รบ.เล็งเดินหน้า ‘ชิมช้อปใช้’เฟส2

หมายเหตุ – ความเห็นกรณีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการคลังศึกษาความเป็นไปได้ขยายมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังไปพิจารณา หลังได้รับกระแสตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก

สนั่น อังอุบลกุล
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

มาตรการชิมช้อปใช้ ถือว่าเป็นอีกมาตรการที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศ หากรัฐบาลเห็นว่าควรมีชิมช้อปใช้ ระยะที่ (เฟส) 2 ผมก็เห็นด้วยแต่ควรสร้างมาตรการจูงใจให้ประชาชนไปใช้จ่ายในร้านค้าเล็กหรือสินค้าในชุมชนที่ร่วมรายการให้มากกว่านี้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวได้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มา
เข้าร่วมโครงการ อาทิ ห้างเซ็นทรัล และห้างโลตัส เป็นต้น ทำให้ประชาชนแห่ไปซื้อของแต่ในร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุ ประสงค์ของรัฐที่ต้องการให้เกิดการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็ก

Advertisement

สำหรับในช่วงแรกของการเริ่มมาตรการจะเห็นได้ว่าประชาชนมีความตื่นตัว ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จะเห็นได้จากจำนวนผู้มาลงทะเบียนที่มีจำนวนเต็ม 1 ล้านคนของทุกวันที่เปิดให้ลงทะเบียน และการที่มีการกำหนดให้ใช้สิทธิภายใน 15 วัน ทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมากทำให้เกิดการใช้จ่ายในหลายพื้นที่ แต่มองว่ามาตรการนี้อาจเกิดขึ้นกะทันหันไปหน่อย ทำให้ในช่วงแรกๆ ของการใช้จ่ายประโยชน์จะตกไปอยู่ที่ร้านค้าขนาดใหญ่เป็นส่วนมาก ดังนั้น ถ้ารัฐบาลยืนยันที่จะดำเนินการมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 2 ต้องมีการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้โดยด่วน

ทั้งนี้ ไม่ใช่แต่ปัญหาเรื่องร้านค้าที่ต้องทำการแก้ไข ในเรื่องของระบบการลงทะเบียนหรือการยืนยันตัวเองก็ต้องมีการแก้ไขให้มีการใช้งานที่ง่ายขึ้นด้วย รวมถึงวิธีการใช้จ่ายอาจจะต้องทำให้ระบบมีความเสถียรกว่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายเมื่อมีประชาชนมาใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก และรัฐต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไร ให้ประชาชนเกิดการใช้จ่ายที่ขยายวงกว้างมากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายรายได้ไปสู่ฐานรากได้อย่างแท้จริง

ส่วนเรื่องมาตรการเพิ่มเติมที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตอนนี้ ผมอาจจะยังไม่มีอะไรนำเสนอ แต่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลใช้มาตรการดังกล่าวในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวอาจจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนในประเทศในระยะสั้น แต่ไม่มีแรงส่งพอทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังกลับมาฟื้นตัวได้ ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีภาวะซึมตัวไปจนถึงช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 จากปัจจัยเรื่องเงินบาทแข็งค่าและส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ถ้ามองตัวโครงการและนโยบายชิมช้อปใช้นัยยะจริงๆ คือต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่ออัดเงินเข้าสู่รากหญ้าหรือผู้ใช้โดยตรง แต่ถ้าดูภาวะทางด้านเศรษฐกิจที่ทรุดตัวอย่างนี้ ในแง่การเมืองรัฐบาลก็รู้ว่าการที่ตัวเองจะสามารถทำงานได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับปากท้องเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เขาต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่เห็นในลำดับแรกคือปัญหาด้านการบริหารจัดการซึ่งในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะในเชิงเทคนิค มีปัญหาเรื่องระบบล่ม จะมาบอกว่าคนใช้มากไปนั้นคงไม่ใช่ประเด็น แต่เป็นเพราะการเตรียมการดูร้อนรน เร่งรีบ นอกจากนี้ ในหลายจังหวัดที่มีการกระจายของนโยบายลงไปในพื้นที่ข้างใน คิดว่าหลังจากนี้ต้องมีการประเมินพอสมควรถ้าจะเริ่มเฟส 2 เพราะเป็นนโยบายที่ใช้เงินมหาศาล น่าห่วงว่าเป็นการใช้เงินแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

นโยบายนี้ เอาเข้าจริงๆ ต้องประเมินว่าสุดท้ายเป็นการกระจุกตัวในพื้นที่หรือกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่ หากรัฐบาลคิดว่าจะทำเฟส 2 เป้าหมายที่ควรเป็นข้อพิจารณาคือต้องระบุให้ชัดเจนว่า ถ้าจะเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นภาคธุรกิจ ต่อไปต้องกำหนดขอบเขตให้ชัด ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นเบี้ยหัวแตก และบานปลาย ไม่ได้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ในการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจหรือแม้กระทั่งเมืองท่องเที่ยว เมืองรอง เวลาไปดูนโยบายที่อัดฉีดเงินจากรัฐบาลกลางไปสู่ท้องถิ่นโดยตรง

รัฐบาลต้องกำหนดเป้าในท้องถิ่นนั้นๆ ให้ชัด โดยพูดคุยกับภาคธุรกิจ สมาคมหอการค้าในท้องถิ่น ไม่อย่างนั้นเงินที่ลงไปจะกระจุกตัวที่กลุ่มทุน ไม่ตรงเป้าอย่างน่าเสียดาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image