เดือนตุลายังไม่จบในสังคมไทย!

แล้วเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็เวียนมาครบรอบอีกวาระหนึ่ง จาก 2519 จนถึง 2562 เป็นระยะเวลานานถึง 43 ปี ซึ่งนับว่านานพอสมควรสำหรับหลายคนที่เติบโตในยุคหลัง จนอาจจะรู้สึกว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องเก่า แต่คงต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องเก่าที่ทิ้งมรดก “ข้อคิดและบทเรียน” ให้แก่สังคมไทยอย่างที่ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมิติของเวลา

แม้สังคมการเมืองไทยจะผ่านเหตุการณ์การ “ล้อมปราบใหญ่” ที่กลุ่มขวาจัดตัดสินใจที่จะยุติบทบาทของขบวนนักศึกษาประชาชนที่เติบโตมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หลังจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นอาจจะต้องถือว่าเป็น “การปฏิวัติทางการเมือง” ของสังคมไทย ที่ในด้านหนึ่งก่อให้เกิดการล้มลงของระบอบทหารที่สืบทอดอำนาจมาตั้งรัฐประหาร 2490 และในอีกด้านหนึ่งส่งสัญญาณให้เห็นถึงการขยายตัวของกระแสเสรีนิยมในหมู่นิสิตนักศึกษาไทยอย่างชัดเจน แม้ต่อมากระแสนี้จะมีทิศทางแบบ “เอียงซ้าย” ก็ตาม

แต่ในขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในไทยในปี 2516 อยู่ในกระแสสงครามเย็นในภูมิภาค ที่เห็นได้ถึงปัญหาสงครามเวียดนาม ที่สหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจใหญ่ตัดสินใจเข้ามามีบทบาทโดยตรง ด้วยความเชื่อในทางอุดมการณ์ว่า จะต้องหยุดการขยายตัวของคอมมิวนิสต์เวียดนามให้ได้ เท่าๆกับที่จะต้องปิดล้อมการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ในลาวและกัมพูชาด้วย และการทำเช่นนี้จะทำให้ทั้งไทย และภูมิภาคมีความปลอดภัยจาก “ภัยคอมมิวนิสต์”

สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์จึงเป็นทิศทางทางยุทธศาสตร์ของบรรดาผู้นำปีกขวาในภูมิภาค ยุทธศาสตร์นี้มีทัศนะที่ชัดเจนว่า “คอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามหลัก” ซึ่งก็สอดรับกับนโยบายด้านความมั่นคงของสหรัฐ อันส่งผลให้สหรัฐมีสถานะเป็นพันธมิตรหลักในสงครามครั้งนี้ สภาวะเช่นนี้ทำให้ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กรุงเทพมีความเขื่อมโยงกับปัญหาสงครามเย็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisement

ดังนั้นสำหรับชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาผู้นำปีกขวาที่กรุงเทพจึงไม่แต่เพียงเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงภายในบ้านเท่านั้น หากแต่ยังมีกระแสการเมืองและสงครามเป็นสภาวะแวดล้อมอีกปัจจัยหนึ่งด้วย สภาพเช่นนี้ส่งผลให้การเติบโตของขบวนนิสิตนักศึกษาหลังเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 กลายเป็นความท้าทายอย่างสำคัญ

ความท้าทายดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากังวลเมื่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่เกิดขึ้นในอินโดจีน เมื่อเวียดนามและกัมพูชา “แตก” หมายถึงระบอบการปกครองเดิมของประเทศทั้งสองล้มลง พร้อมกับชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในเดือนเมษายน 2518 และต่อมาในช่วงปลายปีดังกล่าว ลาวก็เปลี่ยนแปลงการปกครองตามไป จนเปรียบเทียบได้กับ “โดมิโน” ที่ล้มตามกันในภูมิภาค

เมื่อโดมิโนกัมพูชาล้ม… ตามมาด้วยเวียดนาม… ต่อมาด้วยลาว ถ้าเช่นนั้นแล้ว โดมิโนไทยจะล้มตามไปด้วยหรือไม่ ?

Advertisement

เมื่อโดมิโนทั้งสามตัวล้มตามกันในอินโดจีนแล้ว โดมิโนตัวที่สี่ที่กรุงเทพจะต้องล้มตามดังเช่นที่ทฤษฎีของสหรัฐอธิบายไว้หรือไม่ ?

ถ้าจะไม่ให้โดมิโนล้ม… ชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และพวกผู้นำปีกขวาทั้งหลายของไทย จะทำอย่างไรกับสถานการณ์เช่นที่กล่าวถึงในข้างต้น… จะ “ปล่อย” ด้วยการให้สถานการณ์เดินไปข้าวหน้าและหาวิธีที่จะควบคุมสถานการณ์ให้ได้ หรือจะ “ปราบ” เพื่อทำให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้มากกว่า

หลังจากโดมิโนล้มในอินโดจีนในปี 2518 แล้ว สังคมไทยมีความแตกแยกทางการเมืองอย่างชัดเจน ขบวนนิสิตนักศึกษาที่เริ่มเอียงซ้ายไปกับกระแสต่อต้านสงครามเวียดนาม และกระแสจีนในเวทีโลก เริ่มถูกมองด้วยทัศนะว่าเป็นภัยคุกคาม และที่สำคัญมองว่าขบวนนักศึกษาจะเป็นปัจจัยที่ทำให้โดมิโนล้มที่กรุงเทพ ฉะนั้นเมื่อโดมิโนอินโดจีนล้มแล้ว คำตอบในหมู่ผู้นำในการจัดการปัญหาความมั่นคงไทยจึงเหลือแต่เพียงประการเดียวคือ ถึงเวลาที่จะต้องยุติบทบาทของขบวนนิสิตนักศึกษา แม้จะต้องใช้ความรุนแรงก็ตาม

สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเมืองจึงถูกแปลงให้เป็นปฎิบัติการต่อต้านขบวนนิสิตนักศึกษา และการต่อต้านเช่นนี้ไม่มีอะไรง่ายเท่ากับการใส่ร้ายป้ายสีในรูปแบบต่างๆ ผลจากปฏิบัติการดังกล่าวนำไปสู่การ “แบ่งขั้ว-แยกข้าง” ในสังคม และยิ่งปลุกระดมมากเท่าใด สังคมไทยก็ยิ่งแตกแยกมากเท่านั้น แต่สำหรับฝ่ายขวาและผู้นำทหารแล้ว ความแตกแยกจะเป็นเงื่อนไขที่ดีของการปราบปราม และหวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการ (หลังจากการปราบปราม) จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเสถียรภาพ

ฝ่ายขวาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การดำเนินการเช่นนี้จะเป็นวิธีการป้องกันคอมมิวนิสต์ที่ดีที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การก่อเหตุรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินการให้ได้

การล้อมปราบด้วยการ “สังหารกลางเมือง” ไม่ว่าจะเป็นการฆ่า การเผา การแขวนคอ การล่วงละเมิดทางเพศ ตลอดรวมถึงการทำร้ายในรูปแบบต่างๆ ล้วนเกิดในใจกลางเมืองหลวงของประเทศ อย่างที่ผู้นำไทยไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศเลย

แต่ผลกลับไม่เป็นเช่นที่หวัง การล้อมปราบในวันที่ 6 ตุลาคม กลับกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้สงครามคอมมิวนิสต์ในไทยขยายตัวมากขึ้น จนหลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า สงครามนี้จะจบลงด้วยไทยกลายเป็น “โดมิโนตัวที่ 4”

ถ้าเช่นนั้นแล้ว ผู้นำไทยจะทำอย่างไร… จะเลือกหนทางใดที่ไทยจะไม่ล้ม?

ถ้าสู้ด้วยรัฐบาลเผด็จการที่มีนโยบาย “การทหารนำการเมือง” ด้วยปราบปรามเป็นหลักเช่นในแบบ 6 ตุลาคมแล้ว โดมิโนล้มที่กรุงเทพแน่นอน ไม่แตกต่างจากกรณีของเวียดนามใต้ แต่ถ้าต่อสู้ด้วยแนวทางใหม่ด้วย การจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย และมีนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” แล้ว ประเทศไทยอาจจะรอดพ้นจากการล้มตามกันได้ แต่จะเปลี่ยนการเมืองในทิศทางเช่นนี้ได้ จะต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนรัฐบาลก่อน

แล้วในที่สุดรัฐบาลหลังรัฐประหารตุลาคม 2520 เริ่มต้นด้วย รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้แก่นักศึกษาในคดี 6 ตุลาคม และรวมถึงผู้เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวทั้งหมด ต่อมารัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จึงออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 และที่ 65/2525 เพื่อการเปลี่ยนทิศทางยุทธศาสตร์ในการทำสงคราม และที่สำคัญ “ระบอบประชาธิปไตย” ถูกยอมรับว่าเป็นเงื่อนไขของการยุติสงครามคอมมิวนิสต์ และทั้งยอมรับการสร้างความแตกแยกในสังคมไทยไม่ใช่หนทางของการแก้ปัญหา… แล้วสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยก็เริ่มลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง และในปี 2525-26 รัฐบาลกรุงเทพก็มั่นใจจนถึงขั้นประกาศชัยชนะในสงครามนี้

สงครามคอมมิวนิสต์ที่อาจขยายตัวเป็น “สงครามกลางเมือง” กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้กลุ่มผู้นำไทยยอมรับการปรับตัว และยอมสร้างการปรองดองพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้ไทยกลายเป็นโดมิโนตัวที่ 4 ในภูมิภาค

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านไปนานพร้อมกับการสิ้นสุดของสงครามในบ้าน ว่าที่จริงบทเรียนข้างต้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปกับกาลเวลา แต่หลายปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ สังคมไทยกลับสู่วังวนของความขัดแย้งอีกครั้งไม่แตกต่างจากยุคสงครามคอมมิวนิสต์ และยังหาทางออกไม่ได้ อีกทั้งผู้นำไทยปัจจุบันไม่ต้องกังวลมาก เพราะไม่มีสงครามเป็นเงื่อนไขบังคับ ให้ต้องกลัวเหมือนกับการล้มของโดมิโนเช่นในอดีต การดำเนินนโยบายแบบ “อำนาจนิยม” จึงเห็นได้ชัดเจนขึ้น และมีการใช้ทหารเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จนเสมือนกับเป็นนโยบาย “การทหารนำ” ในการเมืองของรัฐบาล และขณะเดียวกันการใส่ร้ายป้ายสีที่เคยเป็นเงื่อนไขของการสังหารในปี 2519 ก็ดูจะกลับคืนมาให้เห็นอีกครั้ง

วันนี้สังคมไทยไม่มี “สงครามการทหาร” ในแบบสงครามคอมมิวนิสต์ แต่มี “สงครามการเมือง” ที่ไม่มีแนวโน้มจะยุติได้ สภาวะดังกล่าวจึงท้าทายอย่างยิ่งว่า บทเรียนของการสร้างระบอบประชาธิปไตยเพื่อยุติปัญหาการเมืองภายในจากกรณี 6 ตุลาคม นั้น ยังจะพอมีประโยชน์สำหรับยุคปัจจุบันหรือไม่ และที่สำคัญชนชั้นนำ ผู้นำทหาร และบรรดาผู้นำปีกขวาทั้งหลายในปัจจุบัน ยอมรับกับบทเรียนในการแก้ปัญหาของประเทศนี้หรือไม่… หรือจะต้องรอจนมีสงครามจึงจะยอมรับได้!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image