 ข่าวฉาวมีน้ำหนักครือกัน

ถือว่าเป็น “พายุการเมือง” ที่ใหญ่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ

อันอาจมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า

Advertisement

ย้อนกลับเมื่อ 2014 ยูเครนเปลี่ยนสี ชาวยูเครนที่โปรตะวันตกได้เกิดการปะทะกันบนท้องถนน ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐ ได้ทำการล้มล้างรัฐบาลที่โปรรัสเซีย

ขณะนั้น “โจ ไบเดน” ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี หลังจากยูเครนเปลี่ยนสี รัฐบาลสหรัฐเข้าทำการเช็กบิลกับค่ายโปรรัสเซีย บริษัทก๊าซธรรมชาติ Burisma เป็นเหยื่อรายแรกที่ถูกตรวจสอบในกรณีทุจริต ต่อมาบุตรชาย “ไบเดน” เข้าเป็น 1 ในคณะกรรมการ ทั้งที่ไม่มีความรู้และประสบกากรณ์ทางด้านก๊าซธรรมชาติ แต่ได้รับเงินเดือนในอัตราสูงมาก

ในที่สุด ข้อกล่าวหาการทุจริตในบริษัทดังกล่าว ก็ได้ลอยไปตามสายลม

Advertisement

ต้องยอมรับว่า กรณีบุตรชาย “ไบเดน” มิได้ก่อให้เกิดผลสะท้อนมากมายในสหรัฐ

แต่เนื่องจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้าได้กระชับเข้ามาทุกขณะ “โจ ไบเดน” มีแนวโน้มสูงที่จะได้รับเลือกจากพรรคเดโมแครตขึ้นชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

คณะกรรมการเลือกตั้งของ “ทรัมป์” จึงต้องพยายามรวบรวมข้อมูล เพื่อทำการโจมตีผู้ท้าชิง

กรณี “โจ ไบเดน” รับฟังได้ว่า เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับ “โวโลดิมีร์ เซเลนสกี” ประธานาธิบดียูเครน โดยการกดดันให้ยูเครนตรวจสอบว่าบุตรชาย “ไบเดน” มีพฤติกรรมทุจริตหรือไม่ และข่มขู่ว่า หากไม่ได้รับความร่วมมือ สหรัฐจะยุติการช่วยเหลือทางการทหาร

เรื่องใดที่จะไม่ให้ผู้อื่นรู้ มีอยู่ทางเดียวคือ “ละเว้นการกระทำ”

มีข่าวว่า “ไบเดน” และบุตรชายมีความสัมพันธ์อันล้ำลึกกับยูเครน พฤติกรรมมีพิรุธ

อย่างไรก็ตาม หากข้อกล่าวหา “ไบเดน” พ่อลูก ผลสอบสวนเป็นจริง

สภาคองเกรสสหรัฐก็มีสิทธิเต็มร้อยที่จะทำการสอบสวนเพื่อถอดถอน “โดนัลด์ ทรัมป์”

ตัดกลับไปเมื่อปี 2016 การเลือกตั้งทั่วไปสหรัฐ รัสเซียถูกล่าวหาว่าแทรกแซง ตลอดจนการส่งข่าวต่อกันระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย เป็นเหตุให้เกิดพายุทางการเมือง ค่อนข้างรุนแรง

แต่ในที่สุด ทางการนำสืบไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” กระทำความผิดจริง

ว่ากันว่า กรณี “ยูเครน” มีความรุนแรงมากกว่ากรณี “รัสเซีย” มากทีเดียว

ประเด็นมีอยู่ว่า “ทรัมป์” ใช้อำนาจหน้าที่ข่มขู่ให้ได้มาซึ่งพลังจากภายนอก เพื่อวัตถุประสงค์ในการโจมตีคู่แข่งทางการเมือง ซึ่งถือเป็นตัวการในการกระทำความผิด

ประเด็นจึงตรงกันข้ามกับกรณี “รัสเซีย”

จึงกลายเป็นประเด็นปัญหาที่มีผู้สนับสนุนการถอดถอนมาก เพราะเขาถือว่า

พฤติการณ์เป็นการขายชาติเพื่อประโยชน์ส่วนตน

ปี 1998 “บิล คลินตัน” อดีตประธานาธิบดีถูกยื่นถอดถอนอันเนื่องจากการเบิกความเท็จต่อคณะลูกขุนและขัดขวางกระบวนการยุติธรรม อันเกี่ยวกับข่าวฉาวกับ “โมนิกา ลูวินสกี”

ไม่ถือเป็นความผิดเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ประธานาธิบดี

กรณี “ยูเครน” ก็เป็นพฤติการณ์ปิดบังซ่อนเร้นความจริง หากลักษณะแห่งปัญหาแตกต่างกัน แต่มีความละม้ายกับคดี “วอเตอร์เกต” ของอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน

แต่ทำเนียบขาวไม่ยอมส่งมอบข้อมูลการสนทนาระหว่างประมุขสหรัฐและยูเครน โดยอ้างว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ จึงต้องเก็บรักษาไว้ในที่ลับเฉพาะเท่านั้น

จึงยากและเป็นอุปสรรคในการนำสืบ

“no free lunch in the world” คือสัจธรรม

ต้องยอมรับว่า ค่ายโปรตะวันตกของยูเครน ขึ้นปกครองประเทศด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐ คุณค่าก็เพียงเท่ากับ “กล้วย” เพราะนักการเมืองสหรัฐถือว่ายูเครนคือ

Banana Republic (สาธารณรัฐกล้วย)

สามารถเด็ดได้ตามอัธยาศัย

พายุการเมืองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นการทำให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของยูเครน

กรณีที่ “บิล คลินตัน” ถูกยื่นถอดถอน เขาสามารถใช้จุดเด่นทางการเมืองมาเรียกวิกฤตศรัทธาคืนได้ด้วยผลงานทางการเมืองคือ

1 ยืนยันผลงานทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อช่วงชิงให้ได้มาซึ่งความนิยม

1 ขณะที่การไต่สวนข่าวฉาว “ลูวินสกี” ดำเนินการอยู่ เขาสั่งบอมบ์ฐานผู้ก่อการร้ายซูดาน

คำกล่าวที่ว่า “นักการเมืองห่วงการเลือกตั้งคราวต่อไป” คือสัจธรรมเช่นกัน

“โดนัลด์ ทรัมป์” ก็คงไม่ต่างไปจาก “บิล คลินตัน”

จึงน่าเชื่อว่า การรักษาฐานเศรษฐกิจ ก็คือการรักษาฐานเสียงการเลือกตั้ง

และเขาคงไม่ตัดประเด็นยกระดับความขัดแย้งทางการค้ากับจีน รวมทั้งประเด็นความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบีย ซึ่งฝ่ายหลังมีสหรัฐเป็นผู้หนุนหลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” อาจหันมาเล่นเรื่องนี้เฉกเช่น “บิล คลินตัน” โจมตีฐานก่อการร้ายซูดาน

ควันปืนตะวันออกกลาง จึงมิใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image