รายงานหน้า 2 : จัดหนักซักฟอก‘พ.ร.บ.งบ’ แนะปธ.สภาตีกรอบให้ชัด

หมายเหตุความเห็นนักการเมือง นักวิชาการ เกี่ยวกับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ วาระแรกรับหลักการ ระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคมนี้

วีระกร คำประกอบ
ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)

ในส่วนของฝ่ายรัฐบาลมั่นใจว่าจะมีเสียง ส.ส.โหวตสนับสนุนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มีเสียงแตกแถว ให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณผ่านในขั้นวาระแรกอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันตามธรรมเนียมของฝ่ายค้านก็จะงดออกเสียง

Advertisement

แต่เรื่องกรอบ ระยะเวลา การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณนั้น ทางวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน จะต้องมาคุยเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันอีกครั้งว่าจะใช้เวลาการอภิปรายกี่วัน จากกรอบเดิมที่กำหนดไว้เบื้องต้นคือ ระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคมนี้

ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อมีกลไกของสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแล้ว จะต้องมีการอภิปราย ให้คำแนะนำ ตรวจสอบ การจัดทำงบประมาณ ที่มีความละเอียด รอบคอบ ไม่เหมือนการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณที่ผ่านอย่างรวดเร็ว สมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างแน่นอน

เพราะสภาผู้แทนฯมี ส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้งของประชาชน แต่ละคนมีความรู้ ความชำนาญ ในการตรวจสอบการใช้งบประมาณในด้านต่างๆ จะต้องมี ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลร่วมลงชื่อขออภิปรายนับร้อยคนแน่นอน และเชื่อว่าการอภิปรายจะลากยาวถึง 3 วัน แต่ละวันจะจบไม่ต่ำกว่าเวลา 24.00 น.

Advertisement

เชื่อว่า ส.ส.ที่จะอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจะอภิปรายอยู่ในญัตติ อยู่ในประเด็นการตรวจสอบ ท้วงติง ให้คำแนะนำการจัดทำงานงบประมาณต่อรัฐบาลให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด คงจะไม่ใช่เวทีการซ้อมย่อยการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอย่างที่ ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) มาให้ความเห็นอย่างแน่นอน

ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของประธานสภาและรองประธานสภาในการควบคุมการประชุมให้อยู่ในประเด็นและเนื้อหา และคงจะไม่มีการประท้วงจากฝั่งรัฐบาลหากไม่มีการอภิปรายนอกประเด็นไปพาดพิงบุคคลอื่นให้ได้รับความเสียหาย

ส่วนตัวอยากเสนอให้ประธานสภากำหนดกรอบการอภิปรายให้ชัดเจนตั้งแต่ต้นเลย ว่าจะให้ ส.ส.อภิปรายได้พรรคละกี่คน ในเวลาเท่าใด เพื่อให้แต่ละพรรคไปจัดสรรวางตัวผู้อภิปรายล่วงหน้า ไม่ให้เกิดประเด็นซ้ำซ้อน

เชื่อว่าการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณขั้นรับหลักการในวาระแรกจะไม่มีปัญหา เสียง ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลจะต้องโหวตรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณอย่างแน่นอน ที่น่าจับตา คือ ภายหลังที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ไปพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ คาดว่าจะใช้เวลา 60 วัน ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาในวาระที่ 2 และ 3 คาดว่าที่ประชุมสภาจะถกเถียงกันมากกว่าการพิจารณาในช่วงวาระแรกแน่นอน เพราะจะมีประเด็นของการปรับเพิ่มหรือลดตัวเลขของงบในบางหน่วยงาน

หาก ส.ส.ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยในมาตราใดก็จะขอแปรญัตติและสงวนความเห็นมาขออภิปรายในที่ประชุมสภาเป็นรายมาตรา หรือเป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งคณะ กมธ.จะเป็นผู้ชี้แจง

หากคณะ กมธ.และฝ่ายค้านเห็นไม่ตรงกันในเรื่องใด ก็จำเป็นจะต้องใช้เสียงของประชุมสภาโหวตชี้ขาดในเรื่องนั้นๆ ไป ก่อนที่ลงมติในวาระที่ 3 ว่าจะเห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณผ่านสภาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปหรือไม่

สุทิน คลังแสง
ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.)
และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

บรรยากาศจากการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 ของสภาผู้แทนราษฎร บอกรัฐบาลไว้เลยว่าบรรยากาศจะต่างกันราวฟ้ากับบาดาลกับการพิจารณาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นใช้เวลา 30 นาที ก็ผ่าน

วันนี้ฝ่ายค้านได้เวลามา 3 วัน ยังคิดว่าไม่พอ แต่เมื่อได้มา 3 วัน ผู้อภิปรายไม่น่าจะน้อยกว่า 100 คน และฝ่ายค้านคงไม่ใช่บรรยากาศที่จะมาอวยกันเหมือน สนช.

แต่เป็นบรรยากาศที่เราต้องทำงานให้กับประชาชน เดิมพันด้วยความอยู่รอดของประเทศ ก็ต้องดูว่าการจัดงบประมาณของรัฐบาลตอบโจทย์ประเทศหรือไม่ จะพาประเทศไปได้ ให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้น หรือทำให้ประชาชนลำบาก

นี่คือสิ่งที่เราจะต้องชี้ให้เห็น ทั้งนี้ ที่รัฐบาลชอบขู่ว่าถ้าไม่ผ่านแล้วจะมีการยุบสภา หรือไม่ก็ลาออก พยายามพูดให้เรากลัว แต่เท่าที่ดูๆ คือ ไม่มีใครกลัว เพราะเราคิดว่าจะไม่ยอมปล่อยให้งบประมาณผ่านไปแบบที่ประเทศไม่มีอนาคต แลกกับการที่เราได้เป็น ส.ส. ก็คงไม่มีใครเอา

รัฐบาลควรจัดงบประมาณให้ดี ซึ่งวันนี้เห็นว่าไปเน้นเอาเรื่องความมั่นคงมากกว่าเรื่องปากท้องชาวบ้าน ตรงนี้เป็นเรื่องที่สวนกระแส ย้อนแย้งกับความเป็นจริง วันนี้ชาวบ้านลำบากเรื่องเศรษฐกิจ คงยอมไม่ได้

การแบ่งเวลาคร่าวๆ คือ รัฐบาล 20 ชั่วโมง และฝ่ายค้าน 20 ชั่วโมง ซึ่งในฝ่ายค้าน 7 พรรค หารเวลากันแล้ว พรรค พท.จะได้เวลาประมาณ 65 คน คนละ 7-8 นาที โดยจากการเตรียมตัวที่ดี คิดว่าจะได้เนื้อหาสาระที่ได้คุณภาพ ไม่ขี้เหร่ คิดว่าได้ประโยชน์กับประเทศ

อย่างไรก็ตาม การอภิปรายจากกระจายไปทุกด้าน แต่เรื่องใหญ่จริงๆ คงจะเน้นไปที่เรื่องการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ สำหรับการจัดทัพนั้นเรายังไม่ได้ลงรายละเอียด เราเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความจำนง และแสดงความถนัด

จากวันนี้ก็จะมาจัดกลุ่มกันว่าควรที่จะพูดเรื่องเศรษฐกิจกี่คน การศึกษากี่คน ความมั่นคงกี่คน สิ่งแวดล้อมกี่คน จากนั้นจะให้ทุกคนกลับไปทำการบ้าน แล้วระหว่างวันที่ 14-16 ตุลาคมนี้ จะมาจัดติวกันอีกครั้ง

โดยจะมีทั้งโค้ชเทคนิคและโค้ชเนื้อหา เป็นทั้งผู้ใหญ่ในพรรคและนอกพรรคที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องงบประมาณและการอภิปราย

รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่ามีความล่อแหลม ขึ้นอยู่กับว่ามีคนยกมือให้รัฐบาลเต็มที่ไหม ขณะนี้ก็มากอยู่ คิดว่าชนะแน่ แต่อาจต้องการชนะเยอะกว่านี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามหายุทธศาสตร์ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าคงเอาตัวรอดได้ เพราะมีครบทั้งอาวุธและลูกกระสุนพร้อม ไม่มีอะไรที่จะพลาดได้ อย่างมากก็ถูกตีในรายละเอียด คิดว่าขณะนี้ฝ่ายรัฐบาลคงเตรียมตัวสำรองไว้ ต้องคอยดูต่อไป นี่ก็เหมือนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถ้าน็อกได้ก็น็อกเลย ฝ่ายค้านอาจจะมีทีเด็ดก็ได้

สำหรับงูเห่านั้น ถือว่าสำคัญ การที่ไม่ออกเสียง อาจทำให้รัฐบาลแพ้ได้ แต่มองดูแล้วงูเห่าฟากรัฐบาลไม่น่าจะมี ถ้ามีคงเป็นงูเห่าฝั่งฝ่ายค้านมากกว่า เพราะการควบคุม ส.ส.ต้องมีน้ำเลี้ยง ถ้าไม่ได้รัฐบาล ไม่มีเงินถุงเงินถังมาก็ลำบาก

โดยอุดมการณ์ทางการเมืองที่นักการเมืองไทยมี ถือว่าไว้ใจไม่ได้ จากประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้น วิสัยทัศน์ของนักการเมืองไทยมองเรื่องเงินเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น ไว้ใจไม่ได้

กรณีนายวิษณุ เครืองาม ระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้รัฐมนตรีที่ยังคงสถานะ ส.ส. ร่วมโหวตร่างพระราชบัญญัติงบประมาณได้เพราะเป็นเรื่องส่วนรวมนั้น เราไม่ได้ Separation of power (แบ่งแยกอำนาจ) ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 2511 มีการห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี

ส่วนตัวยังนึกในใจว่าไปๆ มาๆ เผลอๆ ประธานสภาอาจร่วมโหวตเข้าข้างด้วย เพราะถ้าแย่จริงๆ ต้องโหวต เนื่องจากไม่ได้มีข้อห้าม แต่โดยมารยาทแล้วประธานและรองประธานจะงดออกเสียง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเอาอะไรแน่นอนไม่ได้ ไม่มีเรื่องมารยาททางการเมือง ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์รุมล้อมแค่ไหน

นี่คือเกมการเมืองที่น่าจับตาดู แต่ไม่มีสัญญาณว่ารัฐบาลจะแพ้ ไม่มีสัญญาณอื่นเลย

ชำนาญ จันทร์เรือง
รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) อดีตนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

เชื่อว่าสถานการณ์คงไม่วุ่นวาย เพราะเป็นวิถีทางของระบบรัฐสภา การอภิปรายแน่นอนอยู่แล้วว่าจะต้องดูความเหมาะสมของงบประมาณ ดูรายละเอียด วิธีการ การตั้งงบประมาณ ว่ามีเจตนาอะไร และดูด้วยว่าเงินทองที่ประมาณการรายรับรายจ่ายมาจากไหน เมกเอาหรือไม่ ซึ่งก็ไม่น่าจะยุ่งอะไร เป็นวิถีปกติ อีกทั้งเดี๋ยวนี้สภาพของสภาดีขึ้นกว่าเดิมมาก ส.ส.อภิปรายกันเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น ไม่ประท้วงพร่ำเพรื่อเหมือนสมัยก่อน

อย่างพรรคอนาคตใหม่ เวลาเรามีการอภิปรายจะเริ่มต้นด้วยการเกริ่น เนื้อหา และมีสรุปเพื่อให้สอดรับกัน คิวใครก็พูดไปตามคิว สุดท้ายไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างพูด พรรคอนาคตใหม่ไม่ทำอย่างนั้น แต่จะมีการคุยและแบ่งกันก่อนว่าใครถนัดเรื่องอะไร ของตนก็อาจจะเป็นเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใครถนัดเรื่องไหนก็เอามาดูรายละเอียด วิเคราะห์ และเปรียบเทียบเทรนด์เรื่องนั้นๆ ดูว่าวิธีการตั้งงบประมาณมีอะไรแอบแฝงหรือไม่ มีอะไรผิดปกติไหม หรือเป็นลักษณะของการตั้งไปเรื่อย เพราะสมัยก่อนมีกรณีเปลี่ยนแค่ปก แต่ข้างในเหมือนเดิม

ส่วนจะผ่านฉลุยหรือหืดขึ้นคอ ส่วนตัวมองว่าหืดขึ้นคออย่างแน่นอน เพราะ พ.ร.บ.งบประมาณเป็นกฎหมายสำคัญโดยวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย ถ้ากฎหมายสำคัญไม่ผ่านก็แสดงว่ารัฐสภาไม่เห็นชอบ ซึ่งรัฐสภาเป็นตัวแทนของประชาชน ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งก็ตาม สะท้อนว่ารัฐสภาไม่มีความไว้วางใจให้รัฐบาลทำหน้าที่ต่อไป

ดังนั้น รัฐบาลจึงมีทางออกอยู่ 2 ทาง คือ ถ้าไม่ลาออกก็ต้องยุบสภา แต่เดี๋ยวนี้มีคนแหลมเข้ามาว่าก็อาจจะมีการทำรัฐประหาร ซึ่งส่วนตัวก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะเราเพิ่งทำรัฐประหารไปหยกๆ หากทำอีกบ้านเมืองก็เรียบร้อย พังทลายกันพอดี

ส่วนจะมีงูเห่าหรือไม่นั้น โดยธรรมชาติวิสัย ตอนรับหลักการก็คงไม่มีปัญหาเรื่องงูเห่า แต่จะมีตอนวาระที่ 2 เรื่องอภิปรายเรียงมาตรา และลงรายละเอียด อย่าลืมว่างูเห่ามีทั้ง 2 ฝั่ง ค้านมารัฐบาล รัฐบาลก็อาจจะมาค้านก็ได้ไม่มีใครรู้ ซึ่งเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณ ขณะนี้พรรคอนาคตใหม่ยังไม่ถูกทาบทามซื้องูเห่า แต่สมัยก่อนตอนอภิปรายโหวตนายกฯ ก็มีข่าวคราว ซึ่งพวกเรายืนยันว่ามีการทาบทามจริงแต่เราไม่ได้ตกไปในวังวนนั้น การพยายามที่จะซื้องูเห่ามีอยู่ตลอดเวลาและเชื่อว่ามีทั้ง 2 ฝ่าย เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่มี เพราะเพิ่งได้รับร่างงบประมาณมาเพียง 2 วันเท่านั้น

ครั้งนี้รัฐมนตรีที่ยังคงสถานะ ส.ส.จะมีสิทธิร่วมโหวตด้วย เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 163 ให้อำนาจไว้ ส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีจึงสามารถใช้สิทธิตามหน้าที่ของการเป็น ส.ส.ได้ ถ้าไม่ได้ก็เสร็จ เพราะเสียงจะปริ่มน้ำทันที เป็นวิธีการธรรมดาขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ

ถ้าหากรัฐธรรมนูญไม่ให้รัฐมนตรีเป็น ส.ส. ก็โหวตไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นได้จึงต้องใช้สิทธิในการโหวต ส่วนตัวไม่ได้ติดใจเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำหลังจากนี้จะต้องประสบปัญหาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นความพิกลพิการ พิสดารของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ออกแบบมาเพื่อให้เป็นอย่างนี้

นี่คือผลลัพธ์ที่ออกมา ไม่ว่าจะโดยวิธีการไหน อย่างไรก็จะออกมาเช่นนี้ เลือกตั้งกี่ครั้งก็จะออกมาเช่นนี้ เราจึงรณรงค์เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image