‘วิษณุ’ แจกลายเซ็น ‘ลงเรือแป๊ะ’ บอกใครไม่ชอบรัฐบาลต้องอ่าน เจอ ‘ปิยบุตร’ มอบ ‘การเมืองแห่งความหวัง’ แชะรูปคู่ชื่นมื่น (คลิป)

“วิษณุ” แจกลายเซ็น เจอ​ “ปิยบุตร” นำ​ “การเมืองแห่งความหวัง” มาให้​ เจ้าตัวแนะ​ คนไม่ชอบรัฐบาลควรอ่าน​ “ลงเรือแป๊ะ” เผื่อจะเข้าใจ-ชอบขึ้นมาบ้าง​ ระบุ​ บางอย่างเป็นฝ่ายค้าน-คนกลางๆ​ ไม่มีวันรู้​ ต้องมาเป็นรัฐบาล​

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม​ ที่เมืองทองธานี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมมหกรรมหนังสือระดับชาติ​ครั้งที่ 24 เพื่อแจกลายเซ็นในหนังสือ “ลงเรือแป๊ะ” ที่บูธ มติชน โดยได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก​ โดยหนังสือ​ “ลงเรือแป๊ะ” เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม​ ในมหกรรมหนังสือนี้ และในวันเดียวกันนี้​ หนังสือถูกจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า​ ในช่วงเวลาเดียวกัน​ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ได้มาแจกลายเซ็นใน หนังสือ​ “ดวงใจในทรงจำ จดหมายเหตุภาคประชาชน เนื่องในพระราชพิธีบรม​ราชาภิเษก​ 2562” รวมถึงนายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่(อนค.)​ ก็ได้แจกลายเซ็นในหนังสือ “การเมืองแห่งความหวัง” ที่บูธมติชนด้วยเช่นกัน โดยระหว่างแจกลายเซ็น​นายปิยบุตรได้เข้ามาสวัสดีและนำหนังสือที่ตนเองเขียนมามอบให้นายวิษณุ ขณะเดียวกันนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม​ ตัวแทนกลุ่มรัฐธรรมนูญ​ก้าวหน้า ก็ได้เข้ามาสวัสดี พร้อมมอบหนังสือ ก่อนที่ทั้ง 3 คนจะถ่ายภาพร่วมกัน

นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ผ่านมา​ ตนเขียนหนังสือเยอะ หลายประเภท จำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง แต่ต้องขอบคุณประชาชนที่มาเที่ยวมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 24 นี้ ถือว่าเป็นงานที่ทำให้ผู้พิมพ์ยังสามารถอยู่ได้ และผู้อ่านก็สามารถเลือกซื้อหนังสือที่มีประโยชน์ หนังสือบางอย่างที่ไม่คิดว่ามีอยู่ก็สามารถหาเจอได้ที่งานนี้ สำหรับหนังสือ​ “ลงเรือแป๊ะ” ตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ส่วนจะมีตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 หรือไม่​ ตนไม่ทราบ เพราะเรื่องนี้ทางสำนักพิมพ์มติชนเป็นผู้จัดการให้ ส่วนเรื่องรายได้จากการขายหนังสือ​ จะมอบให้กับมูลนิธิต่างๆ ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมอบให้มูลนิธิใด ทั้งนี้​ คนที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะตอนที่เขียนตนก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เนื้อหาในหนังสือก็บอกว่าลงเรือแป๊ะ คนรุ่นใหม่อาจจะยังไม่เข้าใจ แต่ชื่อก็บอกแล้วว่าลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ เป็นคำสุภาษิตที่ใช้มาตั้งแต่โบราณ มีความหมายคล้ายกับเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม เพื่อต้องการจะบอกว่าที่อยู่กันมา 5 ปี ผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้าง แล้วได้ตามใจแป๊ะหรือไม่ จริงๆ ตอนแรก​ตนคิดว่าคงอยู่ร่วมกับรัฐบาลเพียง 5 ปี​แล้วออกไปเขียนหนังสือต่อ แต่เมื่อยังต้องอยู่ต่อก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งในรัฐบาลหนึ่ง ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อหรือไม่

Advertisement

“คนที่ไม่ชื่นชอบรัฐบาลควรจะต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะเมื่อชื่นชอบ ไม่มีใครมาเขียนก็ไม่ได้อยากจะรับรู้อะไรแล้ว แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบ​ อ่านแล้วอาจจะเจอประเด็นที่ ‘ว่าแล้ว’​ หรือมิเช่นนั้นอาจจะรู้สึกชอบขึ้นมาบ้างก็ได้ ต้องเข้าใจและเห็นใจคนที่เป็นรัฐบาล ผมพูดได้เพราะอยู่กับรัฐบาลในหลายชุด บางชุดเป็นรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบ บางชุดเป็นรัฐบาลที่ประชาชนไม่ชื่นชอบ แต่ต้องการให้เข้าใจว่าคนที่ตกที่นั่งเป็นรัฐบาลแล้วนั้น บางครั้งเขาต้องทำอะไรในสิ่งที่ประชาชนอาจจะไม่เข้าใจ แต่เขาจำเป็นต้องทำ หรือบางครั้งเขาไม่ทำในสิ่งที่เราอยากจะเห็นเขาทำ แต่เขาก็มีเหตุผลที่เขาไม่อาจจะทำได้ มาเป็นรัฐบาลแล้วถึงจะรู้ ถ้าไม่เป็นรัฐบาล เป็นแค่ฝ่ายค้าน เป็นแค่ฝ่ายกลางๆ หรือเป็นแค่คนที่ไม่ได้อยู่ในรัฐบาล หรือไม่ได้ตกที่นั่งอย่างนั้น ก็ทำใจอย่างนี้ซะก่อน ก็อ่านไปเถอะ จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับรัฐบาลใดก็อ่านไป ผมว่ามันคงจะมีอะไรที่เป็นความรู้ทั้งสิ้น” นายวิษณุกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image