‘บิ๊กตู่’ ชมภารกิจ ‘ดีป้า’ สั่งเดินหน้าพาไทยเป็น​ ‘ดิจิทัลฮับ’ แห่งอาเซียน หวังตั้งมหา’ลัยผลิตคนรองรับอาชีพอนาคต

‘บิ๊กตู่’ ชมภารกิจ ‘ดีป้า’ สั่งเดินหน้าพาไทยเป็น​ ‘ดิจิทัลฮับ’ แห่งอาเซียน​-ยกระดับศักยภาพคนให้สอดคล้องความต้องการตลาด​ หวังตั้งมหา’ลัยรูปแบบใหม่ ผลิตบุคลากรรองรับอาชีพอนาคต

เมื่อเวลา​ 14.00​ น.​ วันที่​ 9 ตุลาคม ที่อาคารดีป้า ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร​ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​กลาโหม​ พร้อมคณะ​ เข้าเยี่ยมชมภารกิจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)​ สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม​ และนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้บริหาร พนักงาน และผู้แทนจากภาคเอกชนให้การต้อนรับ

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมหารือในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาประเทศไทยสู่ ASEAN Digital Hub” โดยสั่งการให้ดีป้าเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐสำคัญอย่าง “ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์” พื้นที่เมืองอัจฉริยะในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่จะสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน และขยายตลาดในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล อีกทั้งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ทดสอบ ทดลองนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ก่อนก้าวสู่ตลาดเชิงพาณิชย์​ ทั้งนี้​ “ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์” จะเป็นแหล่งพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น หรือดิจิทัล สตาร์ทอัพ สัญชาติไทยใน 6 สาขา ประกอบด้วย เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและอาหาร (AgTech) เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีด้านสาธารณสุข (HealthTech) เทคโนโลยีเพื่อการให้บริการภาครัฐ (GovTech) เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว (TravelTech) ก่อนทำงานร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Large Tech Company) จากต่างประเทศ ทั้งด้านไอที การวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซอฟต์แวร์ คอนเวอร์เจนซ์ ฮาร์ดแวร์ ฯลฯ ในการออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมด้านดิจิทัล (Digital Product-Service Innovation Design)

Advertisement

นายกฯกล่าวว่า​ นอกจากนี้จะต้องเร่งยกระดับศักยภาพกำลังคน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเฉพาะสาขาดิจิทัล หุ่นยนต์ (Robotic) อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) การวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ที่จะผลิตบุคลากรรองรับอาชีพแห่งอนาคต อาทิ หลักสูตรการเขียนโปรแกรมสั่งการอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการแสดงความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลขั้นสูงของภูมิภาคในอนาคต

ต่อมา ​ภายหลังการประชุม นายกฯได้ร่วมพบปะเหล่าดิจิทัลสตาร์ทอัพ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ และชมการแสดงผลงานของดิจิทัล สตาร์ทอัพ ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและอาหาร (AgTech) เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) เทคโนโลยีด้านสาธารณสุข (HealthTech) เทคโนโลยีเพื่อการให้บริการภาครัฐ (GovTech) เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว (TravelTech) และการเปลี่ยนแปลงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) นอกจากนี้ นายกฯยังได้เยี่ยมชมภารกิจของดีป้าในด้านต่างๆ จุดให้บริการดิจิทัลครบวงจร (Digital One Stop Service-DOSS) ซึ่งให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุน สมาร์ทวีซ่า และมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนด้านดิจิทัล โมเดลไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์ นิทรรศการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล อาทิ อินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT) การวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และสัมผัสนวัตกรรมล้ำสมัยจากผู้ประกอบการด้านดิจิทัลชั้นนำของประเทศ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image