ขยายเวลาลงนามไฮสปีด 3 สนามบินให้ซีพีเอช อีก 10 วัน ยัน รบ.ต้องทำตามกฎหมาย

“ศักดิ์สยาม” เผยขยายเวลาลงนามไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินให้ซีพีเอช อีก 10 วัน รอครม.เคาะบอร์ดรถไฟชุดใหม่อังคารหน้า พร้อมชง ครม.เคาะสัญญารถไฟไทย-จีน 5 หมื่นล้าน ก่อนรายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนปลายปีนี้

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 8 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (คค.) ระบุถึงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 2.2 แสนล้านบาท โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) เป็นผู้เสนอราคามาในอันดับ 1 ซึ่งนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ขอให้รัฐบาลร่วมรับความเสี่ยงกับภาคเอกชนในการลงทุนด้วยนั้น ว่า เป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของท่าน แต่รัฐบาลก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) ซึ่งได้พูดถึงไว้ในข้อ 50.1 บอกว่า ผู้ยื่นเสนอจะต้องรับภาระความเสี่ยง แต่เรื่องนี้คงไม่ใช่ปัญหา ท่านสามารถแสดงความคิดเห็นได้ อะไรที่รัฐบาลจะสามารถทำให้ผู้ประกวดราคา ดำเนินการได้ตามกฎหมาย และตาม RFP แล้ว เรายินดีจะทำ ไม่มีอะไรมากกว่านี้ ดังนั้น ต้้องช่วยกันดูว่ามีอะไรที่รัฐบาลยังไม่ได้ทำ เช่น การส่งมอบพื้นที่ เป็นต้น โดยขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว และขณะนี้สามารถส่งมอบพื้นที่ได้ประมาณร้อยละ 72 เหลือร้อยละ 28 ที่รอดูการย้ายสาธารณูปโภค และการบุกรุก

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ทั้งนี้ ในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและตน เป็นรองประธาน รวมถึงปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ก็คงมีการดำเนินการ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโครงการนี้ เนื่องจากในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) มีหลายโครงการย่อยอยู่ในนั้น เพื่อจะดูว่าจะทำอย่างไรให้ดำเนินการตามบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ ในพื้นที่ร้อยละ 72 นั้น ทางผู้ชนะการประกวดราคา ซึ่งเป็นคู่สัญญา คงต้องใช้เวลาในการเคลียร์เรื่องส่งมอบพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี ตนจึงคิดว่าทุกอย่างจะทันตามกรอบเวลา เนื่องจากหลังจากที่คณะอนุกรรมการมีการประชุม จะได้ดูว่าส่วนรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่มีสาธารณูปโภคอยู่ในโครงการ เขามีแผนการอย่างไร หากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน จะเปิดให้มีการขยายเวลาได้อยู่แล้ว และไม่มีเบี้ยปรับ ถือเป็นหลักปกติในการปฏิบัติงาน

เมื่อถามว่าประชาชนสามารถมั่นใจได้เต็มที่ว่าโครงการดังกล่าวจะเดินหน้า นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาว่าเรื่องนี้ต้องเดินหน้า เพราะจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย และต้องพูดเรื่องนี้อย่างตรงไป ตรงมาและโปร่งใส อะไรที่รัฐดำเนินการถูกต้องแล้วต้องทำต่อไป ส่วนอะไรที่ภาคเอกชนสงสัย เราจะอธิบายให้ฟัง และช่วยกันเพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าได้

Advertisement

เมื่อถามว่าจะมีการขยายกำหนดการลงนามในวันที่ 15 ตุลาคมนี้หรือไม่ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เรื่องการลงนามนั้น คณะกรรมการคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็บอกไปเรียบร้อยแล้ว ว่าเขาเจรจาตามกรอบ RFP ครบถ้วนแล้ว ขณะนี้จะต้องเลื่อนออกไปอีก 10 วัน เนื่องจากบอร์ดรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลาออกทั้งคณะ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อไปดูในวาระการพิจารณา กลับพบว่า บอร์ดรฟท. ยังไม่ได้มีการประชุมเรื่องนี้ จึงไม่สามารถนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ จึงต้องมีการแต่งตั้งบอร์ดรฟท.ชุดใหม่ขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกัน ได้เรียนให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว พร้อมมีบัญชาให้รีบดำเนินการ ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างเสนอชื่อบอร์ดรฟท. ชุดใหม่ และจะส่งกลับไปกระทรวงคมนาคม พิจารณาภายในสัปดาห์นี้ ก่อนตนจะนำเข้าสู่ครม.พิจารณาในวันที่ 15 ตุลาคมนี้

เมื่อถามอีกว่า การแต่งตั้งบอร์ดใหม่จะกระทบในการเดินหน้าโครงการหรือไม่นั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่ส่งผลกระทบ เพราะเป็นขั้นตอนตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการตาม RFP ในข้อ 63 ระบุชัดเจนว่า กฎหมายที่ต้องดำเนินการ นอกจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็ต้องมีกฎหมายไทยเองที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายรถไฟ ส่วนการยืดระยะเวลาลงนาม ออกไปอีก 10 วัน ยืนยันไม่ผลกระทบ เพราะการยื่นราคาของผู้เสนอราคา เปิดให้ยื่นเสนอราคาได้จนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน

“สำหรับการลาออกของบอร์ดรฟท. เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดถึงว่าจะมีการลาออก เพราะคณะกรรมการคัดเลือก เพิ่งจะมีการประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา และวันที่ 30 กันยายน ได้ออกหนังสือแจ้งการลงนามให้แก่ผู้ชนะประกวดราคา ต่อมาเวลา 11.00น. วันที่ 1 ตุลาคม เมื่อผู้ชนะการประกวดราคามารับหนังสือ ปรากฎว่าบอร์ดรฟท.กลับลาออกในวันเดียวกัน เราจึงต้องดำเนินการต่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากไม่มีบอร์ดรฟท. เราก็ไม่สามารถนำเรื่องนี้ให้ครม.รับทราบได้” นายศักดิ์สยาม กล่าว

เมื่อถามถึงสาเหตุการลาออกของบอร์ดรฟท. ในช่วงที่จะมีการลงนามสัญญา นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถามบอร์ด เพราะตนพยายามยับยั้งแล้ว

เมื่อถามอีกว่าการขยายเวลา 10 วันนั้น แม้ตามสัญญาเดิมระบุให้ส่งมอบพื้นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 แต่ล่าสุดทางภาคเอกชนที่ได้รับงานขอให้ส่งมอบพื้นที่ร้อยละ 100 นั้นก่อนการลงนาม นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จะต้องไปดูในเงื่อนไข RFP ว่าระบุว่าอย่างไร ซึ่งคิดว่าคณะกรรมการคัดเลือก ได้ดูเรียบร้อยแล้วว่าการส่งมอบพื้นที่อยู่ในแผนอย่างไร ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ดอีอีซี) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดไปพร้อมกัน ขอให้อย่ากังวล เรื่องนี้ต้องเร่งรัด เพราะสำคัญกับประเทศมาก ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการคัดเลือก ยังอยู่ระหว่างการจัดทำหนังสือไปแจ้งบริษัท ในการลงนามสัญญาใหม่อีกครั้ง เดิมกำหนดวันที่ 24 ตุลาคม แต่เนื่องจากเป็นวันสำคัญ จึงกำหนดให้เป็นวันที่ 25 ตุลาคมนี้

“คิดว่าการขยายเวลา กลับมีเวลาให้ทางภาคเอกชนได้ตรวจสอบเรื่องเอกสารให้เรียบร้อยครบถ้วน อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ร้อยละ 72 นั้น เรียนว่ามีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ใช่แค่พร้อม แต่ยังรวมถึงจะมีการนำแผนที่การก่อสร้างทั้งหมดในร้อยละ 72 นั้นอยู่บริเวณใดบ้างมากางในที่ประชุมคณะอนุกรรมการวันที่ 10 ตุลาคมนี้” นายศักดิ์สยาม กล่าวและว่า สำหรับโครงการดังกล่าว จะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี บวกเวลาในการมอบพื้นที่ รวมเป็น 6 ปี จึงมีเวลาพอ โดยคิดว่าจะบริหารเรื่องนี้ โดยจะใช้หลักเดิมที่กระทรวงคมนาคมเคยบริหารในการก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์สายใต้ ซึ่งขณะนั้นได้รับเงินจากไจก้า ก็สามารถเอามิติปัญหา 7 เรื่องของตนมาดำเนินการ จึงคิดว่าน่าโครงการจะดำเนินการได้

นอกจากนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ในวันที่ 15 ตุลาคม จะมีการนำเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เข้าสู่ครม. ให้พิจารณาเห็นชอบงานสัญญา 2.3 (งานระบบ) มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาทด้วย เพราะเรื่องนี้จะนำเข้าสู่ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image