เสวนา‘43 ปี 6 ตุลา’ เร่งเครื่อง‘แก้รธน.’

  • หมายเหตุ… คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) จัดเสวนา “พรรคการเมืองกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เนื่องในโอกาสครบรอบ 43 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมแลกเปลี่ยน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา
    ————-
  • สุทิน คลังแสง
    ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.)
  • ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

เดิมคิดว่าปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ทุกคนคงมองไม่ต่างกัน คือ ความไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ แต่ผมคิดว่ายังมีปัญหามากกว่านั้น เพราะวันนี้ยังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับหมาเมินอีกด้วย เพราะไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ ผู้มีอำนาจในปัจจุบันไม่สนใจที่จะปฏิบัติตาม อย่างน้อยที่เห็นชัดเจนแล้ว คือ บทบัญญัติในเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณกับบทบัญญัติว่าด้วยการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาที่เขียนไว้ แต่ไม่สนใจจะทำ โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนข้อ 12 ในเรื่องการศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประกาศไว้ แต่กลับทำเฉย

ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่ผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นเหมือนคู่มือในการครองอำนาจเท่านั้น อะไรที่ไม่ทำให้ตัวเองครองอำนาจอยู่ได้ก็ไม่ปฏิบัติตาม แต่อะไรที่ปฏิบัติแล้วทำให้ตนเองครองอำนาจได้ก็ทำ พรรคฝ่ายค้านพยายามหามาตรการในการดำเนินการทางกฎหมายกับรัฐบาล แต่มันจนปัญญาแล้ว เพราะเหตุที่ว่ารัฐธรรมนูญไม่อยู่ในฐานะที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

อย่างไรก็ตาม 7 พรรคฝ่ายค้านมีจุดยืนชัดเจนว่าจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ด้วยเหตุผู้ร่างจะเขียนรัฐธรรมนูญที่แก้ไขยากมาก เพราะนอกจากต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ส.ทุกพรรคการเมืองแล้ว ยังต้องได้เสียง ส.ว. 84 คนอีก ดังนั้น เมื่อคิดจะแก้ แต่มันก็แก้กันไม่ได้ จึงต้องหาคนกลางมาแก้ไข นั่นคือ ประชาชน ประชาชนเท่านั้น เพราะลำพังเพียงแค่ ส.ส.ไม่มีโอกาสทำให้ผู้มีอำนาจในปัจจุบันเขายอมให้มีการแก้ไขแน่นอน โดยผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชน

ขณะที่ในสภาเบื้องต้นต้องทำให้ ส.ส.ตระหนักให้ได้ร่วมกันก่อนว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาหรือไม่ ซึ่ง 7 พรรคฝ่ายค้านได้เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไป โดยไม่รอพรรคอื่นเพื่อเป็นการวัดใจว่าพรรคอื่นมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นปัญหาหรือไม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ยังได้เห็นนิมิตหมายที่ดีว่ายกแรกในสมัยประชุมสภาครั้งแรก พรรคประชาธิปัตย์ยื่นประกบกับ 7 พรรคฝ่ายค้าน ก่อนที่พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชารัฐก็ตามมา จนมีเสียงสนับสนุนแบบเอกฉันท์ให้เลื่อนญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาในวาระแรกในสมัยประชุมหน้าในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

Advertisement

ทั้งหมด ผมยังมองในแง่ดีว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังแคร์ประชาชน ยังเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ผมเชื่อว่าหนทางนี้ยังอีกไกล จะมีไอ้เบี้ยวหรือไอ้บ้าอำนาจเกิดขึ้นหรือไม่ก็ต้องดูต่อไป เพราะต้องยอมรับว่า 7 พรรคฝ่ายค้านไม่มีความสามารถที่จะเดินไปจนสำเร็จได้ นอกจากต้องพึ่งประชาชนเท่านั้น

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง
เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.)

ที่ผ่านมา ผมพยายามมาร่วมรับฟังและมีส่วนร่วมในการรับฟังความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งเหตุที่พรรคการเมืองถึงต้องช่วยกันผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะวันนี้ประชาชนของประเทศไทยยังมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด เรายังไม่ได้ร่าง ขณะเดียวกัน รัฐบาลที่ดีที่สุดก็ยังไม่ได้เกิด การที่จะต้องทำให้ประชาชน มีอำนาจอธิปไตยตามระบอบประชาธิปไตยสากล ทำประชาชนให้มีความสุขได้ เราต้องช่วยกันระดมสติปัญญาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ เพื่อเป็นการกำหนดชะตาชีวิต และสร้างความมั่นคงให้กับตัวเอง

เหตุที่ทำให้สังคมไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะคนทั้งประเทศยังไม่ได้มีส่วนกับการกำหนดเรื่องความมั่นคงของตนเองเลย ที่ผ่านมามีแต่ความมั่นคงของรัฐ ไม่ใช่ความมั่นคงของประชาชน จึงเกิดความเหลื่อมล้ำมากมาย จนเป็นมะเร็งร้ายที่สำคัญ คือ การพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาที่เกิดจากคนที่มีอำนาจไปแย่งชิงทรัพยากร

ถามว่า เราจะนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดได้อย่างไร ผมคิดว่าเราต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาบังคับใช้ในยุคหลังๆ เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ดี ไม่เป็นประชาธิปไตย ปกติสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คือ พรรคการเมือง แต่สังคมไทยก็มีกองทัพกับระบบราชการเป็นสถาบันทางการเมืองด้วย โดยมีเป้าหมายคือ อำนาจ ตำแหน่ง และผลประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับพรรคการเมือง เพียงแต่มีการเข้าสู่อำนาจโดยวิธีการเลือกตั้งของประชาชน ซึ่งต่างจากกองทัพที่ต้องการอำนาจ และผลประโยชน์ด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจมา โดยเราจะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาประชาธิปไตยของไทยนับจากเหตุการณ์ 2475 กองทัพจะเป็นสถาบันทางการเมืองที่อยู่ได้นานกว่าพรรคการเมือง และ 2 สถาบันนี้จะเดินไปแบบคู่อริกันเสมอ

เพราะเมื่อมีการรัฐประหาร กองทัพก็จะใช้บริการของอาจารย์มหาวิทยาลัย ระบบราชการ ตอนหลังๆ มาใช้ตุลาการมาร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นตัวอย่าง นี่จึงทำให้สถาบันที่มาจากประชาชนจึงมีอำนาจน้อยมาก แต่คนที่มีอำนาจนอกระบบที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการของประชาชนจะมีอำนาจเยอะมาก โดยเฉพาะองค์กรอิสระ หรือศาลรัฐธรรมนูญเป็นต้น

ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเรายังไม่ได้ร่าง รัฐบาลที่ดีที่สุดจึงยังไม่เกิด ซึ่งอำนาจของประชาชนจะมากได้ต้องมีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด โดยที่คนไทยทั้งประเทศได้มีโอกาสเข้ามาสู่โครงสร้างอำนาจ มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ใช่เพียงแค่เสียงส่วนใหญ่เท่านั้น แต่ยังต้องมีกลุ่มวัฒนธรรม ชนกลุ่มน้อยเข้ามามีส่วนด้วย

ปิยบุตร แสงกนกกุล
ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.)

รัฐธรรมนูญคือกฎหมายที่พูดถึงเรื่องหลัก 2 เรื่อง คือ 1.การออกแบบระบอบการเมืองการปกครองของรัฐ การก่อตั้งและอำนาจหน้าที่ของสถาบันการเมืองต่างๆ และความสัมพันธ์ของสถาบันเหล่านั้นว่าจะเป็นอย่างไร และ 2.การประกันสิทธิและเสรีภาพให้แก่ประชาชน ว่าจะไม่ถูกรัฐล่วงละเมิดสิทธิ เมื่อมีเนื้อหาที่มีความสำคัญขนาดนี้ จึงส่งผลทำให้เป็นกฎหมายสูงสุด องค์กรใดๆ มีอำนาจเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี การใช้อำนาจจึงต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนเกิดความอุ่นใจ รู้ล่วงหน้าว่าองค์กรของรัฐจะใช้อำนาจที่มีขีดจำกัดอยู่ตรงไหน ดังนั้น กฎหมายที่มีความสำคัญเช่นนี้ ควรถูกผลิตจากคนทั้งประเทศให้มาร่วมคิดร่วมเขียนว่าจะเอาอย่างไร เราจึงยืนยันว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน เป็นผลผลิตจากการสร้างฉันทามติของคนทั้งประเทศ ถ้ามีลักษณะแบบนี้ รัฐธรรมนูญจะอยู่ได้นาน เพราะทุกคนเห็นพ้องต้องกันที่จะเคารพรัฐธรรมนูญ

แต่ปัญหาของประเทศไทย คือเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อย และวิธีการที่ใช้เป็นแบบอนารยชนทั้งสิ้นคือการฉีกโดยคณะนายทหาร เราเปลี่ยนด้วยวิธีอารยะเพียง 3 ครั้งเท่านั้น คือ 2475, 2489 และ 2540 โดยองค์กรที่ฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยที่สุดคือกองทัพ ฉะนั้นเวลาที่ผู้บัญชาการทหารบก หรือนายกฯที่มาจากการรัฐประหารเที่ยวไปบอกคนอื่นให้เคารพรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องตลกร้ายที่สุดในประเทศนี้ เพราะคนที่มาเรียกร้องให้คนอื่นเคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นเป็นคนละเมิดรัฐธรรมนูญเป็นคนแรก เป็นคนที่ฉีกรัฐธรรมนูญเป็นคนแรก และยังมีความผิดฐานกบฏ แต่เลือกนิรโทษกรรมให้ตัวเอง แล้วลอยหน้าลอยตาเป็นนายกฯถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกัน นักการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชน จะเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่พวกเขาออกแบบ ไม่มีปืนหรือรถถัง แต่กลับถูกแจ้งความข้อหาความมั่นคง มันเหลือเชื่อที่สุด ไม่มีอะไรกลับตาลปัตรได้ขนาดนี้อีกแล้ว

ลองย้อนดูรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับหลังของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2549, 2550, 2557 และ 2560 มีลักษณะ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.มาจากการรัฐประหารไม่ใช่ประชาชน จึงถูกบงการโดยคนที่ยึดอำนาจตั้งองค์กรต่างๆ ผลัดกันเกาหลัง แล้วก็ให้ทำประชามติ และ 2.ในส่วนเนื้อหา เป็นแบบแก้แค้นเอาคืน คือยึดอำนาจเพื่อจัดการศัตรูทางการเมืองที่พวกเขาไม่ชอบ เมื่อทำแล้วไม่สำเร็จ จึงรัฐประหารซ่อม เช่นนี้แล้วไม่มีทางสร้างฉันทามติและความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศได้เลย คนไทยไม่ได้กินแกลบ เห็นรัฐธรรมนูญแบบนี้ก็รู้แล้ว คนที่ไม่พอใจเขาก็ไม่พอใจอยู่ เพียงแต่เขาทำอะไรไม่ได้

การที่คนเขียนรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้แก้ยาก ถือว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ ปิดประตูล็อกไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการ แต่คนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้เป็นอมตะ วันหนึ่งต้องจากโลกนี้ไปตามกฎธรรมชาติ แต่สิ่งที่เขาทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังคือรัฐธรรมนูญที่แก้ยากแบบนี้ ดังนั้นต้องเริ่มต้นกันใหม่ ถึงเวลามานั่งพูดคุยว่าเราต้องการรูปแบบการเมือง สถาบันการเมือง และการประกันสิทธิเสรีภาพอย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายพอจะรับกันได้ ต่อให้แพ้การเลือกตั้งก็รับได้ และถ้าได้เป็นรัฐบาลก็ต้องถูกตรวจสอบ แม้แต่ ส.ว.ต้องคิดแล้ว เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานเหมือนปี 2540 ถ้าทำได้แบบนี้ บทบัญญัติว่าด้วยเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ แม้จะยากอย่างไรก็แก้ได้แน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image