‘ซีส์’ มธ. ชี้ ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก เชื่อจีนไม่ทน ‘ม็อบฮ่องกง’ หากเล็งปมแบ่งแยกดินแดน

‘ซีส์’ มธ. ชี้ ศึกนี้ใหญ่หลวงนัก เชื่อจีนไม่ทน ‘ม็อบฮ่องกง’ หากเล็งปมแบ่งแยกดินแดน

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ โครงการเอเชียคะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมจัดเสวนาหัวข้อ ‘เกิดอะไรในฮ่องกง : วิเคราะห์การประท้วง กับผลกระทบในจีน / อุษาคเนย์’ ดำเนินรายการโดย นภิศา วิสุทธิพันธุ์

ศาสตราจารย์ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนเคยไปสังเกตการณ์ประท้วงในฮ่องกงใน พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นการชุมนุมของกลุ่ม ‘ร่มเหลือง’ ได้อยู่ในเหตุการณ์เดินขบวนวันที่ 1 กรกฎาคม ส่วนตัวคิดว่าแปลกดีและสนุกมาก อย่างไรก็ตามมีการตีความในตอนนั้นว่าการประท้วงในฮ่องกง ‘เฉาแล้ว’ แต่ปรากฏว่าในวันนี้สถานการณ์เปลี่ยน ฮ่องกงอยู่ไกล แต่เกี่ยวพันกับบ้านเรา หากใช้วิชาประวัติศาสตร์มาจับ จะพบว่าเกี่ยวพันกันอย่างมากมายมหาศาล อะไรที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ก็กระทบกับไทย อะไรเกิดขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐก็กระทบเมืองไทย มองไปเหมือนกับว่าข้างหนึ่งก็เสือ ข้างหนึ่งก็จระเข้ สงครามแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือสงครามการค้า

“ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนผมเกิด เราถูกประกบด้วยจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น ปะทะจักรวรดินิยมฝรั่ง ย้อนไปไกลกว่านั้นคือรุ่นพ่อแม่ปู่ตาย่ายาย สยามก็ถูกประกบด้วยเจ้าอาณานิคมอังกฤษกับฝรั่งเศส ตอนนี้สถานการที่กำลังเจอจะกระทบอะไรกับเรา นี่คือประเด็นสำคัญในการใช้ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์มอง” ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์กล่าว

ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์กล่าวว่า สำหรับข้อกล่าวหาแบ่งแยกดินแดนระหว่างจีนกับฮ่องกงนั้นถือว่าไม่เกินความจริง และศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือความขัดแย้งระหว่างยักษ์ใหญ่ 2 ตนคือจีนกับสหรัฐ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าไม่ได้เป็นเพียงประเด็นความขัดแย้งระหว่างจีนกับฮ่องกง แต่เป็นจีนกับสหราชอาณาจักรด้วย เพราะเป็นเจ้าของบารมีเก่า ส่วนคำถามที่ว่าจีนจะใช้ความรุนแรงในการปราบปรามหรือไม่ ตนไม่สามารถฟันธงได้

Advertisement

ผศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การปะทะกันครั้งนี้และหลายๆครั้ง มีลักษณะพิเศษ มีการลุกฮือที่เกิดจากการเป็นรัฐกึ่งอาณานิคม กึ่งประชาธิปไตย กล่าวคือ ฮ่องกงเคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ แล้วค่อยมาสู่การปกครองแบบ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ จีนเป็นสังคมนิยม ในขณะที่ฮ่องกงมีอำนาจบริหารตัวเองสูงมาก เว้นแต่การทหาร ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป คนฮ่องกงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอำนาจอิสระที่แท้จริง จีนเข้าทาบทับ แทนกแซงด้านต่างๆ นายทุนจีนก็สร้างกลุ่มผลประโยชน์ การเลือกตั้งผู้ว่าการเกาะฮ่องกง ต้องได้รับการอนุมัติจากจีน ทำให้เหมือนถูกครอบงำ เป็นเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย สำหรับการที่ฮ่องกงมักถูกเปรียบเทียบกับสิงคโปร์นั้น จริงๆแล้วสิงคโปร์เป็นรัฐอิสระ เป็นรัฐอธิปไตย แต่ฮ่องกงไม่ใช่ เพราะอยู่ใต้ปักกิ่ง

ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้ถามว่าจะจบอย่างไร เป็นคำถามที่ยากจะตอบ นักวิชาการบางคนพูดถึงกองทัพหน่วยรบพิเศษว่าจะเข้าแทรกแซงหรือไม่ ก็ตอบยาก อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงระบุว่า ไม่ปฏิเสธการช่วยเหลือจากจีนแผ่นดินใหญ่ การใช้กองทัพปลดแอก เป็นตัวเลือกที่ไม่ได้ถูกตัดออก

“รัฐบาลฮ่องกงบอกว่า ไม่ต่อต้านการประท้วง แต่ต่อต้านความรุนแรง ทนได้กับการเรียกร้องประชาธิปไตย แต่จะไม่ทนกับการแบ่งแยกดินแดน ถามว่า เทียนอันเหมินจะเกิดอีกรอบไหม สิ่งที่น่าคิด คือตอนนั้นจีนยังไม่มีนวัตกรรมการปราบประชาชน แต่ตอนนี้จีนมีหน่วยรบที่ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนรถถังมหาศาลมาปราบ แต่เป็นลักษณะกองทหารกึ่งตำรวจ การส่งกองทัพมหาศาลเข้ามาคงเป็นไปได้ยาก ถ้าส่งมาอาจเป็นหน่วยพิเศษมากกว่า” ผศ.ดร.ดุลยภาคกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image