‘ธีรยุทธ’ชี้กับดักวิกฤตใหม่ เกิด‘ความเมือง’แทนที่!‘การเมือง’

สังคมไทยไม่มีเป้าหมายจนกลับมาติดกับดักตัวเอง นับจากปี พ.ศ.2500 กล่าวได้ว่าเมืองไทยมี 3 ยุค คือ 1.ยุคพัฒนา (2505-2535) สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประเทศไทยมีเป้าหมายคือการพัฒนาให้ก้าวขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมแถวหน้าของภูมิภาค ได้ผลน่าพอใจ พร้อมๆ กันนี้ยังมีการพัฒนาประชาธิปไตย มีทั้งผลดีและเสียสลับกันไป มีการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองสูง จนมีการแทรกแซงโดยการทำรัฐประหารหลายหน 2.ยุคปฏิรูป (2535-2557) สังคมมองเห็นทางออกจากปัญหาคอร์รัปชั่นและการใช้อำนาจอย่างไร้สำนึกของนักการเมือง จนเกิดเป็นเป้าหมายใหญ่ของประเทศร่วมกันคือการปฏิรูปการเมือง แต่กลับล้มเหลว เพราะแม้จะเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่ ทั้งของกลุ่มพันธมิตรและ กปปส. มีการรัฐประหาร 2 หน ก็สะท้อนว่า พลังอนุรักษ์ ระบบราชการ และกองทัพ ไม่พร้อม และไม่สามารถทำการปฏิรูปใดๆ ได้ เป้าหมายการปฏิรูปจึงคงจะฝ่อลงไปเรื่อยๆ

และ 3.ยุคปัจจุบัน (2557-2562) คือยุคติดกับดัก เพราะไม่สามารถพบเป้าหมายที่เป็นทาง
ออกได้ อันที่จริงมีเป้าหมายหนึ่งคือประชาธิปไตยที่กินได้ หรือนโยบายประชานิยมที่จับใจชาวบ้าน
จนกลายเป็นเสียงที่เหนียวแน่นของพรรคไทยรักไทย แต่ประชานิยมที่เกิดมาทั่วโลกเป็นเพียงเครื่องมือของการเลือกตั้ง ไม่สามารถเป็นเป้าหมายของประเทศได้ และพิสูจน์มาแล้วว่าไม่ยั่งยืน ส่วนพรรคอนาคตใหม่มีฐานเสียงเป็นชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจระบบเก่า ทั้ง 2 พรรคนี้ยังไม่มีการเสนอยุทธศาสตร์แผนงานหลักที่จะนำพาประเทศข้ามความขัดแย้งนี้ไปข้างหน้า แต่เน้นการจุดประเด็นซึ่งเป็นจุดขายของขบวนการประชานิยม และมักกลายเป็นความขัดแย้งกับฝ่ายรัฐ ส่วนพลังฝ่ายอนุรักษ์หรือทหารเอง แม้จะได้อำนาจมา 5 ปีเศษ แต่ก็ติดกับดักความคิดที่เน้นเฉพาะความมั่นคง ไม่มีเป้าหมายที่จะกินใจประชาชนจนเกิดเป็นเป้าหมายร่วมของประเทศได้

อีกทั้งยังมีกระบวนทัศน์ใหม่ที่เข้ามาครอบงำคนไทยคือ ระบบคิดที่เรียกว่า “ความเมือง” เข้ามาแทนที่ระบบคิดแบบ “การเมือง” โดยในวงการรัฐศาสตร์มีความคิดหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาขึ้น คือความคิดว่าสิ่งที่สะท้อนแก่นแท้ของสังคมมนุษย์มากกว่า “การเมือง” (the politic) คือสิ่งที่เรียกว่า “ความเมือง” (the political) ซึ่งคำว่า “การเมือง” มีนิยามว่าเป็นพื้นที่การแข่งขันของความคิดที่ต่างกัน เป็นความไม่ชอบไม่พอใจ หรือโกรธกันระหว่างบุคคลก็ได้ แต่ก็สามารถหาข้อสรุปโดยเสียงส่วนใหญ่ แต่ “ความเมือง” เป็นเรื่องการต่อสู้แบบรวมเบ็ดเสร็จ (totality war) ของกลุ่มคนซึ่งมองอีกกลุ่มในแง่เป็น “พวกเรากับศัตรู” เป็นความสัมพันธ์เชิงสงคราม และด้วยความเป็นกลุ่ม จึงต้องมีองค์สูงสุด หรือผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุด คือองค์อธิปัตย์ของกลุ่มอาจเป็นผู้นำรัฐหรืออำนาจทางกฎหมายก็ได้

หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกครั้ง ประชาชนและนักการเมืองไทยจะมองว่าประเทศได้ก้าวเข้าสู่กระบวนการเมืองประชาธิปไตยปกติคือการแถลงนโยบาย ทรรศนะของแต่ละฝ่าย การตรวจสอบ หักล้างด้วยหลักฐาน โวหาร หรือเหตุผล เพื่อนำไปสู่การแก้ไขผิดเป็นถูก หรือเพื่อล้มรัฐบาลไปสู่การเลือกตั้งใหม่ก็ได้ เป็นกระบวนการปกติแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เชื่อมั่นในตัวบุคคลที่เห็นต่าง แต่มาถกกันเพื่อหาแง่มุมที่จะชนะ ทะเลาะง่าย ไม่มีปัญหา เพราะกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันจะช่วยให้บรรลุข้อตกลงได้ แต่ระบบคิดแบบ “ความเมือง” พื้นฐานของสังคมคือกลุ่มบุคคลที่อยู่ด้วยความหวาดระแวง ต้องเอากลุ่มตัวเองให้อยู่รอด กลุ่มอื่นต้องทำลายล้าง กระบวนทัศน์นี้เกิดโดยนักวิชาการชื่อ คาร์ล สมิธ นักคิดของเยอรมัน ก่อนสงครามโลก 2 ที่ว่าพื้นฐานของมนุษย์อยู่เป็นกลุ่ม ไม่ได้อยู่แบบปัจเจก ไม่เชื่อเรื่องเสรีประชาธิปไตย จึงเปิดโอกาสให้กลุ่มอื่นเข้ามาทำลายล้างได้ ความคิดนี้ พรรคนาซีและฝ่ายขวาในโลกได้นำไปใช้ และนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในประวัติศาสตร์การเมืองโลกช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

Advertisement

น่ากังวลว่า ปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งกำลังรับกระบวนทัศน์แบบ “ความเมือง” มาใช้ในภาวะปกติ โดยไม่มีวิกฤตใดๆ เพราะเรามีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลแล้ว ทำให้กระบวนการการเมืองธรรมดาทั้งหมดต้องเปลี่ยนเป็น “ความเมือง” ทำให้เห็นว่านักการเมืองกลายเป็น “นักความเมือง” พรรคการเมืองกลายเป็น “พรรคความเมือง” จากการเล่นการเมืองกำลังเป็นการ “เล่นความเมือง” นักวิชาการกลายเป็น “นักโฆษณาความเมือง” ทหารฝ่ายความมั่นคงเป็น “ทหารฝ่ายความเมือง”

พวกเขาเริ่มต้นด้วยการมองการกระทำของอีกฝ่ายไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ล้วนเป็นภยันตรายร้ายแรงต่อบ้านเมือง เป็นศัตรูที่จะต้องถูกทำลายลงไป ด้วยการขยายประเด็น ต่อเติมความเกินเหตุและผล ไปจนถึงการฟ้องร้องหาเรื่องดำเนินคดีความเพื่อเอามาทำลายคู่ต่อสู่ รวมทั้งการใช้อิทธิพลกดดันกระบวนการยุติธรรม บางครั้งก็ใช้มาตรการป้องกันล่วงหน้า ซึ่งคดีความสุดท้ายจะกลายเป็นสงคราม อย่างที่ทหารบอกว่าสงครามเกิดตลอดเวลา และขณะนี้กำลังเป็นสงคราม ด้วยเฟคนิวส์ วาทกรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ ระบบคิดแบบ “ความเมือง” ทำให้ความขัดแย้งขยายตัวน่ากลัวขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากความขัดแย้งเหลือง-แดง เป็นเรื่องชนชั้นกลางในชนบทกับชนชั้นกลางชั้นสูงในเมือง ต่อมาเพิ่มประเด็นเป็นภาคเหนือ อีสาน ใต้ ความขัดแย้งเผด็จการ-ประชาธิปไตย การเลือกตั้งล่าสุดก็เพิ่มประเด็นคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ ความคิดเก่า ความคิดใหม่ ชาติมหาอำนาจเองก็แสดงจุดยืนชัดเจนคือ ชาติตะวันตกหรือสหรัฐ หนุนฝ่ายเสื้อแดง จีนหนุนฝ่ายอนุรักษ์ กับทหาร ฝ่ายประชาชนที่ขัดแย้งยังเหมือนเดิม แต่ถูกกระบวนการทางความคิดเพิ่มพูนให้เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น การที่ความขัดแย้งขยายตัวมาตลอด บ่งชี้ว่ารัฐบาลกับทหารจัดการกับวิกฤตการผิดพลาด มองปัญหาใจกลางผิดและอาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ที่ร้ายแรง

การที่กองทัพโยงประเด็นความมั่นคงเข้ากับสงครามไฮบริด สะท้อนว่า ทหารเชื่อว่าสังคมไทยในยุครัฐประหารของ คสช.ยังอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง แต่ 5 ปีผ่านไปสังคมก็ได้พัฒนาความขัดแย้งมาเป็นสงครามไฮบริดซึ่งร้ายแรงกว่าเดิม เพราะเป็นสงครามยุคหลังสมัยใหม่ที่ไม่จำกัดรูปแบบการต่อสู้ แท้จริงแล้วคติสงครามที่ไร้รูปแบบมีมาตลอด เช่น เรื่องวัสสการพราหมณ์ในสมัยพุทธกาล ยุคอาณาจักรล้านนา เชียงใหม่ก็ส่งไส้ศึกไปบ่อนทำลายลำพูน ทหารลำปางเคยก่อวินาศกรรมในเชียงใหม่ พม่าส่งสายลับมาทำแผนที่กรุงธนบุรี ปัจจุบันทุกชาติพยายามโฆษณาชวนเชื่อแนวทางของตัวเอง โดยเอาข้อมูลความลับทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารของกันและกันอย่างเป็นปกติ การนำเอาภาวะไม่ปกติแบบภาวะสงครามมาขยายภาพเกินจริงในภาวะปกติของประเทศหรือของโลก มักทำให้ความรุนแรงขยายตัวและเกิดสงครามจริงๆ ขึ้นในที่สุด

Advertisement

ประเทศไทยเคยเกิดความขัดแย้งแบบ “พวกเรา-ศัตรู” เพียงหนเดียว คือการสร้างความคิดฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป และถือนักศึกษาเป็นภัยคอมมิวนิสต์ที่ต้องฆ่าทำลายล้างในช่วง 6 ตุลาคม 2519 แต่การเกิด “ระบบความเมือง” ในขณะนี้
มีการเคลื่อนไหว ทั้งนักกฎหมาย หน่วยราชการ กองทัพ กระบวนการศาล ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น เป็นวิกฤตใหม่ที่ควรกังวล และต้องช่วยกันให้ทุกฝ่ายคลี่คลาย ผ่อนความขึงตึงจนเกินไปลง

หนทางแก้ไขคือ 1.สังคมทั่วไปควรมองสถานการณ์ให้กระจ่าง เพราะพอคนมองว่าเป็นศัตรูจะเลวร้ายทั้งหมด ต้องตั้งสติอยู่ตรงกลาง หรือเสริมพลังทางบวกที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคม เสริมความรู้สึกแบบเพื่อนมิตร อย่างรับเหตุผลที่เปิดกว้างหลากหลาย ต้องทำให้เป็นเรื่องปกติ เช่นนี้จะไม่เสริมกระแส พวกเรากับ
ศัตรู หรือความเมือง อย่างที่เกิดขึ้น 2.ฝ่ายรัฐต้องธำรงความเป็นกลาง ไม่ไปเข้าร่วมการใช้ “ความเมือง” ทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะ “ความเมือง” หมายถึงความขัดแย้งแบบทำลายล้างในภาวะสงคราม ถ้าหน่วยรัฐร่วมเป็นฝักฝ่ายด้วยก็จะสร้างความหวาดกลัวว่า รัฐบาลมีความเชื่อว่า “กำลังมีสงครามภายใน” หรือรัฐบาลกำลังประกาศภาวะสงคราม หรือความเป็นศัตรูกับประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งกับบ้านเมือง ศาลและระบบยุติธรรมเอง ก็ต้องตริตรองทุกคดีความ หรือทุกปัญหาอย่างมีวิจารณญาณและหลักยุติธรรมอย่างแท้จริง บางทีอาจต้อง devolute คือถอยกระบวนการตุลาการภิวัตน์กลับบ้าง เหมือนกับที่เกิดในสหรัฐและอีกเกือบทุกประเทศ ซึ่งควรจะบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากกระบวนทัศน์ “ความเมือง” ที่กำลังแผ่ขยายอยู่ในขณะนี้

เหตุผลที่ คสช.ปฏิวัติก็อ้างหลัก แม้ไม่ได้ออกมาในเอกสารทางการ เช่น เพลงของนายกฯประยุทธ์ว่า ภารกิจของเขาคือการแก้ปัญหาสงครามในประเทศจากการชุมนุม ความคิดเรื่องสงครามของทหารมีมาตลอด เมื่อผ่านไป คิดว่าเป็นข้อผิดพลาดของตัวเองในการกำหนดยุทธศาสตร์ พอวางตัวเป็นกลางก็ไม่สามารถเอาข้อถกเถียงของสองฝั่งมาใช้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ช่วงรัฐประหารมีผลงานที่จับต้องได้จำนวนหนึ่งคือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และการรักษาความสงบไม่ให้มีการชุมนุมประท้วง แต่สิ่งที่นายกฯทำเป็นเรื่องจิตวิทยาธรรมดา ทั้งเพลง คำขวัญ ต่างๆ ไม่แตะเรื่องการปฏิรูป กล่าวคือไม่ได้ทำจริง การปฏิรูประบบไม่เกิด การสร้างความสมานฉันท์ก็ไม่เกิด ต่อมา ทหารสรุปว่า ยังแก้ปัญหาไม่ตกต้องอยู่ยาว จึงหาทางอยู่ในอำนาจต่อ โดยมีมาตรการต่างๆ เช่น เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ มี ส.ว. มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่ออยู่ยาว คราวนี้รัฐบาลอาจแสดงท่าทีไม่ชัด แต่เมื่อกองทัพออกมาพูดในตอนหลังว่าโลกอยู่ในสงครามแบบใหม่ สงคราม 4.0 ซึ่งน่าเป็นห่วง แสดงความคิดว่าภาวะสงครามยังไม่จบสิ้น เป็นสงครามสมัยใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงน่ากังวลว่าทหารจะคิดทำอย่างไรต่ออนาคตของประเทศ ส่วนตัวห่วงเรื่องความเข้มข้นของมาตรการทหารที่จะเกิดขึ้น

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มาจากการเลือกตั้งจะยิ่งทำงานลำบากกว่าเดิมมาก เพราะโดยโครงสร้างรัฐบาลจะอยู่รอดต่อไปได้ ต้องจัดสรรผลประโยชน์มาให้กลุ่มการเมือง ในที่สุดจะต้องพึ่งพากลุ่มทุนใหญ่ ดังนั้น ภารกิจหลักของรัฐบาลในช่วงหน้าคือจะกลายเป็นการดำเนินนโยบายโครงการให้กับกลุ่มทุนใหญ่ เป็นรัฐบาลทหารเพื่อกลุ่มธุรกิจใหญ่นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าคนจำนวนมากยังต้องการให้ประเทศได้มีรัฐบาลบริหารงานไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ควรปรับปรุงวิธีการทำงาน เพราะการควบคุมประสานพรรคร่วมรัฐบาลลำบากยากขึ้นเรื่อยๆ ควรตั้งเป้าหมายระยะยาว แต่ต้องให้ได้ผลจริงจังสัก 2-3 เรื่องก็พอ งานที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ควรทำ ประการแรกคือ โฟกัสการแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้านอย่างจริงจัง ที่ผมเคยเรียกว่า “รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน” กระจ้อนคือ แคระแกร็น เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำมีสูง คนจน คนชั้นกลางก็ลำบากจริง การแก้ปัญหาจริงทำได้ยาก แต่นายกรัฐมนตรีก็ต้องทุ่มเททำ

ประการที่สอง คือ การเพิ่มคุณภาพของคนทุกวัยในด้านการศึกษา พัฒนาทักษะใหม่ อาชีพสำหรับเศรษฐกิจแบบดิสรัปทีฟ (disruptive) ที่เกิดขึ้นรวดเร็วในหลายด้าน ต้องใช้อำนาจบารมีของ พล.อ.ประยุทธ์เอง ในการลงมือแก้ไขปัญหาเอง แก้ปัญหาครบทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ เช่น ต้องมีการประกันรายได้การงานให้และควรทำแบบเลือกสรรเฉพาะส่วน เพราะการปฏิรูปทั้งระบบจะใหญ่โตเกินไปไม่สามารถทำได้จริง

ถ้าทำเช่นนี้ก็จะเป็นการเลือกลำดับความสำคัญได้ถูกต้อง ใกล้เคียงมากที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image