สถานีคิดเลขที่12 : งบผ่าน-สอบไม่ผ่าน : โดย จำลอง ดอกปิก

รัฐบาลมั่นใจ สภาผู้แทนราษฎร จะมีมติเห็นชอบ ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2563

แม้เสียงปริ่มน้ำ แต่ไม่มีปัญหาแน่นอน

ไม่เพียงแต่รัฐบาลเท่านั้น ฝ่ายต่างๆ ก็คาดการณ์เช่นกันว่า ร่าง พ.ร.บ.สำคัญจะผ่านการพิจารณาของสภาอย่างไม่ยากเย็น

ทั้งนี้เนื่องจาก ฝ่ายรัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุด

Advertisement

ระดม ส.ส.มาร่วมโหวต

ฉะนั้น ไม่ว่าดูจากเหลี่ยมมุมไหน

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ไม่มีปัญหา

แต่ที่เป็นปัญหา และน่าห่วงมากกว่า ก็ไส้ในงบประมาณ

งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีวงเงินรวม 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีงบประมาณ’62 จำนวน 2 แสนล้านบาท

ในจำนวนนี้ เป็นรายจ่ายประจำ 2,392,317.9 ล้านบาท ชดใช้เงินคงคลัง 62,709.5 ล้านบาท ชำระคืนต้นเงินกู้ 89,170.4 ล้านบาท

รายจ่ายลงทุนหรือเงินลงทุน 655,802.2 ล้านบาท

ในจำนวนรายจ่ายทั้งหมดนี้ งบลงทุนเพิ่มขึ้น ต่ำสุด 1% เทียบกับรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้น 5.3%

ชดใช้เงินคงคลัง เพิ่มร้อยละ 100 และชำระคืนต้นเงินกู้ เพิ่ม 14%

งบลงทุน เป็นความหวังเดียว ในการสูบฉีดเลือดลมเศรษฐกิจ ในยามขาลง เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศติดขัด ส่งออกที่พึ่งพิงรายได้หลัก คิดเป็น 70% อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ “ติดลบ”

หัวเชื้อที่เหลือ มีเพียงรายได้จากการท่องเที่ยว

กับความหวัง การใช้จ่ายในประเทศ การลงทุน

แต่ตัวที่เหลืออยู่นี้ก็มีน้ำหนักเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น แรงส่งทางเศรษฐกิจไม่มากพอ ชดเชยส่งออก 70%

อย่างไรก็ตามในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเล็กอย่างไทย รัฐบาลคงทำได้เพียงประคับประคองเท่านั้น

แต่คำถามมีอยู่ว่า เงินลงทุน 655,802.2 ล้านบาท เมื่อเทียบกับขนาดของปัญหา จะพอพยุง มิให้เสื่อมทรุดกว่าที่ควรจะเป็นได้หรือไม่

เงินลงทุน หรือการตั้งงบประมาณลงทุนนั้น เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกต้อง ตรงจุดที่สุด ตามหลักเศรษฐศาสตร์

เนื่องจากการลงทุนต่างๆ ของรัฐ ก่อสร้าง ถนนหนทาง สนามบิน ทางรถไฟ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นั้น แม้ไม่มีกำไร แต่สร้างงาน กระจายเงินได้มาก

แต่เงินลงทุน 655,802.2 ล้านบาท เมื่อเทียบกับขนาดปัญหาเศรษฐกิจ ที่สำนักต่างๆ ทั้งภายนอก ภายใน คาดการณ์ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย เผชิญปัญหาใหญ่

กลับน้อยนิด

ทั้งที่ เวิลด์แบงก์ ปรับลดคาดการณ์เติบโตจากเดิม 3.5% เหลือแค่ 2.7% ไอเอ็มเอฟ แถลงข้อมูลเขย่าขวัญ เศรษฐกิจโลกในปีนี้ว่าจะเกิดการชะลอตัวในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของประเทศทั้งหมด ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากความขัดแย้งด้านการค้า, ความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์และกรณีเบร็กซิท สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนทำให้การค้าโลกแทบหยุดนิ่งแล้วในขณะนี้

รัฐบาลมีข้อจำกัดในการจัดทำงบประมาณ เนื่องจากรายได้สุทธิมีเพียง 2,731,100 ล้านบาท ไม่พอรายจ่าย วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาทนี้ ต้องกู้มาชดเชยการขาดดุล 469,000 ล้านบาท

แต่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ รัฐบาลก็ต้องบริหารจัดการงบให้ดี

สอดคล้องกับการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา

รัฐบาลบรรจุเรื่องเศรษฐกิจเป็นนโยบายเร่งอันดับแรก แต่การจัดงบดูเหมือนไม่ให้ความสำคัญสูงสุด

งบด้านความมั่นคงยังอยู่ในวงเงินที่สูง ทั้งที่ น่าจะปรับลด นำมาโปะเพิ่มด้านการลงทุน ประคองเศรษฐกิจปากท้อง บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนมากกว่า

ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงอีกเรื่องก็คือ ที่งบปีนี้ เป็นไปในลักษณะเกาไม่ถูกที่คัน อาจเป็นเพราะไม่ได้มาจากฝ่ายการเมืองที่ยึดโยง มุ่งสนองตอบต่อประชาชนโดยตรงเป็นหลัก

แต่มาจากรัฐราชการ

สืบทอดจากกรอบรัฐบาลบิ๊กตู่ 1 โดยรัฐบาลบิ๊กตู่เฟส 2 นำกลับมายืนยัน และปรับแต่งเป็นบางส่วน

จึงล่าช้า-ล้าหลัง ตามไม่ทันปัญหาปัจจุบัน อ่านอนาคตไม่ออก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image