“นพพร ขุนค้า” ชี้ทางออกรธน.-ประชามติ ลงสัตยาบันก่อนเลือกตั้ง

หมายเหตุ – นายนพพร ขุนค้า อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงการแสดงความเห็นทางวิชาการในสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ

– การแสดงความเห็นของนักวิชาการในวันนี้เป็นอย่างไร

ค่อนข้างมีข้อจำจัด ยิ่งมหาวิทยาลัยของผม ซึ่งนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) (นายมีชัย ฤชุพันธุ์) ด้วย แม้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ได้จำกัด แต่เราก็เกรงว่าจะผิดกฎหมาย ผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการประชามติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มีโทษทางอาญา ดังนั้น การแสดงออกจึงมีขีดจำกัด

– ก่อนหน้านี้อาจารย์ออกมาปกป้องการแสดงออกของนักศึกษา

ครับ เพราะเห็นว่าเป็นการให้โอกาส เนื่องจากนักศึกษาเป็นปัญญาของสังคม การให้โอกาสเขาได้พูด ได้คิดนั้นเป็นการส่งเสริมการแสดงออก และต้องเข้าใจว่าแรงกดเท่ากับแรงถีบ ยิ่งคนไปกดเขามากๆ ไม่ให้พื้นที่ในการแสดงออกแก่เขา ผมว่านั่นเป็นอันตราย แม้ตอนนี้จะดูสงบ แต่ความขัดแย้งยังคงมีอยู่ เพียงแต่เรายังแสดงออกไม่ได้ คลื่นใต้น้ำยังมีอยู่และรอแรงกระเพื้อม

Advertisement

– มีข่าวว่านายอุทัย ศิริภักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จะถูกปลดจากตำแหน่งอธิการฯ เนื่องจากไม่ดำเนินการเอาผิดกับบุคลากรที่แสดงความเห็นผ่านโซเชียลที่แสดงออกไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ

ตอนนี้ท่านก็กำลังโดนสภามหาวิทยาลัยสอบอยู่ และบรรดาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็ยังโดนติดตามเฟซบุ๊ก โดนจับตาอยู่ ล่าสุดการประชุมกรรมการประจำคณะ คณบดีก็เอาหนังสือฉบับเก่าแจ้งต่อที่ประชุม ผมแสดงความเห็นไปว่า ไม่ใช่หน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่จะจับตาดูการแสดงความเห็นของอาจารย์

– ดูเหมือน คสช.จะผ่อนคลายกฎระเบียบลง อย่างล่าสุดที่อนุญาตให้นักการเมืองสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้

แม้จะเปิดโอกาสให้นักการเมืองเดินทางไปต่างประเทศ แต่ก็ควรให้เขาได้มีการจัดประชุมพรรคด้วย การผ่อนคลายนี้ยังไม่เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม วันนี้ทำอย่างไรก็ได้ ให้มีการเลือกตั้ง การเลือกตั้งต้องไม่คิดสูตรที่แปลกมาก วันข้างหน้าหากการเมืองยังไม่นิ่ง ต้องเปิดโอกาสให้รัฐสภาสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ การเลือกตั้งต้องไม่เลื่อนออกไป เพราะมิเช่นนั้นความวุ่นวายจะเกิดขึ้น

Advertisement

– ก่อนหน้านี้มีความเห็นแย้งกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด คิดว่าอะไรคือปัญหาในร่างฉบับใหม่นี้

ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มาของนายกรัฐมนตรี มีปัญหา รัฐธรรมนูญหัวใจหลักคือการจัดระเบียบในการใช้อำนาจธิปไตย แต่ฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพียงแค่ ส.ว.กับ ส.ส. มีปัญหาทุกอย่างก็มีปัญหาหมด เวลาที่ร่างรัฐธรรมนูญ เราต้องตั้งหลักการจะใช้ระบบอะไร หากจะใช้ระบบรัฐสภา จะต้องนำหลักการสำคัญในระบบรัฐสภามาใช้ ขณะเดียวกันเรื่องบัตรเลือกตั้ง ที่ใช้ใบเดียวก็ยังมีความสงสัยว่าในระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งสันปันส่วนผสมนี้ เป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชนจริงหรือไม่ สูตรนี้เราไม่เคยพบเคยเห็น แม้ศึกษารัฐธรรมนูญมาก็ไม่เคยเจอ ระบบนี้ถ้าประสบความสำเร็จก็จะเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ ทำตาม แต่ถ้าไม่สำเร็จจะทำอย่างไร แต่ผมมองว่ากลไกมันเพี้ยน

ส่วน ส.ว.นั้นมาจากการสรรหาได้ แต่ต้องไม่ให้อำนาจมากเกินไป เพราะที่มาต้องสัมพันธ์กับอำนาจ การที่จะให้ ส.ว.มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ จะทำให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะไม่ใช่แค่ ส.ส.ที่โหวตนายกฯ หลักประชาธิปไตยที่เราบอกว่าเป็นเสียงข้างมาก ก็จะกลายเป็นว่าเสียงข้างมากไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ หากเสียงส่วนใหญ่ไม่สามารถบริหารประเทศได้ ความวุ่นวายของประเทศจะไม่จบ

– คิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หากไม่ผ่านการลงประชามติ ควรดำเนินการอย่างไร

เมื่อครั้งที่มีรัฐประหารปี 2549 เรามีทางออกว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ให้คณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) สามารถหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ แต่ครั้งนี้เรายังมองไม่เห็นว่าผู้มีอำนาจจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะถ้าไม่เลือกตั้งวันนี้ เราจะไม่ได้โดนแต่ศึกภายใน แต่ศึกภายนอกก็ยังบีบเข้ามากๆ โลกวันนี้ ถ้าไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็อยู่ลำบาก และหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน คสช.ควรหยิบฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับใช้ แล้วจัดการเลือกตั้งให้ทันเวลาที่วางไว้

ส่วนการที่บอกว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ให้นำรัฐธรรมนูญในอดีตมายำรวมกันเพื่อปรับใช้ ผมว่าการจะยำรวมกันนั้นทำได้ แต่จะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เมื่อยำรวมกันแล้วผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น ต้องนำจุดดีของแต่ละฉบับมา เช่น ระบบการได้มาซึ่ง ส.ส. ส.ว.ในรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ต้องเพิ่มบทบาทของฝ่ายค้าน หรือเอาระบบการตรวจสอบของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาใช้ แต่หากยำแล้วผิดเพี้ยนหนักว่ารัฐธรรมนูญที่ตกไป ตรงนี้อันตรายมาก อย่ายำจนมันเละ

– การรณรงค์ประชามติศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง วินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ ขัดมาตรา 4 รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หรือไม่

แม้ปัจจุบันเป็นการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ก็มีรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เป็นกฎหมายสูงสุดรองรับ โดยมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เป็นการรองรับเสรีภาพที่เคยมีในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เสรีภาพนี้ต้องมองไปถึงการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิอันล้ำค่าของมนุษย์ แต่ พ.ร.บ.ประชามติ ที่จะใช้ในการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในอนาคตจะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ควรเปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็น ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่จะเห็นว่า พ.ร.บ.ประชามติฉบับนี้ ออกมาเพื่อให้เราไปเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ส่วนตัวผมว่ามาตรา 61 วรรคสองนั้น ขัดกับมาตรา 4 ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) อย่างไรก็ตาม ผมไม่กล้าพูดถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

– ถ้าศาลบอกว่ามาตราดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะต้องดำเนินการอย่างไร และจะกระทบกับโรดแมป ทำให้การเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปหรือไม่

ไม่จำเป็นต้องเลื่อน ถ้าศาลชี้ว่าขัดจริง ก็แค่ไม่ใช้ตรงที่ขัดก็เท่านั้น แต่ พ.ร.บ.ประชามติ ก็ยังสามารถใช้ได้ ไม่ได้เสียไปทั้งฉบับ และไม่จำเป็นต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติด้วย โดยปกติแล้วเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฏหมายฉบับใดขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นในลักษณะกฎหมายเป็นหมัน คือมีอยู่แต่ไม่ต้องใช้ และแน่นอนบทลงโทษย่อมไม่มีผล ทั้งผู้รณรงค์ให้รับหรือไม่รับก็สามารถทำได้ หากรัฐธรรมนูญชี้ว่า มาตรา 61 วรรคสอง ขัดรัฐธรรมนูญ ผมมองไปไกลว่าการรณรงค์ให้รับหรือไม่รับ แต่มองไปถึงบรรดานักวิชาการ ในการแสดงทัศนคติ

ส่วนที่มีการมองว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดจะต้องร่างกฎหมายประชามติกันใหม่ ผมกลับมองว่าจะไม่ทันการณ์ โรดแมปของรัฐบาลและ คสช. จะต้องขยับแน่นอน ผมว่าแค่อาศัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เพียงพอแล้ว มันทำให้เรามีสิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญได้ ทำให้บรรยากาศดีขึ้น ความตื่นตัวของประชาชนมีมากขึ้น ฝั่งที่รณรงค์ให้รับหรือไม่รับก็จะได้พูดได้อย่างเต็มที่ ทำให้บรรยากาศคึกคัก คนจะออกมาลงประชามติมากขึ้น

– หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าไม่ขัด

ผมกลัวอย่างเดียวคือ กลัวการใช้มาตรานี้เป็นเรื่องมือ ในการเล่นงานกัน เพราะอย่าลืมว่ามาตรานี้มีโทษทางอาญาที่หนักด้วย หากมองในทฤษฎีกฎหมายอาญาจะเห็นว่าการสร้างสมดุลระหว่างโทษกับความผิดนั้นหนักมาก โทษคือไม่เกิน 10 ปี ซึ่งจะทำให้บรรยากาศไม่ดี มีความตื่นตัวน้อยลง ไม่มีใครกล้าพูดกล้าแสดงออก กลายเป็นกฎหมายปิดปาก เราไม่สามารถไปวิจารณ์กฎหมายสูงสุดที่จะใช้ต่อไปในอนาคตได้

– ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัด แต่ คสช.ใช่มาตรา 44 ออกมาในลักษณะเดียวกับ มาตรา 61 วรรคสอง

ผมว่าจะกลายเป็นการเลี่ยงบาลี ไม่ใช้จุดนี้แต่ไปใช้อีกจุดหนึ่ง ซึ่งมีค่าเท่าเดิม นั่นเท่ากับว่าการใช้มาตรา 44 จะขัดต่อรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีค่าเท่าเดิม

– มองไปถึงการเลือกตั้งปี2560ประเทศควรมีทางออกอย่างไร

สิ่งแรกเราต้องร่างกติกาให้เป็นธรรมเสียก่อน เช่น รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการเมือง ดังนั้นจึงต้องรับฟังนักการเมืองด้วย รายชื่อแต่ละคนในกรธ.จะเห็นว่าไม่มีสักคนเลยที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง มันเหมือนกับว่าเราเล่นฟุตบอลไม่เป็นแต่กลับไปร่างกติกาให้เขาเล่น เรื่องรัฐธรรมนูญต้องเปิดโอกาสให้ทุกพรรคมีส่วนร่วม เพราะพรรคการเมืองมีความใกล้ชิดประชาชน จึงต้องมาฟังเขา หมายถึงการมาเจอกันคนละครึ่งทาง เข้ามาลงสัตยาบันกันก่อนเลือกตั้ง

– หนทางที่จะนำสู่การปรองดองได้อย่างแท้จริงคืออะไร

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2560 แต่อย่างที่บอกทุกกลุ่มควรทำสัตยาบัน เคารพผลการเลือกตั้ง ผมกลัวว่าเมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ฝั่งที่ไม่พอใจจะออกมาอีก นั่นจะกลับมาสู่วังวนเดิม ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องมาสร้างกติการ่วมกันว่าจะต้องเคารพกติกา เพราะประเทศเรามาถึงจุดที่เรียกว่าพอได้แล้วที่จะมาประท้วง หรือเรียกร้องให้ทหารเข้ามา เมื่อทหารเข้ามาก็เป็นอย่างที่เห็น โอกาสของประเทศก็ไม่มี แต่ยิ่งถอยหลัง แม้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่าซึ่งอยู่ในระบอบเผด็จการมายาวนานก็ยังต้องผ่อนคลาย ทุกวันนี้ประเทศที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยนั้นอยู่ลำบาก แม้ประชาธิปไตยจะไม่ใช่ระบอบที่ดีที่สุด แต่เราเลือกเถียงกันได้แล้วว่าจะปกครองในระบอบอะไร ควรเอาเวลาไปเถียงเรื่องอื่นดีกว่า

ที่สำคัญรัฐธรรมนูญ ต้องเปิดโอกาสให้แก้ไขได้ เพราะทุกวันนี้นักการเมืองอยู่ในพื้นที่ เขาได้ฟังเสียงประชาชน เขารู้ว่าประชาชนต้องการอะไร ต้องให้เขาแก้รัฐธรรมนูญได้ ไม่ใช่แก้แล้วโดนดำเนินคดี วันนี้ถ้าเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่เลือกพรรคเข้ามา แล้วมีปัญหาไม่สามารถบริหารประเทศได้ ก็จะกลับมาวังวนเดิม แบบงูกินหาง ปัญหาก็ไม่มีทางจบ ไม่รู้อีกกี่ชั่วลูกชั่วหลานถึงจะแก้ปัญหาได้ เพราะถ้ายังเป็นอยู่แบบนี้ ก็ไม่รู้จะมีอีกกี่คณะเข้ามาบริหาร ไม่รู้ว่ามีผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ)อีกกี่คนมาเป็นนายกฯ ดังนั้น การผ่อนคลายที่ดีที่สุดคือการเลือกตั้ง อย่าขยับโรดแมป ถ้าขยับก็จะวุ่นวายอีก แล้วก็ไม่ควรจะมีการจับกุมใครอีกแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image