09.00 INDEX “ใม้เด็ด”จาก คสช.และรัฐบาล จัดการ ศูนย์ปราบโกงประชามติ

การเกิดขึ้นของ “ศูนย์ปราบโกงประชามติ” เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน เป็นการเกิดขึ้นท่ามกลางการสบประมาท

บ้างก็มองว่า เป็นเหมือน”อากาศธาตุ”

บ้างก็มองว่า เป็นเหมือนกับอาการ “จั่วลม” และบ้างก็มองว่าเป็นเหมือนกับ “อีเว้นต์” ทางการเมือง

แต่พลันที่ 2 พ.อ.ออกมา “แตะ”

Advertisement

แรกทีเดียวก็เป็น พ.อ.วินธัย สุวารี ต่อมาก็ตามมาด้วย พ.อ.ปิย พงศ์ กลิ่นพันธุ์

“อากาศธาตุ” ก็เริ่มมิใช่ “อากาศธาตุ”

เพราะหน้าตาของ 2 พ.อ. มาพร้อมกับหน้าตาของ “คสช.”สะพรึบ พร้อมมูล

Advertisement

ยิ่งมีเสียงจาก 1 พล.ต.ยิ่งอึกทึก ครึกโครม

เพราะเป็น พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เท่ากับเป็น”เสียง”มาจาก”ทำเนียบรัฐบาล”

แรกที่มีการจัดตั้ง”ศูนย์ปราบโกงประชามติ” ชาวบ้านล้วนติดตามและเฝ้ามอง

ติดตามเพราะว่าจัดตั้งโดย “นปช.”

นปช.ซึ่งสัมพันธ์แนบแน่นกับพรรคเพื่อไทย และยืนอยู่ฝ่าย “ไม่รับ” อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา

เฝ้ามองว่า “คสช.”จะว่าอย่างไร

เสียงจาก พ.อ.วินธัย สุวารี สะท้อนความหงุดหงิด ความไม่พอใจและไม่เห็นด้วยแน่ๆ

แต่ก็สงสัยว่า “คสช.”จะใช้”มาตรการ”ใด

เสียงจาก พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ในตอนต้นก็บอกแต่เพียงว่า คสช.จะเฝ้าติดตามสอดส่องต่อไป

ยังไม่รู้ว่าจะใช้”มาตรการ”ใด

แต่แล้วในวันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน เมื่อ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ออกโรงพร้อมกับ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์

ทุกคนก็เริ่ม “เข้าใจ”

เพราะ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อ้าง คำสั่งคสช.ที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

เพราะ พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ อ้าง ประกาศคสช.ฉบับที่ 39/2557 ประสานเข้ากับ ประกาศคสช.ฉบับที่ 3/2558 ที่ลงนามกับคสช.

ว่า จะไม่เคลื่อนไหวในทางการเมือง

คำถามอยู่ที่ว่า คำสั่งคสช.ที่ 7/2557 ประกาศคสช.ฉบับที่ 39/2557 และประกาศคสช.ฉบับที่ 3/2558

ใช้แต่กับ “นปช.” เท่านั้นหรือ

แล้วการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ กรธ. ของสนช. ของสปท.และรวมถึง ครู ก. ครู ข. ครู ค.เล่าจะอยู่ในกรอบแห่งคำสั่งคสช.ที่ 7/2557 ด้วยหรือไม่

“ไม้เด็ด” ทั้งหมดนี้เท่ากับ “ปฏิเสธ”

ปฏิเสธว่า “ศูนย์ปราบโกงประชามติ”มิได้เป็นเหมือน”อากาศธาตุ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image