รายงานหน้า 2 : ผ่างบประมาณปี’63 เช็กรายจ่าย3.2ล้านล้าน

หมายเหตุ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ขณะที่นายวันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นถึงการจัดสรรงบประมาณด้านต่างๆ

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563

-วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 สรุปได้ ดังนี้

1.งบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำนวน 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ประกอบด้วยโครงสร้างงบประมาณ ดังนี้

Advertisement

1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2,392,317.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำนวน 119,661.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 74.8 ของวงเงินงบประมาณเทียบกับสัดส่วนร้อยละ 75.8 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2562

2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำนวน 62,709.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 เนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.9 ของวงเงินงบประมาณ

3) รายจ่ายลงทุน จำนวน 655,802.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำนวน 6,664 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.5 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 21.6 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2562

Advertisement

4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 89,170.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2562 จำนวน 10,964.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 และคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 2.8 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 2.6 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2562

2.รายได้สุทธิ จำนวน 2,731,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ที่กำหนดไว้จำนวน 2,550,000 ล้านบาท จำนวน 181,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.1 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 15 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2562

3.วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 469,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2562

จำนวน 19,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 2.6 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2562

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ

1) งบประมาณรายจ่ายงบกลาง จำนวน 518,770.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.2

2) งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,144,319.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.8

3) งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 235,091.0 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.3

4) งบประมาณรายจ่ายบุคลากร จำนวน 777,267.6 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.3

5) งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 189,714.1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.9

6) งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 272,127.1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.5

7) งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.0

8) งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย ไม่เสนอตั้งงบประมาณ

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำแนกตามยุทธศาสตร์จัดสรรงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 3,200,000 ล้านบาท

1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 428,219.2 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4

2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 380,418.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.8

3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 570,521.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.9

4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 766,269.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.9

5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 118,576.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.7

6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 54,657.6 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.8

7.รายการค่าดำเนินการภาครัฐ 431,336.6 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.5

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จำแนกตามแผนงานบูรณาการ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ความเห็นชอบให้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 และนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จำนวน 6 คณะ 14 แผนงานและนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค จำนวน 1 แผนงาน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ โดยพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ รวม 15 แผนงาน จำนวน 235,091 ล้านบาท

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 จุดสำคัญยังอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนามิติด้านความมั่นคงอยู่ โดยเฉพาะ กอ.รมน.มีบทบาทสูงมากในการทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาในมิติด้านความมั่นคงให้กับกองทัพ เพราะบทบาทของกองทัพในมิติสมัยใหม่ ด้านหนึ่งดูแลเรื่องความมั่นคง อีกด้านยังดูงานด้านกิจการพลเรือนที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมวลชน

พูดง่ายๆ ว่างานด้านกิจการพลเรือนของกองทัพจะให้ความสำคัญกับตรงนี้มากขึ้น ซึ่งเงินงบประมาณที่หว่านไปจะต้องเน้นเรื่องการกระตุ้นด้านเศรษฐกิจด้วย แน่นอนว่าอาจจะเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

ฝ่ายเห็นต่างมองว่ากองทัพในยุคสมัยใหม่ที่ไม่มีสงคราม งบประมาณนอกจากไปซื้ออาวุธแล้วจะนำไปใช้อะไร แต่อีกมิติในรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า กองทัพเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญรองรับความชอบธรรมมิติด้านบทบาทให้กับกองทัพ ดังนั้นในเรื่องความมั่นคง งบประมาณที่จะแจกจ่ายไปส่วนหนึ่งก็เอามาใช้ในการพัฒนาประเทศด้วย

แต่เมื่อพูดถึงมิติด้านความมั่นคง คนจะไปโฟกัสเพียงเรื่องการจัดซื้ออาวุธเท่านั้น แต่ความจริงแล้วยังมีมิติด้านยุทธศาสตร์ การช่วยเหลือ การบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และในมิติอื่นๆ ด้วย

ดังนั้นรัฐบาลหรือหน่วยงานความมั่นคงจะต้องอธิบายถึงสาระ อรรถประโยชน์อื่นๆ ที่ประเทศจะได้รับ และตอบฝ่ายค้านให้ได้ ไม่ใช่โต้ตอบเฉพาะประเด็นการซื้อขายอาวุธเท่านั้น ฝ่ายค้านก็เช่นกัน ไม่ควรจับผิดประเด็นนี้มากเกินไป

ส่วนเรื่องวินัยของพรรคร่วมรัฐบาลไม่น่ามีปัญหาอะไร คงจะผ่านไปได้ แต่ถ้า พ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่าน แน่นอนว่าตามมารยาทนายกฯควรจะลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง แต่คงไม่ยุบสภาเลือกตั้งใหม่เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ เป็นการจินตนาการล่วงหน้า เพราะกว่าจะถึงจุดนั้นบรรดาวิปรัฐบาลหรือแกนนำรัฐบาลก็คงไม่ยอมให้เห็นโฉมหน้าการเมืองเช่นนั้นอย่างแน่นอน

ที่นายกฯบอกว่าถ้าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่านจะเดือดร้อนทั้งประเทศ แน่นอนว่าเป็นการสร้างแรงกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลหันกลับมาสานสามัคคีลงเรือลำเดียวกันว่าอะไรที่ติดข้องหมองใจ หรือรู้สึกว่าถูกปัดแข้งปัดขาก็ขอให้ลืมไว้ก่อน ให้เดินหน้าไปด้วยกันก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image