เดินหน้าชน : พายเรือในอ่าง : สุพัด ทีปะลา

ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ก่อตั้งมา 127 ปี จะมีการปรับรื้อโครงสร้างใหม่กันอีกรอบ

เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในวันที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล ศธ. มาประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหาร ศธ. ว่า ศธ.จำเป็นที่จะต้องปรับรื้อโครงสร้างใหม่

โดยมี 2 ประเด็นหลักที่จำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างตามที่นายณัฏฐพลระบุ

ประเด็นแรก การจะยกระดับการศึกษานั้นยังไม่พอหาก ศธ.ไม่แก้ระบบและโครงสร้าง ต้องยอมรับว่าระบบหรือโครงสร้าง ไม่ว่าการบริหารงานบุคคล โดยเฉพาะครูมีปัญหา ระบบที่เป็นอยู่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมด เช่น การเข้าสู่ตำแหน่งหรือการเลื่อนตำแหน่งของครูและผู้บริหาร เป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นกับครู ระบบทำให้จิตวิญญาณครูหายไป

Advertisement

ประเด็นที่สอง การที่ ศธ.มีองค์กรหลักหลายแท่ง และมีอิสระ ทำให้การทำงานไม่เชื่อมต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นตัวอย่างที่กระทรวงอื่นไม่ควรทำ ฉะนั้นต้องกลับมาพิจารณาใหม่ ถอดบทเรียน

ในการพิจารณาเรื่องโครงสร้างของ ศธ.นั้นจะเน้นความเป็นเอกภาพ เบื้องต้นจะไม่กระทบผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบัน ส่วนจะเป็นการยุบรวมแท่งลดซี 11 ลงหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้

ปัจจุบันโครงสร้าง ศธ.เป็นกระทรวงเดียวที่มีผู้บริหารระดับ 11 มากถึง 4 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการสภาการศึกษา และเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

Advertisement

โดยก่อนนี้จะมีเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษารวมอยู่ด้วย แต่เพิ่งแยกออกไปรวมอยู่ในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โครงสร้างดังกล่าวใช้มาตั้งแต่ปี 2546 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ.2546

ที่เป็นการปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการครั้งใหญ่ของไทย

ย้อนไปช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการหยิบยกประเด็นการปรับรื้อโครงสร้าง ศธ.ขึ้นมาหารือหลายต่อหลายครั้ง มีทั้งการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาทบทวน แต่สุดท้ายก็
ไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง ไม่มีการผลักดันนโยบายต่อ

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาล รัฐมนตรี กลัวกระทบฐานเสียง เนื่องจากการปรับโครงสร้าง ศธ.จะส่งผลโดยตรงต่อผู้บริหารระดับสูงและข้าราชการ 4-5 แสนคนทั่วประเทศ

ในการปรับรื้อโครงสร้างครั้งนี้ แม้นายณัฏฐพลจะตั้งธงเพื่อการยกระดับการศึกษาให้ดีขึ้น แต่ก็น่าคิดว่าการปรับรื้อโครงสร้าง ศธ.ใหม่จะทำให้คุณภาพการศึกษาไทยดีขึ้นได้จริงหรือไม่

เพราะหากดูกันจริงๆ แล้ว การศึกษาจะมีคุณภาพหรือไม่น่าจะอยู่ที่หลักสูตรการศึกษา คุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครูเป็นหลัก

ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.วิทยากร เชียงกูล นักวิจัยและที่ปรึกษาโครงการสภาวะการศึกษาไทย 2561-2562 ได้พูดบนเวทีจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น “รายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี 2561/2562” ว่าแนวทางการปฏิรูปที่สำคัญ คือต้องปฏิรูปผู้บริหาร ครู อาจารย์ ปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอน การวัดผล และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการให้มีคุณภาพ ปฏิรูปการคัดเลือกคนเรียนครูอย่างเลือกเฟ้น และปฏิรูปหลักสูตรการสอน

ตลอดระยะ 3 เดือน ที่นายณัฏฐพลเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ยังไม่เห็นความชัดเจนในทิศทางการปฏิรูป
การศึกษา รวมถึงการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ทันกับโลกศตวรรษที่ 21

การกลับมาโฟกัสปรับรื้อโครงสร้างมากกว่าการปฏิรูปการศึกษา จะกลายเป็นวังวนเดิมๆ ของ ศธ.ที่ยังพายเรือวนอยู่ในอ่าง

สุพัด ทีปะลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image