‘สังศิต’ ชี้ สตรีทฟู้ดหาย-โศกนาฎกรรมคนนับล้าน ย้ำ แก้เหลื่อมล้ำต้อง ‘สร้างงาน’

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ วุฒิสมาชิก และ ประธานกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ กล่าวในเวทีเสวนา สภาที่ 3 “ไทยเหลื่อมล้ำสุดในโลกจริงหรือ” ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ว่า สาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำเกิดจากรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐมากที่สุด เนื่องจากกฎหมายกว่าร้อยละ 99.9 มาจากข้าราชการประจำที่เขียนกฎหมายให้สะดวกต่อการบริหารราชการแผ่นดิน แต่กฎหมายกลับมีการลงโทษที่มากหรือน้อยเกินจริง สาเหตุเกิดจากการที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในกฎหมาย

“การบริหารราชการแผ่นดินไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็บริหารงานเหมือนกันหมดคือผ่านกรม ซึ่งมีมากกว่า 150 กรม เท่ากับมีอธิบดี 150 คน ซึ่งกรมคือผู้ที่มีอำนาจจริงของสังคมไทย เพราะมีอาณาเขตอำนาจอย่างแน่นอนและชัดเจน กรณีรัฐมนตรี 3 คน จากกระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารสุข และกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าควรจะแบนสารเคมี อย่างพาราควอต ปรากฎว่าเห็นร่วมกันแต่ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากข้าราชการประจำไม่ยอม” นายสังศิต กล่าว

นายสังศิต กล่าวว่า เรามีกฎหมายมาก กำหนดบทลงโทษมากหรือน้อยเกินไป เพื่อนของตนโดนจับ ป่วยพาร์กินสันและอัลไซเมอร์ กินยามาเป็นเวลา 10 ปี ต่อมาบริษัทเลิกผลิตยา เขาก็ไปปลูกกัญชา 1 ต้น เพื่อจะเอาใบมากินใช้รักษาแต่โดนจับข้อหาผลิต ต้องประกันเป็นเงิน 3 แสนบาท ซึ่งเขาเป็นเกษตรกร ไม่มีเงิน หรืออย่างเรื่องยาบ้า ถ้าสมมุติว่าใครมี 2 เม็ด ได้มาจากประเทศเพื่อนบ้าน มีเพื่อนมาขอแบ่งครึ่งเม็ด แล้วขาย โทษที่ได้รับคือ 1.เป็นขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ 2.เป็นผู้ผลิต เพราะแบ่งจากเม็ดเป็นครึ่งเม็ด 3.เป็นผู้จำหน่าย 4.ตั้งใจจะจำหน่าย 5.เสพ รวมโทษแล้วจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งการกำหนดโทษบางครั้งเกินจริง เพราะต่อให้เสพ 2 เม็ด ก็ไม่เท่าเข้าไปอยู่ในคุกตลอดชีวิต

Advertisement

นายสังศิต ยังกล่าวอีกว่า กฎหมายของไทยมีจำนวนมากกว่า 1 แสนฉบับที่ออกโดยข้าราชการโดยไม่ได้ฟังเสียงประชาชน ถ้าจะแก้กฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ได้ รัฐบาลจะต้องตั้งใจทำจริง เพราะความเหลื่อมล้ำในตอนหลังถูกเร่งมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้ชนชั้นกลางระดับบน กลายเป็นกลางล่าง ที่หากแก้ปัญหาไม่ได้ก็อาจกลายเป็นคนจน

“ไปภาคใต้ เจอเด็กหนุ่มที่เคยมีเงินร้อยล้านตั้งแต่ยังไม่อายุ 20 ปี จากการส่งทุเรียนขายจีน แต่พอนักธุรกิจจีนมาตั้งโรงงานเอง เขาก็หมดเนื้อหมดตัว ทำให้เห็นว่าธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง สามารถทำให้คนที่เคยร่ำรวยกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัวได้” นายสังศิต กล่าว

นายสังศิต กล่าวอีกว่า ที่สำคัญที่สุด คือความเหลื่อมล้ำระหว่างคนเมืองกับชนบท ในเมืองคนมีรายได้ต่างกันเป็นชั้นๆ ที่ชนบทก็มีหลายชนชั้นในแง่รายได้ จึงเกิดข้ึนทั้งในภาคเมืองและชนบท
ตอนที่เกิดน้ำท่วมเราจะมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น คนที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่คือคนจนในชนบท จะไปอยู่ในที่สาธารณะหรือการรถไฟ ซึ่งต้องซื้อนำ้ไฟในราคาแพงกว่าทั่วไป
เวลาน้ำท่วมก็ได้รับความช่วยเหลือลำบาก มีที่อยู่แต่ไม่มีบ้านเลขที่ เป็นปัญหาใหญ่ เช่นเดียวกันกับ กทม. ซื้อของแพงกว่า มีภาระในการครองชีพสูงกว่า

Advertisement

นายสังศิต กล่าวว่า ในฐานะประธานกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อแก้ปัญหา โดยในช่วง 5 ปีหลังจากนี้ สิ่งที่จะทำเป็นอย่างแรกคือการแก้ปัญหาปากท้อง ของกลุ่มคนจนเมือง ทั้งในกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ โดยผลักดันให้แม่ค้ามีโอกาสกลับมาขายของริมถนน ซึ่ง กทม. มีนโยบายจะยกเลิกเขตผ่อนผัน โดยจะจัดทางแบ่งพื้นที่ให้ขายและเดินได้สะดวก รวมถึงพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

“ส่วนตัวอยากจะหาข้าวกินข้างถนนก็ไม่ได้ ต้องไปกินในห้างเพราะไม่มีทางเลือก การไล่คนประมาณ 5-6 แสนคนไม่ให้มีอาชีพแม่ค้า เป็นโศกนาฎกรรม เพราะไม่ได้หายเพียงเท่านั้น แต่คนไม่ต่ำกว่าล้านคนก็เดือดร้อนไปด้วย เพราะสตรีทฟู้ดประหยัดค่าใช้จ่าย และอร่อย นโยบายทำ กทม.ให้สะอาด ไม่ถูกต้อง เพราะในต่างประเทศก็มีกันอยู่ทั่วไป เพียงแต่ควรจัดที่ทางแบ่งพื้นที่ให้ขาย ตั้งแต่นานา สุขุมวิท ไล่ไปเอ็มโพเรียม นักท่องเที่ยวชอบกิน ถ้าเราทำให้เป็นถนนคนเดินจะเป็นการสร้างอาชีพ สร้างงาน เพราะคนไทยมี 2 กลุ่ม คือ ค้าขายกลางวันและกลางคืน ถ้าหากเราทำสวนลุมเป็นที่ออกกำลังกายตั้งแต่เช้า จะเกิดร้ายขายของจำนวนมาก หรือสวนเบญจสิริทำเป็นที่ขายของให้คนไปนั่งกินข้างในสวนได้” นายสังศิต กล่าว

“เราอยากจะเห็นถนนคนเดินใน กทม. หาดใหญ่ เชียงใหม่ ภูเก็ต และต่างจังหวัด อย่างแถวสุรวงค์หรือข้าวสาร ให้คนเดินได้ทั้งวันทั้งคืน เพราะชนชั้นกลางเมืองไทยมีกำลังซื้อ เรื่องการบริโภคหากไม่ทำเช่นนี้ก็จะไม่มีที่ใช้จ่ายเงิน ต้องอาศัยคนชั้นกลางไปเดิน อาจคุมเรื่องแอลกฮอล์ คนไทยให้แค่ตี 2 แต่นักท่องเที่ยวต้องให้ดื่มได้ถึงตี 4 เพราะเขามาเที่ยว อย่าใช้มาตรฐานเดียวกัน เช่นนี้จะทำให้เศรษฐกิจพื้นฐานขยับตัวได้เพราะการจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ คือต้องทำให้คนมีอาชีพ มีงาน มีรายได้” นายสังศิต กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image