‘ศิริกัญญา’ จี้ ‘ชิม ช้อป ใช้’ เฟส 2 ให้รอประเมินผลงานก่อน อัดเฟสแรกกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยกว่าที่คาด 10 เท่า

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เปิดเผยกรณีที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ “ชิม ช้อป ใช้” ซึ่งเปิดให้ประชาชนจำนวน 10 ล้านคน รับเงินไปใช้จ่ายคนละ 1,000 บาท และมีข่าวว่ารัฐบาลจะดำเนินการต่อเฟส 2 ขยายผู้เข้าร่วมเพิ่มอีก 10 ล้านคน ว่า ต้องรอให้มีการประเมินผลของโครงการก่อนหากรัฐบาลจะต่อเฟส 2 เพราะยังเร็วไปที่จะบอกว่าโครงการประสบความสำเร็จ และจะบอกว่าสำเร็จได้เมื่อรัฐบาลตั้งเป้าให้ชัดก่อนว่านี่คือการกระตุ้นการท่องเที่ยว หรือกระตุ้นการใช้จ่าย สรุปว่าจะกระตุ้นไปที่ใคร ให้เศรษฐกิจโตแค่ไหน แล้วกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของโครงการคือใคร ระหว่างนี้ควรนำงบประมาณไปทำอย่างอื่นที่สำคัญกว่า เพราะ พ.ร.บ.งบประมาณที่ล่าช้า ทำให้งบกลาง รายการรายจ่ายสำรองฉุกเฉินที่รัฐบาลนำมาใช้ได้ มีเพียง 46,000 ล้านบาท การนำงบที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า การที่ประชาชนให้ความสนใจโครงการนี้จำนวนมาก สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเดิมคือการจูงใจให้คนเอาเงินออมออกไปเที่ยวในต่างจังหวัด เพื่อหวังกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ซบเซา แต่พอโครงการเกิดขึ้นจริง กลับกลายเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายบริโภคทั่วไป โดย 7 วันแรก มีคนลงทะเบียนไปแล้ว 5.5 ล้านคน แต่ยืนยันสิทธิสำเร็จเพียงครึ่งเดียวคือ 2.7 ล้านคน ทำให้ยอดใช้จ่ายใน 5 วันแรกมีเพียง 621 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพียง 6% ของวงเงินที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 10,000 ล้านบาท รัฐบาลอาจคาดหวังกับโครงการนี้สูงเกินไป ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่าโครงการนี้จะดันเศรษฐกิจให้โตได้ 0.2-0.3% แต่นักวิชาการหลายสำนักคาดการณ์ว่าจะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเพียง 0.01-0.02% เท่านั้น

“การใช้จ่ายที่น้อยกว่าที่รัฐบาลคาดหวังไว้ อาจเกิดจากกระบวนการที่ยุ่งยาก โดยผู้ลงทะเบียนจำเป็นต้องมีสมาร์ทโฟนที่สามารถเชื่อมอินเตอร์เน็ต อีเมล์ และดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง จึงจะรับสิทธิได้ ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้อาจกีดกันคนจำนวนหนึ่งไม่ให้เข้าถึงสิทธิได้ เช่น ผู้มีรายได้น้อย หรือผู้สูงอายุ นอกจากนี้ กระบวนการรับสิทธิต้องลงทะเบียนถึง 2 ครั้ง เพื่อรับเงินผ่านจี-วอลเลท โดยรัฐบาลบอกว่าเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนใช้อีเพย์เมนท์มากขึ้น แต่กลับไม่เชื่อมต่อระบบพร้อมเพย์ เมื่อผ่านการลงทะเบียนแล้ว ขั้นตอนการใช้เงินก็มีปัญหาหลายกรณี เช่น ไม่สามารถจ่ายเงินได้ จ่ายเงินแล้วเงินไม่โอนเข้าร้านค้าทันที การหาร้านค้าที่ระบุไว้ในแอพพลิเคชั่นเป๋าตังไม่ตรงกับพื้นที่จริง นั่นหมายความว่า รัฐบาลไม่ได้เตรียมความพร้อมให้ข้อมูลการเข้าร่วมโครงการแก่ร้านค้าที่ดีพอ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญากล่าวต่อว่า แม้จะมีการลงทะเบียนร้านค้าไปแล้วกว่า 100,000 ร้านค้า แต่การค้นหาร้านที่สามารถรับสิทธิได้ ยังมีความยุ่งยาก เช่น ร้านค้าในตลาดสด หรือร้านค้าชุมชนในต่างจังหวัด และยังมีร้านประเภทนี้อีกมากที่ยังไม่เข้าร่วมโครงการ ทำให้ประชาชนจะนำสิทธิที่ได้ไปใช้ในร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีแหล่งที่ตั้งชัดเจน ทำให้เม็ดเงินไม่ลงไปสู่ชุมชน เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจน้อยรอบกว่า ดังนั้น อนค.เห็นว่าการที่จะต่อเฟส 2 ควรมีการประเมินผลของโครงการด้วยว่างบที่ใช้ไปนั้น มีความคุ้มค่าหรือไม่ และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ หากมีการขยายสิทธิเพิ่มจริง ก็ควรแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทั้งความยากในการลงทะเบียน และรับสิทธิ และด้านความพร้อมของร้านค้าที่ร่วมรายการ

Advertisement

“อนค.อยากตั้งคำถามฝากไปถึงรัฐบาลว่าควรจัดลำดับความสำคัญในการใช้งบที่มีจำกัด เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ยังไม่ผ่าน ในขณะที่น้ำท่วม กำลังต้องการงบฟื้นฟู เกษตรกรรอรับการเยียวยา ครู และบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากไม่สามารถต่อสัญญาเข้าทำงานได้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่ากัน” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image