‘วราวุธ’ ชงแผนลดพีเอ็ม 2.5 เข้า ครม. ยกเป็นวาระแห่งชาติ หนุนบังคับใช้ยูโร 6 ขอโทษชาวกรุงปีนี้ฝุ่นมาไว

‘วราวุธ’ ชงแผนมาตรการลดพีเอ็ม 2.5 เข้า ครม. ยกเป็นวาระแห่งชาติ หนุนบังคับใช้ยูโร 6 ขอโทษชาวกรุงปีนี้ฝุ่นมาไว

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงการประชุมด่วนเมื่อวันที่ 30 กันยายน เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 (PM2.5) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม โดยได้สรุปเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 รวม 3 ด้าน ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ในทาง 9 จังหวัดภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ พื้นที่ภาคกลางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และพื้นที่ภาคใต้ 2.การลดภาวะและปริมาณแหล่งผลิตฝุ่นละอองขนาดเล็กพีเอ็ม 2.5 ในระยะสั้น และ 3.มาตรการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5

นายวราวุธกล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาฝุ่นในแต่ละพื้นที่จะแบ่งการดำเนินการแตกต่างกัน โดยพื้นที่ภาคเหนือ พบว่าสาเหตุการเกิดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 มาจากการเผาไหม้ของเกษตรกร เช่น การเผาอ้อย เผาหญ้า และซังข้าว ส่วนภาคกลาง เกิดจากมลภาวะของเครื่องยนต์ ซึ่งมาจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์สันดาปของเครื่องยนต์ดีเซล รถบรรทุกหรือรถที่มีอายุการใช้งานเป็นเวลานาน ขณะที่ภาคใต้ ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เกิดจากการพัดมาจากประเทศอื่น โดยในการมาตรการแก้ไขปัญหาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพจะต้องเปลี่ยนจากยูโร 5 เป็นยูโร 6 และน้ำมันที่มีคุณภาพมากขึ้นภายในปี 2567 ซึ่งเรื่องนี้ได้ประสานกับกระทรวงพลังงานไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ กทม.มีการพัฒนาพื้นที่เกิดขึ้นตลอดเวลา อาจจะมีรถบรรทุกขนวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง หิน กรวด จากนี้จะต้องมีมาตรการเข้มงวดขึ้น

นายวราวุธกล่าวว่า หากค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อยู่ที่ 50 ไมโครครัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) รถสามารถวิ่งได้ตามปกติ ส่วน 50-75 มคก./ลบ.ม. จะต้องระวัง ส่วน 75-100 มคก./ลบ.ม. การแก้ปัญหาขึ้นอยู่กับดุลพินิจของท้องถิ่น โดยผู้ว่าราชการจังหวัด เช่น การประกาศหยุดเรียน ประกาศพื้นที่เขตควบคุมห้ามรถวิ่ง และหากเกิน 100 มคก./ลบ.ม. ถึงเข้าขั้นวิกฤต จะต้องเสนอนายกรัฐมนตรีว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร รวมถึงมาตรการการตรวจวัดค่าฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แต่ยังไม่เพียงพอ โดยต้องพัฒนาเครื่องตรวจวัดควันรถยนต์ และเครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ยังขอความร่วมมือให้ กทม.กวดขันการก่อสร้าง รถบรรทุก ก่อนออกจากไซต์งาน จะต้องมีการล้างล้อรถและตัวรถ รวมถึงคลุมผ้าใบ ถ้าหากไม่มีการล้างก็จะมีการเกิดฝุ่นเพิ่มขึ้น หรือการขนหิน ทราย จะประสานความร่วมมือจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ให้มีความเข้มงวดในการคุมผ้าใบเช่นเดียวกับสินค้าเกษตร

Advertisement

“สำหรับมาตรการดังกล่าวนี้จะยกเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งผมกำลังจะเซ็นเพื่อนำเข้าคณะรัฐมนตรี ให้นายกฯเห็นชอบต่อไป ผมต้องขอโทษพี่น้องชาวกรุงเทพมหานครที่วันนี้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก เพราะความกดอากาศมาเร็วกว่าที่คิดไว้ ซึ่งเดิมคาดอาจจะมาเดือนธันวาคม แต่ปีนี้เดือนตุลาคมก็มาแล้ว สำหรับกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเด็กเล็ก ขอความร่วมมือสวมหน้ากากอนามัย และประชาชนที่อยู่ในเขตเมือง ขอความร่วมมือในการลดใช้รถยนต์ส่วนตัวก็จะสามารถช่วยได้ระยะหนึ่ง แต่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ในการดูดซับฝุ่น คาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนอกไซด์” นายวราวุธ​กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะต้องมีการโปรยน้ำเพื่อบรรเทาฝุ่นละอองในอากาศหรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า โชคดีว่าเมื่อคืนนี้ฝนตก จึงทำให้ปัญหาบรรเทาลง แต่การจะคอยฟ้าฝนหรือให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ทำฝนหลวง ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมาตรการที่กล่าวข้างต้นจะได้ผลในระยะยาวมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image