คำต่อคำ ปาฐกถา ‘สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี’ 43 ปี 6 ตุลา ย้อนเล่าละเอียดยิบตั้งแต่ตื่นนอนก่อนร่วมวินาทีวิปโยค

ระหว่างการปาฐกถา รำลึก 43 ปี 6 ตุลา นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี กล่าวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2562 ดังนี้

ชีวิตคนหนุ่มสาวหลายคนเปลี่ยนไปอย่างมากมายเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ชีวิตผมก็เช่นกัน

ยามสายวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผมยืนอยู่นอกกำแพงรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิ่งงัน งุนงง หันรีหันขวาง ไม่รู้จะทำอย่างไร พยายามบังคับน้ำตาไม่ให้ไหลท้นออกมา ด้วยกลัวว่าจะเป็นเป้าสายตา

เช้าตรู่วันนั้น ผมตกใจตื่นขึ้นมาจากเตียงนอนในหอพักแพทย์รามาธิบดีเพราะพี่ๆ ที่หอพักแพทย์ตะโกนบอกกันเรื่องเหตุนองเลือดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertisement

คืนวันที่ 5 ตุลาคม ผมออกจากที่ชุมนุมกลางสนามหญ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะมีภารกิจที่ต้องกลับมาทำที่ตึกสันทนาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนนั้นบรรยากาศเริ่มคุกรุ่นแล้ว แต่ผมไม่สังหรณ์ใจว่า จะเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ คิดเพียงว่า อาจมีความรุนแรงระดับเดียวกับที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งตลอดปี 2519 แม้จะรู้สึกแปลกไปบ้างที่คราวนี้น้ำเสียงวิทยุยานเกราะช่างแข็งกร้าวและหนังสือพิมพ์ดาวสยามช่างปลุกปั่น แต่ด้วยความอ่อนเยาว์ ไม่ประสีประสา จึงคิดไปไม่ถึงว่า จะเกิดอะไรขึ้นในอีก 10 ชั่วโมงข้างหน้า

เมื่อเสร็จภารกิจ ด้วยความอ่อนล้าที่ตรากตรำมาหลายวัน ผมจึงไปค้างนอนกับพี่นักศึกษาแพทย์ ที่หอพักแพทย์รามาธิบดี

เมื่อตะลีตะลานตื่นขึ้น ผมรีบนั่งรถเมล์จากรามาธิบดีมาถึงสนามหลวง และเห็นคนจำนวนนับร้อยคนมุงกันอยู่ริมสนามหลวง ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertisement

 

 

ไม่มีเสียงปืน ไม่มีการวิ่งหลบวิถีกระสุน มีแต่กลิ่นไหม้ของยางรถยนต์ ซึ่งเมื่อผมเดินเข้าไปใกล้แล้วต้องเบือนหน้าหนี มีร่างของใครสองสามคนอยู่ที่กองยางรถยนต์นั้น

มองไปไกลอีกเล็กน้อย เห็นร่างคนถูกแขวนไว้ที่ต้นมะขาม และคนกลุ่มหนึ่งยังมุงดูกันอยู่ไม่ห่าง

ผมยืนอยู่สักพัก ก็รีบถอยออกมาจากตรงนั้น โดยไม่หันหลังกลับไปดูอีกเลย

เวลา 15 นาทีกลางสนามหลวงในวันนั้น เป็นห้วงเวลาที่ผมยังจำได้ ไม่เคยลืมจนถึงวันนี้

เด็กหนุ่มอายุ 19 ปี กับ ภาพที่จำฝังลึกลงไปสุดใจ ทำให้ผมเปลี่ยนวิธีมองโลกไปตลอดกาล

ความฝันแสนงาม โลกใบที่สดใส และผู้คนที่รักสันติภาพ อยู่ที่ไหนเล่า

ไม่มีหรอก ผมบอกตัวเอง คุณยังไม่รู้อะไรอีกมาก
พอแล้ว ความอ่อนเยาว์ ไม่ประสีประสา

คืนวันนั้น ผมเดินทางกลับบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด แล้วหมกตัวอยู่ในห้องแคบๆ ของตนเองเกือบเดือน อาม่าและแม่คอยเฝ้ามาไถ่ถามด้วยความเป็นห่วง ผมกินข้าวไม่ลง คิดวนไปวนมา ไม่รู้จะทำอะไรต่อไป พยายามติดตามข่าวคราวของเพื่อนมิตรและผู้ร่วมชุมนุมอื่นๆ แต่ก็ถูกปิดกั้นทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ มีแต่ข่าวเรื่องพบอาวุธและอุโมงค์ในธรรมศาสตร์ และการติดตามจับกุมนิสิต นักศึกษา ผู้นำกรรมกร ผู้นำชาวนา นับพันคน

หนึ่งเดือนที่โลกรอบตัวดูเคว้งคว้างและมืดมน

ต้นเดือนพฤศจิกายน มหาวิทยาลัยเปิดเรียน แต่บรรยากาศในมหาวิทยาลัยไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว หม่นหมอง เงียบเหงา ซึมเซา ผ่านไปวันๆ นักศึกษามาเรียนเสร็จก็รีบกลับบ้าน ไม่มีการจับกลุ่มพูดคุยกันอีก

 

 

ผมมักนั่งอยู่โดดเดี่ยวที่ม้าหินริมสนามหญ้ากลางแดดอุ่นและลมหนาว ของเดือนพฤศจิกายน ปล่อยความคิดล่องลอยไป ไม่มีจุดหมาย วันคืนผ่านไปช้าๆ ตั้งคำถามกับตนเองว่า จากนี้จะอยู่ต่อไปอย่างไร จะเรียนไปทำไม ภาพกลางสนามหลวงวันนั้น ยังผุดขึ้นมาเป็นครั้งคราว

หลังจากนั้น เริ่มมีรุ่นพี่มาติดต่อว่า อยู่ในเมืองไม่ปลอดภัย จะหลบเข้าไปในป่าเขาไหม ด้วยความคิดที่ถามตนเองมาตลอดว่า จะเรียนต่อไปทำไม ทำให้ตัดสินใจไม่ยากว่า การไปสู่ภูเขาเป็นหนทางเดียวที่เหลืออยู่

ผมเตรียมกาย เตรียมใจ เตรียมความคิด นับเดือนเพื่อให้พร้อมเสมอหากได้รับนัดหมาย ผมได้รับแจ้งว่า ให้ออกเดินทางไปพร้อมเพื่อนนักศึกษาแพทย์ชั้นเดียวกันอีก 1 คน

และเมื่อกำหนดนัดหมายก็มาถึง คืนก่อนวันนัดหมาย ผมนอนไม่หลับ พลิกตัวไปมาตลอดเวลา ใจหนึ่งก็บอกตนเองว่า เราต้องเดินหน้าต่อไป จำภาพกลางสนามหลวงเช้าวันที่ 6 ตุลาไม่ได้หรือ อีกใจหนึ่งก็พะวงว่า เรากำลังตัดสินใจทิ้งครอบครัวไปโดยไม่รู้ว่าจะได้กลับเมื่อไร หรือจะได้กลับไหม ที่สำคัญคือ อาม่าซึ่งเลี้ยงผมที่เป็นหลานชายคนแรกอย่างถนอมรักมาตั้งแต่แบเบาะ อาม่าจะทำใจได้ไหม ถ้าอาม่าตรอมใจจนป่วย ผมคงไม่สามารถยกโทษให้ตนเองไปตลอดชีวิต

วันรุ่งขึ้นที่นัดพบกัน ผมก้มหน้าอย่างละอายใจ แล้วบอกเพื่อนว่า ผมตัดสินใจไม่ร่วมเดินทางไปกับเขาแล้ว ในใจของผมเตรียมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากเพื่อนอย่างยินยอม เหมือนคนขี้แพ้

ผิดคาด เขากลับบอกผมว่า ไม่เป็นไร เขาเข้าใจ แต่เมื่อตัดสินใจอยู่ในเมืองต่อไป ขออย่างเดียว ขอย่างเดียว อย่าลืมเพื่อนของเราที่เสียชีวิตไปในวันที่ 6 ตุลา

ผมนิ่งงัน นั่งจมอยู่กับที่ มองเพื่อนผู้ตัดสินใจแน่วแน่ เดินคล้อยหลังห่างออกไปทุกที วินาทีนั้น ผมบอกกับตัวเองว่า ชีวิตผมต่อจากนี้ ไม่ใช่ชีวิตผมแบบที่ใช้ชีวิตมา 19 ปีอีกต่อไปแล้ว ความฝันของผมต่อจากนี้ ไม่ใช่ความฝันเดิมที่สวยใส และราบเรียบอีกต่อไปแล้ว

จากนี้ ผมจะไม่ใช่เด็กหนุ่ม อ่อนเยาว์ ไม่ประสีประสาคนเดิม
จากนี้ ผมจะไม่เพียงแค่เรียนหนังสือ แต่ผมจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ทำตามความฝัน อย่างมุ่งมั่น มีสติ ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน
จากนี้ ผมจะหยุดซึมเศร้าแล้วก้าวต่อไป

 

 

เมื่อยังอยู่ในเมืองก็ทำตามเงื่อนไขที่อยู่ในเมือง ผมนัดพบพูดคุยกับเพื่อนมิตรที่ยังอยู่ นอกมหาวิทยาลัย หรือเวียนไปตามบ้านของเพื่อนเราเริ่มเผยแพร่ความจริงของ 6 ตุลาและข้อเขียนของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ด้วยการพิมพ์ลงกระดาษไขแล้วโรเนียวด้วยมือ ทำหนังสือทำมือ ทำหนังสือพิมพ์กำแพง และผลัดกันไปให้กำลังใจผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา

เมื่อสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายหลังรัฐประหารวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เราเริ่มพบปะพูดคุยกันเพื่อฟื้นบทบาทของสโมสรนักศึกษา และเริ่มมีการติดต่อนัดหมายกันกับเพื่อนนักศึกษาระหว่างมหาวิทยาลัย

เมื่อรัฐบาลเปิดให้มีบรรยากาศประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ผมและเพื่อนช่วยกันสร้างสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลขึ้นมาใหม่ ส่วนระหว่างมหาวิทยาลัย เรารวมกันเป็นสโมสรนักศึกษา 16 สถาบัน แล้วขยายตัวเป็นสโมสรนักศึกษา 18 สถาบันในเวลาต่อมา

ผมและเพื่อนเรียนไป สร้างกิจกรรมนักศึกษาไป อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ท่ามกลางกระแสข่าวที่สับสนเกี่ยวกับความขัดแย้งเพื่อนมิตรที่อยู่ในป่าเขาและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งส่งต่อผ่านกันมา

แต่ผมไม่สนใจว่า ภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยจะแตกแยกทางความคิดกันอย่างไร

เช่นเดียวกับที่ผมไม่สนใจว่า ประเทศจีนหลังเหมาเจ๋อตงตายวุ่นวายแค่ไหน จีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนามมีความหมายอย่างไรต่อโลกสังคมนิยม สงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตจะสิ้นสุดหรือไม่

เพราะสุดท้าย ความใฝ่ฝันของผม และผองเพื่อน และวีรชน 6 ตุลา คือ ทำอย่างไร ที่ทำให้เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง

เมื่อผมจบการศึกษา ผมผ่านประสบการณ์หลากหลาย ออกไปเป็นแพทย์ชนบท กลับมาเป็นอาจารย์แพทย์ เป็นรัฐมนตรี เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ ชีวิตมีขึ้นมีลงหลายครั้ง สูงสุดคืนสู่สามัญ

แต่ผมไม่เคยลืมภาพจำของยามสายวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ทุกครั้งที่ความทุกข์ ความเศร้า จะเข้ามาเกาะกุมจิตใจ ผมไม่เคยยอมแพ้
เพราะเมื่อผมนึกถึงผู้เสียชีวิตในวันที่ 6 ตุลา นึกถึงเพื่อนผู้ทิ้งชีวิตสบายๆในเมืองหลวงไปสู่ป่าเขา และบางคนไม่ได้กลับมา ผมจะลุกขึ้นแล้วบอกตนเองว่า “หยุดซึมเศร้า แล้วก้าวต่อไป”

แต่การก้าวต่อไปทุกครั้ง ผมก็บอกกับตนเองว่า อย่าไร้เดียงสา ต้องมีสติกำกับเสมอ และมีปัญญารู้เท่าทัน

 

ผ่านมาถึงวันนี้ หลังจากการก้าวเดินจากวันที่เปลี่ยนชีวิตผมมา 43 ปี ผมสรุปบทเรียนบอกกับตนเองไว้ดังนี้

1) ไม่มีใครอยากตาย แต่มีบางคนพร้อมเผชิญหน้ากับความตายเพื่อแลกกับอุดมการณ์ที่ตนใฝ่ฝัน

2) จงมีความสุขที่ได้ทำตามความฝัน
อย่ามีความสุขเพราะอยากให้ผู้คนยกย่องจดจำชื่อและตัวตนของเรา
คนอาจจำได้ในสิ่งที่เราทำ โดยไม่ใส่ใจเลยสักนิดว่าใครทำ
เพราะเมื่อมีเรื่องราวอีกมากมายในประเทศนี้ หรือโลกใบนี้ที่จดจำกันไม่หมด
และอีก 100 ปี หรือ 1,000 ปีข้างหน้า ก็จะไม่มีใครจดจำรายละเอียดนี้ได้อีก

3) ฝันให้ยิ่งใหญ่ แต่เดินไปทีละก้าว
อย่าโบยตีตัวเองจนหม่นหมองในความทุกข์ ใช้ชีวิตแต่ละวันอย่างมีความสุข ทำตามความฝันไปเรื่อยๆ ไม่หยุด เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็ลุกขึ้นมาใหม่ ใครคิดเก่ง ก็ช่วยคิด ใครพูดเก่งก็ช่วยพูด ใครทำเก่งก็ช่วยทำ ใครถนัดนำก็นำไป ใครถนัดตามก็ตามสนับสนุน ใครมีแรงก็ช่วยแรง ใครมีเงินก็ช่วยเงิน ระหว่างเดินไปด้วยกัน บ่นกันบ้าง ก็ไม่เป็นไร ตำหนิกันบ้างก็อย่าถือสา หนทางยังอีกยาวไกล อย่างไรก็ต้องกุมมือกันไป กอดคอกันไป ไม่ชิงดีชิงเด่น ไม่ยึดติดในหัวโขน ไม่หลงใหลในอำนาจ ใช้ปัญญาในการออกแบบจำลองของความฝัน ทดลองทำ ใช้ไม่ได้ก็ปรับปรุงหรือเปลี่ยนใหม่

ถ้าบรรลุซึ่งความฝันในช่วงชีวิตของเราก็ดี ไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร คนรุ่นหลังเขาคงผลักดันความฝันของเขาเองต่อไป ถ้าคนรุ่นหลังไม่สำเร็จ คนรุ่นต่อไปก็จะมาทำต่ออีก สักวันหนึ่ง ฝันที่ยิ่งใหญ่ย่อมเป็นจริง ผมเชื่อเช่นนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะมาตำหนิกันว่า ทำไมคนรุ่นคุณทำไม่สำเร็จ

4) คำถามว่า “โลกพระศรีอารย์ หรือ ยูโทเปีย เป็นอย่างไร และเป็นไปได้จริงหรือ” ไม่มีผลต่อความใฝ่ฝันของผม
นักวิชาการบางคนเคยบอกว่า ประวัติศาสตร์สิ้นสุดแล้ว เราได้การเมืองประชาธิปไตย เศรษฐกิจเสรี สังคมอุดมคติแล้ว
มาวันนี้ นักวิขาการบางคนกลับบอกว่า ประชาธิปไตยตายแล้ว เสรีนิยมล้มเหลว โลกกำลังเปลี่ยนแกนไปทางขวา
วิกฤตการณ์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก กำลังท้าทายภูมิปัญญาดั้งเดิม และต้องการทฤษฎีแบบใหม่
หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานสีเขียว และเทคโนโลยีอีกมากมายอาจเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา

แต่ไม่ว่าความพลิกผันจะมีมากเพียงใด แต่เมื่อคิดย้อนไปที่จุดตั้งต้น
ความฝันของผมยังคงง่ายเหมือนเดิม คือ เพื่อนร่วมสังคมอยู่ดีกินดี มีโอกาสในชีวิตเท่าเทียมกัน มีเสรีภาพในการแสดงความเห็น และเลือกผู้บริหารประเทศด้วยตัวของเราเอง
ผมเปิดใจกว้างรับความรู้ใหม่ๆ ทฤษฎีใหม่ๆ ไม่จำกัดเฉพาะความรู้ดั้งเดิมของตนเอง

5) สรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ต้องเปลี่ยนแปลง
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องหนีไม่พ้น ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า
ณ จุดตัดของกาลเวลาหนึ่ง ที่ปัจจัยทุกอย่างพร้อม การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น
ตัวอย่างเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่ คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ณ วันที่ 6 มกราคม 2544 ด้วยปัจจัย 5 ประการ ที่สั่งสมมาทีละเล็กละน้อยจนมาครบถ้วนในวันนั้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบบริการสาธารณสุขที่ทะเยอทะยานที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ

ประการแรก นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ศึกษาเรื่องหลักประกันสุขภาพ แล้วเริ่มช่วยสร้างระบบประกันสังคมด้านสุขภาพเมื่อ พ.ศ.2535

ประการที่สอง รัฐธรรมนูญฉบับที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2540 นำไปสู่ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง รัฐบาลเข้มแข็ง

ประการที่สาม หัวหน้าพรรคไทยรักไทยที่ผิดหวังจากการปรับเปลี่ยนพรรคพลังธรรม จึงต้องการสร้างพรรคการเมืองแบบใหม่ที่เน้นนโยบาย และเขายังมีภาวะผู้นำที่สั่งสมมาจากประสบการณ์ทางธุรกิจ

ประการที่สี่ ระบบราชการในกระทรวงสาธารณสุขที่ปูรากฐานมาตลอด 3 ทศวรรษ บุคลากรส่วนใหญ่มีอุดมการณ์เพื่อผู้ป่วย และ ณ เวลานั้น มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการเปลี่ยนระบบบริการสาธารณสุขครั้งใหญ่ให้สำเร็จก่อนตนเกษียณอายุ

ประการที่ห้า อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ บุตรชายอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สานต่อความฝัน “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของบิดาด้วยการรวมพลังองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขต่างๆ เพื่อรณรงค์เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

ทั้งห้าประการนี้ มาบรรจบตัดกันในวันที่ 6 มกราคม 2544 และจุดชี้ขาดที่สำคัญคือ เสียงของประชาชนซึ่งมาลงคะแนนเลือกตั้งในระบบใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งถึง 248 ที่นั่ง มากเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของการเมืองไทย และมีฉันทานุมัติเต็มไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image