ปลุกผีคอมมิวนิสต์! ย้อนอดีตจาก 2516 สู่ 2519 ถึงปัจจุบัน : สุรชาติ บำรุงสุข

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เวียนมาสู่วาระครบรอบอีกครั้งในปี 2562… เหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านมาแล้ว 46 ปี เท่ากับที่เหตุการณ์ 6 ตุลา ผ่านเลยมา 43 ปีแล้ว แต่เสียงเรียกร้องหาประชาธิปไตยยังคงกึกก้องในสังคมไทยไม่ต่างจากวันนั้น ขณะเดียวกันการสร้างกระแสขวาจัดด้วยการ “ปลุกผีคอมมิวนิสต์” ยังคงมีอยู่ในสังคมไทยไม่ต่างจากวันนั้นเช่นกัน… ไม่น่าเชื่อว่า ผู้นำทหารยุคปัจจุบันพูดเรื่อง “คอมมิวนิสต์” ในการเมืองไทยในศตวรรษที่ 21 ราวกับสังคมไทยยังอยู่ในสงครามเย็น

การเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในช่วงทศวรรษของปี พศ. 2510 นั้น เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของชีวิตทางการเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหารมาอย่างยาวนาน ยาวนานจนผู้คนหลายส่วนเริ่มรู้สึกถึงความไม่ชอบธรรมของระบอบทหาร และขณะเดียวกันการขยายตัวของกระแสเสรีนิยมในเวทีโลกเริ่มไหลบ่าเข้ามาสู่สังคมไทย จนอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตในเบื้องต้นได้ว่า ขบวนปัญญาชนและคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตในสังคมไทยในขณะนั้น ไม่ยอมรับการปกครองของระบอบทหาร ที่มีการสืบทอดอำนาจในหมู่ผู้นำกองทัพตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในอีกด้านก็ไม่มีประเด็นอะไรจะตอบโต้การเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาได้ดีเท่ากับเรื่อง “คอมมิวนิสต์”

การใส่ร้ายป้ายสีในแบบ “ปลุกผีคอมมิวนิสต์” จึงเป็นหนึ่งในบทเรียนสำคัญของเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย

ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์!

การกำเนิดของสงครามเย็นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เป็นการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก มีนัยสำคัญต่อการเกิดของ “ระบอบทหาร” (military regimes) ในการเมืองของประเทศโลกที่สาม และในบริบทของไทยแล้ว ปัจจัยนี้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐมหาอำนาจตะวันตกหันมาสนับสนุนทหารไทยในทางการเมืองด้วยภารกิจหลักที่สำคัญประการเดียวคือ จัดตั้งรัฐบาลทหารเพื่อทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์… มหาอำนาจตะวันตกเชื่อว่า รัฐบาลทหารเป็นพลังที่เข้มแข็งในการหยุดยั้งการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศโลกที่สาม ซึ่งรวมทั้งในประเทศไทยด้วย และรัฐบาลพลเรือนถูกมองว่าอ่อนแอเกินไปในการรับมือกับภัยดังกล่าว

Advertisement

ความเชื่อยุคสงครามเย็นเช่นนี้ สอดรับกับอุดมการณ์ของชนชั้นนำและผู้นำปีกอนุรักษ์นิยมไทย ที่มองคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามหลัก การสอดรับของ “ความกลัวคอมมิวนิสต์” ระหว่างรัฐมหาอำนาจภายนอกกับกลุ่มอำนาจในสังคมไทย ส่งผลให้การเมืองไทยกลายเป็น “การเมืองของทหาร” และแรงสนับสนุนจากปัจจัยภายนอกของรัฐมหาอำนาจกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมต่อการคงอยู่ของรัฐบาลทหารนับตั้งแต่รัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา

จากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สู่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนถึงจอมพลถนอม กิตติขจร ล้วนมีข้ออ้างเพื่อการต่อสู้กับสงครามคอมมิวนิสต์เป็นพื้นฐานอยู่ในนโยบายของทุกรัฐบาล อีกทั้งแทบจะกลายเป็นสูตรสำเร็จทางการเมืองทุกครั้งว่า รัฐประหารจากปี 2490 เป็นต้นมา จะต้องหยิบเอาประเด็นเรื่องคอมมิวนิสต์มาใช้เป็นข้ออ้าง และทั้งยังใช้เป็นข้ออ้างในการทำลายฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมาโดยตลอดอีกด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า การใช้คอมมิวนิสต์เป็นข้ออ้างทางการเมืองเป็นเรื่องที่รัฐบาลทหารใช้มาโดยตลอด และเป็นข้ออ้างที่ผู้นำทหารขวาจัดชอบใช้เป็นประเด็นทางการเมืองอยู่เสมอด้วย

Advertisement

นอกจากนี้ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ก็มีการใช้ข้ออ้างเรื่องคอมมิวนิสต์มาเป็นประเด็นเช่นกันด้วย จะแตกต่างกันตรงที่ 14 ตุลาคม ข้ออ้างเรื่องคอมมิวนิสต์ใช้ในการจับกุมนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ในวันที่ 6 ตุลาคม ข้ออ้างนี้ใช้ในการสังหารหมู่นักศึกษา หรือแม้ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็มีการนำเอาประเด็นคอมมิวนิสต์มาป้ายสีเช่นกัน

วาทกรรมผีคอมมิวนิสต์!

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เห็นได้ชัดว่าปัจจัยคอมมิวนิสต์กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมสำหรับการแทรกแซงของทหารในการเมืองไทย และขณะเดียวกันก็ยังใช้เป็นข้ออ้างในการกวาดล้างจับกุมผู้เห็นต่างในทางการเมือง การกระทำเช่นนี้จะเกิดผลจริงได้ต้องอาศัยกลไกของการโฆษณาชวนเชื่อ ที่สำหรับยุคสงครามเย็นแล้ว เครื่องมือนี้ถูกเรียกว่า “ปฎิบัติการจิตวิทยา” (PSYOP) ที่ดำเนินการในรูปแบบต่างๆ เพื่อโน้มน้าวจิตใจของประชาชนให้คล้อยตามไปกับการนำเสนอ “อุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์” ของรัฐทหารในรูปแบบต่างๆ การกระทำในลักษณะเช่นนี้ต้องสร้างภาพด้านลบอย่างสุดโต่งจนเป็นดังการ “ปลุกผีคอมมิวนิสต์”

ปฎิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) ในการปลุกผีเช่นนี้ ก็เพื่อสร้างให้เกิด “ความกลัวและเกลียดชัง” ลัทธิคอมมิวนิสต์ในหมู่ประชาชน และผลที่เกิดขึ้นจะทำให้ประชาชนหันมาสนับสนุนฝ่ายทหาร (หรือในความหมายทางการเมืองคือ ทำให้ประชาชนมาเป็นฝ่ายเดียวกับทหาร) งาน ปจว. จึงเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกองทัพในยุคสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ในอีกด้านหนึ่ง ก็เห็นได้ถึงการที่กองทัพสหรัฐดำเนินภารกิจนี้อย่างมากในสงครามเวียดนาม เพื่อดึงประชาชนให้มาอยู่กับรัฐบาลเวียดนามใต้

การดำเนินงาน ปจว. ด้วยการปลุกผีคอมมิวนิสต์นั้น เป็นเพราะในยุคสงครามเย็น รัฐและกองทัพไทยต้องต่อสู้ในสงครามที่มีลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคาม จนในที่สุดสงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลงในสังคมไทยในปี 2525-26 และสงครามเย็นจบลงในเวทีโลกที่มีสัญญลักษณ์จากการประกาศรวมชาติของเยอรมนีและการทุบกำแพงเบอร์ลินในเดือนพฤศจิกายน 2532… โลกของสงครามเย็นและยุคสงครามคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลงหมดแล้ว และไม่มีภัยคุกคามของลัทธินี้เหลือเป็นปัญหาความมั่นคงทั้งในเวทีโลกและเวทีไทยอีกต่อไป

ฉะนั้นโจทย์ความมั่นคงในโลกร่วมสมัยจึงไม่ใช่ประเด็นปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์อีกแล้ว และที่สำคัญรัฐบาลไทยในปัจจุบันเองมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ในด้านต่างๆ และในบางกรณีความสัมพันธ์นี้อยู่ใน “ระดับพิเศษ” ตลอดรวมถึงความสัมพันธ์ทางทหารของสองฝ่ายก็อยู่ในระดับดีมาก จนถึงขั้นมีการซื้อยุทโธปกรณ์จากจีนเข้ามาใช้ในกองทัพไทย เป็นต้น ภาพสะท้อนเช่นนี้บอกกับเราอย่างชัดเจนว่า สำหรับผู้นำไทยแล้ว ปัญหาคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ภัยคุกคามเช่นในยุคสงครามเย็นอีกต่อไปแล้ว

บทเรียน 2516-2519

จากเหตุการณ์ 2516 ถึง 2519 เห็นได้ชัดถึงการโหมโฆษณาชวนเชื่อในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ การสร้างความกลัวคอมมิวนิสต์ถูกขยายไปสู่ส่วนต่างๆในสังคมไทย แน่นอนว่า การขับเคลื่อน “อุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์” อย่างสุดโต่ง ทำให้สังคมเกิดความแตกแยกอย่างมาก อันนำไปสู่การเกิด “ขั้วทางการเมือง” (political polarization) และก่อให้เกิดความสุดขั้วทางความคิด จนสุดท้ายแล้วการขับเคลื่อนเช่นนี้จบลงด้วยการล้อมปราบและการสังหารหมู่ในในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

แม้สงครามคอมมิวนิสต์ที่เป็นแกนกลางของยุคสงครามเย็นจะสิ้นสุดไปนานแล้วกับความเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลก แต่ก็น่าสนใจว่าผู้นำทหารไทยและอาจรวมถึงบรรดากลุ่มการเมืองปีกขวาจัดดูจะยังอยู่ในโลกเก่าของสงครามเย็น ที่พวกเขายังมองว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามหลักที่ประเทศกำลังเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังเชื่อว่า ฝ่ายที่เห็นต่างนั้น มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นเครื่องชี้นำ ทั้งที่รัฐบาลทหารหลังรัฐประหาร 2557 นั้น มีทิศทางที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์เป็นอย่างยิ่ง

การล้อมปราบและการสังหารหมู่ในในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

หากมองจากภูมิทัศน์ของการเมืองโลกปัจจุบันแล้ว ทั้งนักคิดและนักปฎิบัติมีความเห็นร่วมกันอย่างชัดเจนว่า ยุคของสงครามคอมมิวนิสต์จบและสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์แล้ว โลกกำลังเผชิญกับภัยชุดใหม่ที่ไม่ใช่เรื่องการคุกคามของคอมมิวนิสต์… อุดมการณ์คอมมิวนิสต์หมดพลังทางอุดมการณ์ไปนานแล้ว และไม่สามารถขับเคลื่อนการต่อสู้ทางการเมืองทั้งในโลกและในไทยไม่แตกต่างกัน ดังนั้น การ “ปลุกผีคอมมิวนิสต์” ในยุคปัจจุบัน อาจจะไม่ช่วยโน้มน้าวผู้คนให้มาสนับสนุนระบอบทหารได้มากเช่นในอดีต

แต่ผู้นำทหารไทยยังคงติด “กับดักความคิด” ของสงครามเย็น ที่มองคอมมิวนิสต์เป็นภัยหลัก จนไม่น่าเชื่อว่าในวาระครบรอบ 46 ปีของเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 43 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลา เราเห็นผู้นำทหารหยิบยกเอาประเด็นคอมมิวนิสต์ขึ้นมานำเสนอในเวทีสาธารณะ ซึ่งไม่น่าจะสอดรับกับความเป็นจริงของโลกความมั่นคงร่วมสมัย อันทำให้การเปิดประเด็นเช่นนี้อาจถูกมองว่าเป็นการ “ปลุกผีคอมมิวนิสต์” ที่พาการเมืองไทยย้อนกลับสู่ยุคสงครามเย็น หรือถูกมองเป็นการย้อนยุค “เหตุการณ์เดือนตุลาคม” อีกครั้ง (เช่นในตอนต้นปี 2562 ผู้นำทหารได้นำเสนอ “วาทกรรมหนักแผ่นดิน” มาแล้ว) ทั้งที่โลกของการเมืองไทยไม่มีประเด็นนี้ให้ต้องกลัวกันอีกแล้ว และการนำเสนอเรื่องคอมมิวนิสต์ก็ไม่น่าจะเป็นประเด็นที่สังคมจะคล้อยตามมากเช่นในอดีต
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ว่าเวลาของสังคมไทยจะผ่านไปจากยุคสงครามเย็น สู่ยุคหลังสงครามเย็น จนถึงยุคปัจจุบัน กองทัพยังคงมีบทบาททางการเมือง และไม่มีแนวโน้มที่จะถอยออกจากการเมืองแต่อย่างใด น่าสนใจว่าการมีบทบาทเช่นนี้ยังคงมีเรื่องคอมมิวนิสต์เป็นประเด็นรองรับเช่นเดิม!

การบรรยายของ ผู้บัญชาการทหารบก ช่วงหนึ่ง กล่าวถึงแนวคิดคอมมิวนิสต์ ที่ยังคงอยู่กับคนยุคปัจจุบัน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image