ครม.ไฟเขียว ปรับปรุง ปปง. ตัดวงจรผู้ก่อการร้าย-ฟอกเงิน ยกระดับเทียบเท่าสากล

ครม.ไฟเขียว ปรับปรุง ปปง. ตัดวงจรผู้ก่อการร้าย-ฟอกเงิน ยกระดับเทียบเท่าสากล

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 1 ตุลาคม น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เสนอร่างกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานของ ปปง.ให้เสมอกับมาตรฐานสากล เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ให้สอดคล้องมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (International Standards on Combating Money Laundering and the Financing of Terrorism and Proliferation) และเพื่อให้การบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

น.ส.รัชดา กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยได้เข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย มาตรฐานสากลด้าน AML/CFT ผลปรากฏว่าประเทศไทยยังมี 17 ประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น

1.ข้อกำหนดเกี่ยวกับความเสี่ยงและมาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อบรรเทาความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ใช้บังคับกับสถาบันการเงินเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

2.ข้อกำหนดที่ให้สถาบันการเงินดำเนินการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าอย่างเข้มข้นสำหรับลูกค้าที่เป็นบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง ยังไม่ได้รวมถึงการกำหนดให้ต้องดำเนินมาตรการเพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของความมั่งคั่งของลูกค้า

Advertisement

3.ยังไม่มีข้อกำหนดห้ามสถาบันการเงินทำธุรกรรมหากสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

น.ส.รัชดา กล่าวว่า จากข้อด้อย 17 ประการ ทำให้ไทยร่างกฎกระทรวงใหม่ ซึ่งมาจากกฎกระทรวงเดิม 2 ฉบับและนำมารวมกัน และเพิ่มมาตรการอื่นให้มีมาตรการเข้มข้นมากขึ้น ทั้งนี้ สาระของร่างกฎกระทรวงมีประเด็นสำคัญ อาทิ การกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เช่น ผู้ค้าอัญมณี ผู้ค้าหรือเช่าซื้อรถยนต์ นายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ต้องดำเนินการประเมิน บริหาร และบรรเทาความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธ หากตรวจสอบข้อมูลแล้วพบลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินฯ สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 ต้องไม่ทำธุรกรรมกับลูกค้าดังกล่าว

และรายงานเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต่อสำนักงาน ปปง. มากไปกว่านั้น รวมถึงกรณีที่มีการให้บริการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามประเทศที่มีมูลค่าตั้งแต่ห้าหมื่นบาทขึ้นไป สถาบันการเงินผู้สั่งคำสั่งโอนและสถาบันการเงินผู้รับคำสั่งโอนต้องดำเนินการส่งและรับข้อมูลของผู้โอนและผู้รับโอนพร้อมคำสั่งโอนเงิน โดยคำสั่งโอนเงินต้องมีข้อมูลของผู้โอนและผู้รับโอน หรือถ้ามีการโอนเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์เกิน 50,000 บาทขึ้นไป ไม่ใช่โอนธรรมดา จะต้องข้อมูลมีประวัติผู้โอน ผู้รับโอน และชื่อจะต้องมีรายละเอียดปรากฎอยู่บนใบคำสั่งโอน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image