ชูศักดิ์ ยัน งานเสวนารธน.ไม่เข้าเงื่อนไขผิด116 ชี้ เป็นการฟ้องร้องหวังผลการเมือง

“ชูศักดิ์” แจงในที่ประชุม 7 พรรค ยัน งานเสวนาแก้ รธน. ที่ ปัตตานี ไม่เข้าเงื่อนไขตาม ม.116 อัด เป็นการใช้ ม.116 ฟุ่มเฟือย เพื่อปิดปากนักการเมือง-เบี่ยงเบนประเด็น หวังผลทางการเมือง

เมื่อเวลา 13.40 น. วันที่ 4 ตุลาคม ที่พรรคเพื่อไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำ 7 พรรคฝ่ายค้าน อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ประธานปรึกษาพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคในฐานะ ในฐานะประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ที่ปรึกษาพรรคพท. และอดีตสมช. และแกนนำพรรคเพื่อไทย นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ ร่วมประชุมภายหลังจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความจับ 12 แกนนำและนักวิชาการ ที่ร่วมเวทีสัมมนาแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 7 พรรคฝ่ายค้าน

โดยนายชูศักดิ์ กล่าวว่า การสัมมนาที่จังหวัดปัตตานีเป็นการพูดคุยปัญหาในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งนักวิชาการก็ได้พูดข้อมูลในมุมมองเชิงวิชาการ แต่ถ้าคิดว่าจะเข้าข่ายคดีอาญา มาตรา 116 เพราะ 1.ต้องแสดงความเห็นที่ยั่วยุที่ให้เปลี่ยนแปลงรัฐบาล ที่สำคัญคือต้องใช้กำลังข่มขืนใจ หรือใช้กำลัประทุษร้าย 2. มูลเหตุจูงใจต้องให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในประเทศ และ 3.ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดิน คนแจ้งความคงคิดว่าการพูดอะไรแก่สาธารณะ และกระทบต่อรัฐหน่อย ก็แจ้งความตามมาตรา 116 ได้ โดยไม่ได้ดูองค์ประกอบให้ชัดเจน โดนเฉพาะองค์ประกอบใน 3 ประการที่กล่าวมา ดังนั้นตนคิดว่าการเสวนาที่จ.ปัตตานี ต้องทบทวนว่า มีการใช้กำลังประทุษร้าย มีการขู่เข็ญ ต้องการให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดิน เกิดความไม่สงบเรียบร้องแก่บ้านเมืองหรือไม่ ซึ่งเวทีเสวนาที่จัดขึ้นไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้ เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็น ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งขาดเจตนาองค์ประกอบโดยเฉพาะมูลเหตุจูงใจ จึงมองว่าการใช้มาตรา 116 มาดำเนินคดี จึงเป็นการกระทำที่มุ่งหวังผลทางการเมืองเช่นเดิม และข้อสำคัญที่สุดได้มีการเผยแพร่คลิปของนักวิชาการที่พูดบนเวที จากการฟังยืนยันว่าเป็นความคิดเห็นทางวิชาการ ไม่ได้มีการยุยงปลุกปั่น และในส่วนของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็อยากให้นำร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ประชุมกันไว้ ไปเปิดดูมาตรา 1 ที่เขียนไว้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 อยู่แล้ว ซึ่งชัดเจนว่าเราไม่มีเจตนาที่จะทำให้เกิดผลกระทบในเรื่องดังกล่าว จึงมีข้อต่อสู้ และย้ำว่าการดำเนินคดี เป็นการใช้บทบัญญัติมาตรา 116 ที่ฟุ่มเฟือย เพื่อปิดปากนักการเมือง เบี่ยงเบนประเด็น หวังผลทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง

ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การแจ้งความดำเนินคดี ปกติคดีอาญาจะเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งคดีนี้ไปร้องทุกข์โดยใช้ตำแหน่งของ กอ.รมน. ซึ่งตามกฎหมาย กอ.รมน. อยู่ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ก็อาจทำให้มองได้ว่า นายกรัฐมนตรี เป็นผู้สั่งการในทางกฎหมาย ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นนโยบายเร่งด่วนของนายกฯ จึงต้องอาจมีการพูดคุยในอีกมิติ และตอนนี้ก็ไม่ได้มี มาตรา 44 ดังนั้น กอ.รมน. จะต้องปฏิบัติตามมติ ครม. และนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image