รายงานหน้า 2 : ย้ำคุณค่าประชาธิปไตย รำลึก46ปี‘14ตุลาฯ’

หมายเหตุตัวแทนนายกรัฐมนตรี ตัวแทนพรรคการเมือง นักวิชาการ ร่วมรำลึก กล่าวปาฐกถาในวาระครบรอบ 46 ปี 14 ตุลาฯ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 ถนนราชดำเนินกลาง เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562

กิตติศักดิ์ ปรกติ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คําว่า “นิติรัฐ” และ “นิติธรรม” เป็นคำใหม่ในรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่ 14 ตุลาคมเป็นต้นมา พลังของประชาชน นิสิตนักศึกษา ที่มีความคิดก้าวหน้าได้ร่วมกันผลักดันประเทศไปข้างหน้าตลอดเวลา 46 ปีมานี้ ล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่ในภาพรวมแม้จะยึดอำนาจรัฐประหารกี่ครั้ง วีรชนทั้งที่จากไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ใฝ่ฝัน แสวงหา และต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย จนก่อรูปร่างให้เห็นชัดขึ้นทุกวัน สมดั่งปณิธานของคน 14 ตุลาที่ว่าคนเหล่านั้นพร้อมโถมตัวเป็นเม็ดทรายเพื่อที่จะก่อถนนเส้นใหม่ให้ประเทศไทย แม้เม็ดทรายจะเล็กเพียงใด เวลาผ่านไปถนนนั้นจะปรากฏขึ้นเอง แม้จะต้องถมลงในท้องทะเลอันมืดมิดก็ตาม

Advertisement

กล่าวถึงกำเนิดของหลักนิติธรรม นิติรัฐเป็นคำในภาษาเยอรมัน หรือ the rule of law แปลว่ารัฐแห่งกฎหมาย การปกครองโดยกฎหมาย รัฐที่กฎหมายเป็นสิ่งสูงสุด เสมือนเป็นประธานของระบบกฎหมาย ในประเทศที่เจริญแล้วหลักนี้มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

หลักการปกครองที่ดีที่สุดคือหลักที่กฎหมายเป็นใหญ่ ทุกคนต้องเคารพ มีสาระสำคัญว่า การปกครองต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ตามอำเภอใจ หรือดุลพินิจหรืออำเภอใจ ที่กฎหมายจะเป็นใหญ่ได้ต้องประกอบด้วยหลักประกัน ว่า 1.ต้องไม่มีผู้ใดได้รับโทษหรือผลร้ายจากรัฐ หากผู้นั้นไม่ได้ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 2.บุคคลทุกคนย่อมเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย 3.ศาลมีอำนาจอิสระเป็นผู้ชี้ขาด

จอห์น ล็อก อธิบายว่ามนุษย์ไม่ได้มีธรรมชาติเลว หยาบช้า แต่มีธรรมชาติที่ใฝ่สันติ เพียงแต่มีเหตุใช้อำนาจก้าวล่วงล้ำก้ำเกินกัน จึงต้องตกลงกันอย่างสันติ หากผู้ปกครองไม่ปกครองภายใต้กฎหมาย ราษฎรทั้งหลายก็มีสิทธิที่จะท้วงติง ขัดขืนได้

Advertisement

พัฒนาการของอังกฤษนำไปสู่หลักกฎหมายเป็นใหญ่ ได้ยอมรับกันทั่วไปว่า 1.ทุกคนเสมอภาคต่อหน้าตามกฎหมาย 2.หลักตุลาการมีอิสระ ทำให้มีการแยกอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ 3.กฎหมายจะต้องไม่มีผลย้อนหลังในทางเป็นโทษ บุคคลย่อมมีสิทธิทำการในสิ่งที่กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ 4.หลักอำนาจของผู้ปกครองย่อมมีได้ตามที่กฎหมายรับรองไว้ รวมทั้งกฎหมายลายลักษณ์อักษร และไม่เป็นลายลักษณ์ กฎหมาย ในที่นี้จึงหมายถึงเหตุของเรื่องตามเหตุผลของเรื่อง ตามเหตุตามปัจจัย

ต่อมา หลังจากหลักกฎหมายเป็นใหญ่เจริญขึ้นในอังกฤษ ผ่านไป 100 ปี รัฐสภามีอำนาจเป็นใหญ่จนกลายเป็นเผด็จการรัฐสภา มีการตรากฎหมายว่าเป็นการขูดรีด ใช้อำนาจเกินสมควรกว่าเหตุ เกิดในดินแดนอาณานิคมอังกฤษคือ สหรัฐอเมริกา เป็นผู้ที่ขัดคืนอำนาจของอังกฤษนั่นเอง ซึ่งอยู่โดยให้เหตุผลว่าการที่รัฐสภาอังกฤษประกาศใช้กฎหมายเก็บภาษีอย่างขูดรีด แม้จะอ้างว่าทำได้ตามกฎหมายสูงสุด แต่หากรัฐสภาใช้อำนาจในทางลิดรอน ข่มเหง ไม่เคารพสิทธิตามธรรมชาติของประชาชนก็มีสิทธิขัดขืนโต้แย้งได้ นำไปสู่การประกาศอิสรภาพ เกิดเป็นสหรัฐอเมริกาภายใต้หลักการใหม่ทางรัฐธรรมนูญ คือ หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เข้าแทนที่อำนาจอธิปไตยเป็นของผู้แทนปวงชนในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในการก่อตั้งสหรัฐอเมริกาที่ว่าอำนาจสูงสุดของเป็นของประชาชน แต่ไม่ได้หมายความว่าตามใจชอบของประชาชน แต่จะต้องเป็นไปตามหลักเหตุผล มีการจำกัดการใช้อำนาจของประชาชนเสียงข้างมากไว้ด้วย รัฐธรรมนูญ ตั้งหลักว่ารัฐบาลต้องมีอำนาจจำกัด ต้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และต้องดำเนินไปด้วยกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือประชาชนมีส่วนร่วม

หลักการนี้เกิดจากการต่อสู้ทั้งในอังกฤษ การเกิดขึ้นของสหรัฐที่แท้ก็จากการต่อสู้ที่ยังให้อำนาจเหตุผลมากกว่าอำนาจตามอำเภอใจ ซึ่งหลักกฎหมายเป็นใหญ่จะว่าไปแล้วเรามีอยู่ แต่พูดถึงน้อย อย่างที่ปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ใครเดือดร้อนก็ตัดสินให้ตามหลักความถูกต้อง ชอบธรรมที่ยอมรับกันทั่วไป ดังนั้น อำนาจรัฐจึงไม่สามารถใช้เด็ดขาดทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ แต่เป็นอำนาจที่มีได้ ด้วยเหตุผลตามกาลเทศะ เป็นที่รับรู้เข้าใจและรับรองกันทั่วไปเท่านั้น

หลัง 14 ตุลา มีการแบ่งแยกอำนาจทางการเมือง โดยยึดหลักสิทธิเสรีภาพ มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญคอยคุ้มครอง ความอธรรมทางการเมืองค่อยๆ ลดน้อยถอยลงนับแต่ 14 ตุลาเป็นต้นมา รัฐธรรมนูญ และหลักนิติศาสตร์ มุ่งหมายให้สามารถควบคุมต่อรองการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ

ทุกวันนี้เรากำลังเดินทางมาอยู่บนหนทางของคนรุ่น 14 ตุลา และบนความเห็นชอบร่วมกันของประชาชน ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ณัฏฐชัย ศรีรุ่งสุขพินิจ
ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

ในฐานะผู้แทนนายกรัฐมนตรี วันนี้เป็นวันครบรอบ 46 ปี 14 ตุลาคม 2516 เกิดเหตุการณ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของประเทศไทย เป็นวันสะท้อนเจตนารมณ์และแสดงพลังของนิสิตนักศึกษาและประชาชน ที่เห็นคุณค่าของประชาธิปไตยว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

องอาจ คล้ามไพบูลย์
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

วีรชนในเหตุการณ์ดังกล่าวมีจิตใจที่กล้าหาญ กล้าเสียสละชีวิตของตนเอง หลายคนอาจมีชีวิตที่ยากลำบาก แต่สิ่งที่เหล่าวีรชนได้ทำลงไปยังอยู่ในความทรงจำของประชาชนตลอดไป ทั้งนี้ ในนามของประธานสภา และประธานรัฐสภา ขอสดุดีวีรกรรมอันกล้าหาญของวีรชน 14 ตุลา ขอให้วีรชน 14 ตุลา อยู่ในความทรงจำและเป็นแบบอย่างบทเรียนที่ดีงามให้กับผู้ปกครองประเทศ และประชาชนที่รักหวงแหนในความชอบธรรมและประชาธิปไตย และความถูกต้องดีงาม ช่วยกันเอาบทเรียน 14 ตุลา มาเป็นแบบอย่างของการรักษาคุณธรรมความดีงาม ความถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยตลอดไป

ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ในฐานะผู้แทนของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตลอด 46 ปีที่ทุกฝ่ายร่วมรำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ที่เสียสละในการปกป้องประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชน ถือเป็นต้นแบบที่ดีงาม สืบทอดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ยั่งยืนและยาวนาน การสร้างความยอมรับในการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีกติกาเป็นสากล จะสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยได้ ทั้งนี้ สิ่งที่ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านมองเห็นการที่ประเทศจะก้าวไปสู่ความเชื่อมั่นโดยเร็วนั้น จำเป็นจะต้องมีการบริหารที่เป็นสากลและประชาธิปไตย รวมถึงมีความเป็นธรรม ไม่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จึงรณรงค์ให้มีการแก้ไขกติกาสำคัญของประเทศคือ กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่มีความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไขให้มีความเป็นธรรมและเพื่อประโยชน์ต่อคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมาเราได้เห็นตัวอย่างของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐบาลที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตและเป็นที่ยอมรับได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจ จะเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชน ยึดมั่นในระบบรัฐสภา ทำหน้าที่ให้ประชาชนภาคภูมิใจว่า จะปกป้องผลประโยชน์ประชาชน ปกป้องงบประมาณแผ่นดิน เพื่อประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image